กรุงเทพฯ--29 ธ.ค.--ศูนย์ปชส. กระทรวงคมนาคม
รถไฟฟ้า ขบวนที่ 2 และ 3 โครงการรถไฟฟ้ามหานคร ขนส่งมาทางเรือถึงท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี ส่วนขบวนที่เหลือจะทยอยขนส่งถึงประเทศไทยถูกๆ 2 สัปดาห์ จนครบตามจำนวน 19 ขบวน ภายในเดือนมีนาคม 2547
รถไฟฟ้าขบวนแรกได้จัดส่งมาถึงประเทศไทยทางเครื่องบิน Antonov AN 124-100 เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2546 โดยบริษัท ซีเมนต์ จำกัด เป็นผู้ผลิตรถไฟฟ้าให้กับโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล และเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2546 ที่ผ่านมา รถไฟฟ้าขบวนที่ 2 และ 3 รวมจำนวน 6 ตู้ ได้ขนส่งทางเรือจากสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี มาถึงประเทศไทย ณ ท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี โดยเรือเดินสมุทรชื่อ LEO LEADER ซึ่งเป็นของบริษัท เอ็นวายเค ลอจิสติคส์ แอนด์ เมกะแคริเออร์ (NYK LOGISTICS & MEGACARRIER) ใช้ระยะเวลาในการเดินทางประมาณ 40 วัน และหลังจากขบวนที่ 2 และ 3 ได้จัดส่งมาถึงประเทศไทย ขบวนต่อๆ ไป จะทยอยขนส่งมาทางเรือทุกๆ 2 สัปดาห์ ครั้งละ 2 ขบวน จนครบจำนวน 19 ขบวน รวม 57 ตู้ ภายในเดือนมีนาคม 2547 โดยรถไฟฟ้าที่ใช้ในโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล 1 ขบวน ประกอบด้วย 3 ตู้ สามารถรองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 88 คน ความเร็วเฉลี่ย 35 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ความเร็วสูงสุด 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
รถไฟฟ้าที่ขนส่งมาจากสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีทั้งหมด การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะนำไปทดลองวิ่งบริเวณรางทดลองวิ่งในศูนย์ซ่อมบำรุงและทดลองวิ่งในอุโมงค์ รถไฟฟ้าใต้ดิน เพื่อทดสอบการทำงานของขบวนรถว่ามีปัญหาหรือไม่ เช่น ทดสอบระบบห้ามล้อ อัตราเร่งระบบปรับอากาศภายในตัวรถ การวิ่งบนราง ขอพ่วงชนิดอัตโนมัติ การทำงานร่วมกันของระบบประกาศข่าวสารภายในขบวนรถและทดสอบระบบวิทยุ เป็นต้น ก่อนที่จะนำไปใช้บริการ ซึ่งจากการทดสอบรถไฟฟ้าขบวนแรกที่จัดส่งมาทางเครื่องบินนั้น ผลปรากฎว่า ทุกระบบทำงานได้ดีไม่มีปัญหาแต่อย่างใด คาดว่าวันที่ 13 เมษายน 2547 จะสามารถเปิดทอลองให้บริการอย่างไม่เป็นทางการได้--จบ--
-รก-