(ต่อ3) ผลการประชุมคณะรัฐมนตรีในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงคมนาคม ประจำวันที่ 23 ธันวาคม 2546

24 Dec 2003

กรุงเทพฯ--24 ธ.ค.--ศูนย์ปชส. กระทรวงคมนาคม

4. เรื่อง การชำระคืนหนี้เงินกู้ค่าออกแบบ ค่าก่อสร้าง และค่าจ้างที่ปรึกษาโครงการรถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคล ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการให้ทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2538 ในเรื่องการชำระคืนหนี้เงินกู้ค่าออกแบบ ค่าก่อสร้าง และค่าจ้างที่ปรึกษาโครงการรถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคล ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ จากเดิมที่กำหนดให้ "รัฐบาลรับภาระเฉพาะดอกเบี้ยในระยะ 10 ปีแรกเท่านั้น ส่วนการชำระคืนเงินต้นของเงินกู้ค่าออกแบบ ค่าก่อสร้าง และค่าจ้างที่ปรึกษาโครงการฯเป็นภาระของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)" เป็น "ให้รัฐบาลรับภาระจ่ายชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยของเงินกู้ดังกล่าวในช่วงระยะเวลา 3 ปีแรก ที่เปิดบริการเดินรถ (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2547 - 2549) ก่อนสำหรับงบประมาณค่าใช้จ่ายในการชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยดังกล่าว (ในส่วนที่ รฟม. มีรายได้ไม่เพียงพอจ่ายชำระคืนฯ) ให้ดำเนินการตามความเห็นของสำนักงบประมาณ" โดยให้ รฟม. รับข้อสังเกตตามประเด็นอภิปรายของคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 7 (ฝ่ายโครงสร้างพื้นฐาน) ไปพิจารณาดำเนินการ ดังนี้

1. แผนพัฒนาเชิงพาณิชย์พื้นที่บริเวณศูนย์ซ่อมบำรุงและสถานีรถไฟฟ้าที่ รฟม. ดำเนินการจัดทำเสร็จเรียบร้อยพร้อมนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้ว นั้น คาดว่าจะทำให้ รฟม. มีรายได้เพิ่มขึ้นบ้าง แต่ไม่น่าจะทำให้มีรายได้ถึงร้อยละ 25 ของวงเงินลงทุนโครงการเนื่องจากการทำธุรกิจมีข้อจำกัดมาก และโดยหลักการ รฟม. มิใช่ผู้ดำเนินการลงทุนเองโดยตรง ประกอบกับการขยายสายทางตามนโยบายของรัฐบาล ตลอดจนระบบขนส่งรถโดยสารเชื่อมต่อและระบบตั๋วร่วมที่จะช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่ รฟม. ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร และข้อเท็จจริงต่าง ๆ เกี่ยวกับวงเงินลงทุน ภาระชำระหนี้ การยกเลิกโครงการเชื่อมต่อ รวมทั้งรูปแบบการเดินทางของประชาชนได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก ทำให้การประมาณการและการคิดคำนวณผลตอบแทนการลงทุน และรายได้ของโครงการในระยะยาวอาจมีความคลาดเคลื่อนและส่งผลกระทบต่อฐานะทางการเงินของ รฟม. ในอนาคตได้อีก และมอบหมายให้ รฟม. พิจารณาดำเนินการ ดังนี้

1. เร่งดำเนินการนำแผนงานต่าง ๆ ในการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารกิจการเดินรถ แผนการพัฒนาเชิงพาณิชย์พื้นที่บริเวณศูนย์ซ่อมบำรุงและสถานีรถไฟฟ้าของ รฟม. แผนการ Refinance เงินกู้ และแผนการขยายสายทางเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาโดยเร็ว

2. จ้างที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญทางด้านการเงินเพื่อให้คำปรึกษา แนะนำ ตลอดจนศึกษารูปแบบแนวทางการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ และแนวทางในการแก้ไขปัญหาทางการเงินที่เหมาะสม โดยให้ รฟม. รับไปพิจารณาร่วมกับสำนักงบประมาณและกระทรวงการคลัง และหากมีความจำเป็นเร่งด่วน ก็ให้เสนอขอรับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการว่าจ้างที่ปรึกษาดังกล่าวจากเงินงบประมาณงบกลางฯ ไปพร้อมกันด้วย

(ยังมีต่อ)

-รก-