กทม. ประชุมให้ความรู้ ความเข้าใจ ในพ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546

11 Feb 2004

กรุงเทพฯ--11 ก.พ.--กทม.

ที่ห้องประชุมราชเทวี 2 โรงแรมเอเซีย เมื่อวานนี้ (10 ก.พ. 47) เวลา 13.00 น. นางณฐนนท ทวีสิน ปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดการประชุมให้ความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับเนื้อหาสาระของ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 โดยมี เรืออากาศโท อิราวัสส์ ปัทมะสุคนธ์ รองผู้อำนวยการสำนักสวัสดิการสังคม ศึกษาธิการเขต นักพัฒนาชุมชน นักสังคมสงเคราะห์ เจ้าหน้าที่เทศกิจ และผู้ที่เกี่ยวข้องกว่า 240 คน ร่วมประชุม

รองผู้อำนวยการสำนักสวัสดิการสังคม กล่าวว่า กทม. ได้มีนโยบายให้จัดตั้งศูนย์บริการด้านเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส ตามเขตและชุมชนต่าง ๆ ซึ่งจากการดำเนินนโยบายดังกล่าวมากว่า 1 ปี ได้เกิดศูนย์รับแจ้งเหตุและบริการจำนวน 607 แห่ง มีอาสาสมัครปฏิบัติงานในชุมชนกว่า 2,000 คน และมีการระดมทุนเพื่อเด็กอย่างต่อเนื่อง สำหรับการจัดการประชุมในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ให้แก่ผู้เกี่ยวข้อง ทำให้สามารถกำหนดแนวทางการปฏิบัติงานที่เกี่ยวกับเด็กให้เป็นเครือข่ายและดำเนินการไปในแนวทางเดียวกันอย่างสอดคล้องกับ พ.ร.บ.ดังกล่าว

สาระสำคัญของ พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 เน้นในเรื่องการปฏิบัติต่อเด็กไม่ว่ากรณีใด ให้คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ และไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม (มาตรา 22) ผู้ปกครองต้องให้การอุปการะเลี้ยงดู อบรมสั่งสอนและพัฒนาเด็กที่อยู่ในความปกครองดูแลของตนตามสมควรแก่ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมแห่งท้องถิ่น (มาตรา 23) แต่ทั้งนี้ต้องไม่ต่ำกว่ามาตรฐานขั้นต่ำตามที่กำหนดในกฎกระทรวง และต้องคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กที่อยู่ในความปกครองดูแลของตนมิให้ตกอยู่ในภาวะอันน่าเกิดอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจ ในส่วนของกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่คุ้มครองสวัสดิภาพเด็กในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบไม่ว่าเด็กจะมีผู้ปกครองหรือไม่ก็ตาม รวมทั้งมีอำนาจและหน้าที่ดูแลตรวจสอบสถานรับเลี้ยงเด็ก สถานแรกรับ สถานสงเคราะห์ สถานคุ้มครองสวัสดิภาพ สถานพัฒนาและฟื้นฟู และสถานพินิจที่ตั้งอยู่ในเขตอำนาจ แล้วรายงานผลการตรวจสอบต่อคณะกรรมการ คุ้มครองเด็ก ซึ่ง พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 29 มี.ค. 47 เป็นต้นไป

ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานคร โดยศูนย์อำนวยการด้านเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาสของกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักของกรุงเทพมหานครในการดำเนินงานเชิงสังคม ได้ร่วมกับองค์การยูนิเซฟกำหนดยุทธศาสตร์เชิงรุกลงสู่ชุมชน เน้นมาตรการป้องกัน ควบคู่ไปกับมาตรการแก้ไขและฟื้นฟู โดยเชิญชวนประชาชนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม ในการดูแลสังคม ชุมชน ทำหน้าที่เป็นอาสาสมัครศูนย์รับแจ้งเหตุและบริการครอบครัว เพื่อสอดส่องดูแล ป้องกัน และแก้ไขปัญหาความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นกับคนในชุมชนด้วยการประชาสัมพันธ์ ให้ความรู้ในเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ความรุนแรง กฎหมายและสิทธิ การให้คำปรึกษาแนะนำ การส่งต่อผู้ที่ประสบปัญหาความเดือดร้อนไปยังหน่วยงานให้ความช่วยเหลือ ตลอดจนจัดให้มี กิจกรรม เพื่อให้ประชาชนในชุมชนมีทัศนคติ และความเชื่อที่จะช่วยกัน ลด ละ เลิก การกระทำรุนแรงกับคนในครอบครัว พ่อ แม่ ลูก หรือ สมาชิกคนอื่น ๆ และหันมาสนใจใส่ใจ ที่จะช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เลี้ยงดูเด็ก ๆ ให้ได้รับการพัฒนาทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ มีโภชนาการที่ดี มีเสรีภาพในการแสดงออก และมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่จัดขึ้นในชุมชน เพื่อสร้างเด็กให้เติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพ ไม่ก่อปัญหาให้ ครอบครัว คนรอบข้าง และสังคม การดำเนินการตามยุทธศาสตร์ดังกล่าว กรุงเทพมหานครถือว่าเป็นภารกิจที่ต้องให้ความสำคัญ ซึ่งมีกองสังคมสงเคราะห์ สำนักสวัสดิการสังคม เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ เพื่อมุ่งสร้างกรุงเทพมหานคร ให้เป็นเมืองเพื่อนเด็กตามความมุ่งหมาย “ครอบครัวอบอุ่น ชุมชนเอื้ออาทร ประชากรสมานฉันท์”--จบ--

-นห-