ทส. ทุ่มงบ 46.5 ล้าน ฟื้นฟูพื้นที่ต้นน้ำ-ชุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา

05 Feb 2004

กรุงเทพฯ--5 ก.พ.--กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม

ทส. รุกโครงการฟื้นฟูพื้นที่ต้นน้ำ และพื้นที่ชุ่มน้ำบริเวณลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ใช้งบประมาณกว่า 46 ล้านบาทเพื่อดำเนินงานภายในปี 2546-2550 หวังฟื้นฟูระบบนิเวศป่าต้นน้ำที่เสียหายในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาให้กลับคืน และให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมฟื้นฟู

ภายหลังจากที่คณะกรรมการพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา มีมติเห็นชอบกับโครงการเร่งรัดพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา เมื่อ 4 มีนาคม 2546 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) จึงได้ดำเนินโครงการฟื้นฟูพื้นที่ต้นน้ำ และพื้นที่ชุ่มน้ำบริเวณลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา เพื่อฟื้นฟูบูรณะและปรับปรุงระบบนิเวศป่าต้นน้ำลำธารที่เสียหายในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ให้กลับคืนมาเป็นแหล่งต้นน้ำและเป็นป่าธรรมชาติอีกครั้ง รวมทั้งยังเป็นการป้องกันการพังทะลายของดิน ช่วยเก็บกักตะกอน ช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัย และการขาดแคลนน้ำ ตลอดจนส่งเสริมให้ชุมชนท้องถิ่นบนพื้นที่ต้นน้ำ และพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อยเข้ามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ฟื้นฟู นอกจากนั้นยังช่วยสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนท้องถิ่นจากการจ้างแรงงานอีกด้วย

โครงการดังกล่าวมีระยะเวลาการดำเนินงานระหว่างปี 2546-2550 ใช้งบประมาณในการดำเนินงาน 46.5 ล้านบาท โดยแบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะเร่งด่วน ปี 2546 ใช้งบ 4.28 ล้านบาท และระยะยาวตั้งแต่ปี 2547-2550 ใช้งบ 42.22 ล้านบาท

ซึ่งแผนงานของโครงการฟื้นฟูฯ นี้คือ การดำเนินงานปรับปรุงระบบนิเวศต้นน้ำในพื้นที่ 12,000 ไร่ รวมทั้งก่อสร้างฝายต้นน้ำและทำแนวป้องกันไฟป่าในพื้นที่ ต.ปาดังเมซาร์ ต.คลองหอยโข่ง ต.ท่ามะปราง เพื่อสร้างความชุ่มชื้น ชะลอและลดความแรงของกระแสน้ำ ทำให้รากยึดดินไว้ ลดการเกิดแผ่นดินถล่มให้น้อยลง ซึ่งฝายที่จะก่อสร้างนี้จะมี 3 รูปแบบ คือ 1.ฝายต้นน้ำแบบผสมผสาน มีเป้าหมายที่จะก่อสร้าง 1,900 แห่ง โดยเป็นฝายที่จัดทำง่ายอายุใช้งานสั้น 2.ฝายต้นน้ำแบบกึ่งถาวร สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก สามารถดักตะกอนและเก็บกักน้ำได้บางส่วนในฤดูแล้ง มีเป้าหมายที่จะก่อสร้าง 250 แห่ง และ3. ฝายต้นน้ำแบบถาวร มีเป้าหมายก่อสร้าง 60 แห่ง เป็นฝายที่สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก เช่นกัน แต่สามารถกักเก็บน้ำในฤดูแล้งได้ดี

พร้อมกันนี้ยังมีแผนดำเนินการส่งเสริมการปลูกหญ้าแฝกจำนวน 2 ล้านกล้า โดยจะส่งเสริมให้ชุมชนที่ทำการเกษตรบนพื้นที่ลาดชันให้เกิดความเข้าใจ ด้วยการฝึกอบรมด้านการอนุรักษ์ดินและน้ำ รวมทั้งส่งเสริมการปลูกหญ้าแฝกตามพระราชดำริ เพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน อนุรักษ์ความชุ่มชื้นในดินและปรังปรุงดินที่เสื่อมโทรม ตลอดจนส่งเสริมการปลูกบริเวณริมถนน ฝายต้นน้ำลำธาร แหล่งน้ำ เพื่อป้องกันการพังทลายของดิน ดักตะกอนและสารพิษลงสู่น้ำ

นอกจากนั้นยังได้ส่งเสริมและสร้างจิตสำนึกชุมชนโดยมีเป้าหมายใน 10 หมู่บ้านบนพื้นที่ต้นน้ำ เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจถึงประโยชน์ของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลย์ สอดคล้องกับการวางแผนอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งส่งเสริมการใช้ที่ดินโดยเน้นการให้ความสำคัญเกี่ยวกับความรู้และสนับสนุนการดำเนินงานขององค์กรชุมชนอย่างเป็นระบบ

โดยผลการดำเนินโครงการในระยะเร่งด่วนปี 2546 นั้น ได้ทำการปรับปรุงระบบนิเวศไปแล้ว 1,500 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ของหน่วยอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำ คลองอู่ตะเภา 1,000 ไร่ และหน่วยจัดการต้นน้ำ คลองป่าพรุพ้อ 500 ไร่ ก่อสร้างฝายต้นน้ำไปแล้ว 320 ฝาย เป็นฝายแบบผสมผสาน 300 ฝาย ฝายแบบกึ่งถาวร 15 ฝาย ฝายแบบถาวร 5 ฝาย เพาะชำต้นกล้าหญ้าแฝกไปแล้ว 100,000 ต้น และส่งเสริมการสร้างจิตสำนึกแก่ชุมชนพื้นที่อนุรักษ์ต้นน้ำแล้ว 6 หมู่บ้าน ตลอดจนได้สร้างจิตสำนึกแก่ชุมชนในการอนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อยในพื้นที่เป้าหมาย 48 หมู่บ้าน 24 โรงเรียนตามแผนงานระยะเร่งด่วนแล้ว

สำหรับโครงการเร่งรัดพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลานี้มีทั้งหมด 4 โครงการ ได้แก่ โครงการฟื้นฟูพื้นที่ต้นน้ำและพื้นที่ชุ่มน้ำบริเวณลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา โครงการปลูกป่าชายเลนและป่าพรุ เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศทะเลสาบสงขลา โครงการจัดระเบียบเครื่องมือประมงในทะเลสงขลา และโครงการควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิด--จบ--

-รก-