กรุงเทพฯ--7 ส.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย)
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ประกาศอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ระยะยาวที่ระดับ A-(tha)
ให้กับหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิไม่มีประกันจำนวนรวม 6 พันล้านบาท ซึ่งจะหมดอายุในปี 2553 ของ บริษัทเงินทุน ธนชาติ จำกัด (มหาชน) อันดับเครดิตระยะยาวและระยะสั้นของธนชาติ อยู่ที่ระดับ A-(tha) และ F2(tha) ตามลำดับ ด้วยแนวโน้มมีเสถียรภาพ อันดับเครดิตที่บริษัทได้รับสะท้อนถึง ความแข็งแกร่งของเงินทุนของบริษัท, อัตราการเติบโตของผลกำไรก่อนสำรองหนี้สูญ, การเน้นปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลและธุรกิจทางการเงินที่ขยายตัวไปอย่างกว้างขวางมากขึ้น แต่อันดับเครดิตยังคำนึงถึงความเสี่ยงที่บริษัทจะต้องกันสำรองเพิ่มเนื่องจากคุณภาพสินทรัพย์อาจยังไม่แข็งแกร่งพอหากภาวะเศรษฐกิจไม่ได้ฟื้นอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะ ถ้าพิจารณาถึงความเปราะบางของจำนวนหนี้ที่ปรับโครงสร้างแล้วที่มีอยู่ในจำนวนมาก และการเติบโตอย่างรวดเร็วของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์
ธนชาติเป็นบริษัทเงินทุนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศและเป็นหนึ่งในบริษัทเงินทุนเพียงไม่กี่บริษัทเงินทุนที่รอดพ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศที่เกิดขึ้นในปี 2540 เนื่องจากว่าธนชาติสามารถป้องกันปัญหาการขาดสภาพคล่องที่มาจากการถอนเงินฝาก และยังสามารถเพิ่มทุนได้ด้วยตัวเอง หลังจากวิกฤตเศรษฐกิจ ธนชาติได้ขยายสายงานธุรกิจของตนเองไปมากกว่าการเป็นวาณิชธนกิจและนายหน้าซื้อขายหุ้น ไปเน้นทางด้านธุรกิจสินเชื่อเพื่อบุคคลและสินเชื่อเพื่อบริษัท และนอกจากนี้ยังได้รับ ใบอนุญาตประกอบการธุรกิจธนาคารโดยจำกัดขอบเขตธุรกิจ ในต้นปี 2545 สำหรับบริษัทลูก บริษัทเงินทุน เอกชาติ ซึ่งภายหลังได้เปลี่ยนชื่อไปเป็น ธนาคาร ธนชาต จำกัด (มหาชน) นอกจากนี้ กลุ่มธนชาติยังพัฒนาและลงทุนในธุรกิจประกัน ลงทุนในหนี้ด้อยคุณภาพ และมีบริษัทบริหารสินทรัพย์อีกด้วย
ธนชาติมีกำไรสุทธิในช่วงปี 2545 ที่ 1.7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นอย่างมากจากกำไรสุทธิที่ 550 ล้านบาทสำหรับทั้งปี 2544 เนื่องจากการเติบโตอย่างแข็งแกร่งของสินเชื่อเพื่อการเช่าซื้อรถยนต์, การกันสำรองที่ลดลง และ การลดลงของต้นทุนเงินกู้ยืม ธนชาติมีผลกำไรส่วนต่างของดอกเบี้ยคงที่ที่ 2.6% เนื่องจากการแข่งขันด้านราคา และปัญหาคุณภาพสินทรัพย์ยังไม่หมดไป ในปี 2544 และมีผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นและผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 9.8% และ 1.5% ตามลำดับ แม้ว่าการกันสำรองที่เพิ่มขึ้นนั้นน่าจะส่งผลต่อผลกำไรของบริษัทในช่วงสองถึงสามปีข้างหน้า เมื่อเทียบกับสถาบันการเงินอื่นๆ ธนชาติมีสัดส่วนค่าใช้จ่ายค่อนข้างต่ำ อยู่ที่ประมาณ 45% เนื่องจากธนชาติมีจำนวนสาขาที่น้อย ในขณะที่ธนชาติมีต้นทุนเงินกู้ยืมที่ค่อนข้างสูงเนื่องจากมีจำนวนสาขาที่รับเงินฝากอยู่น้อย แต่น่าจะดีขึ้นได้จากการพัฒนาขยายสาขาต่อไปในอนาคต ธนชาติยังรายงานผลกำไรที่ดีขึ้นในครึ่งปีแรก ของปี 2546 เมื่อกำไรสุทธิเพิ่มจากครึ่งปีที่แล้วเป็น 1.2 พันล้านบาท
ระดับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนชาติจึงลดลงอย่างมากไปเป็นประมาณ 7.1 พันล้าน หรือ 8.5% ของสินเชื่อทั้งหมด ณ เดือนมีนาคม 2546
อย่างไรก็ตาม หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ส่วนใหญ่ของธนชาตินั้นได้รับการปรับโครงสร้างหนี้และบางส่วนได้ถูกโอนไปยังบริษัทบริหารสินทรัพย์ธนชาติ ซึ่งหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เหล่านี้ยังมีความเสี่ยงต่อการที่จะกลับไปเป็นหนี้ด้อยคุณภาพได้อีก ซึ่งอาจจะส่งผลให้ธนชาติต้องกันสำรองมากขึ้นได้ ธนชาติตั้งสำรองเพื่อหนี้เสียจำนวน 1.8 พันล้านบาทในปี 2545 และอีก 200 ล้านบาทในไตรมาสที่ 1 ของปี 2546 ณ เดือน มีนาคม 2546 ธนชาติมีจำนวนเงินสำรองอยู่ที่ 4.2 พันล้าน หรือ 59% ของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ซึ่งอยู่ระดับที่ปรับตัวดีขึ้น แต่ยังคงต่ำเมื่อพิจารณารวมถึงหนี้ที่ได้ปรับโครงสร้างไปแล้วจำนวนมาก อีกทั้งกลยุทธการปล่อยสินเชื่อที่ค่อนข้างรวดเร็วใน 3 ปี ที่ผ่านมาอาจจะทำให้ปัญหาคุณภาพสินทรัพย์กลับมาอีกได้
อย่างไรก็ตาม ณ สิ้นเดือน มีนาคม 2546 ธนชาติมีเงินกองทุนขั้นที่หนึ่งอยู่ที่ 7.3 พันล้านบาท หรือ 9.8% ของสินทรัพย์เสี่ยง ซึ่งทำให้ธนชาติมีเงินทุนเพียงพอที่จะทำการตั้งสำรองเพิ่มขึ้นถ้ามีความจำเป็น ถ้ามองในภาพรวมของบริษัททั้งกลุ่มแล้ว ธนชาติจะมีเงินทุนที่แข็งแกร่งขึ้นมาก เพราะเงินกองทุนขั้นที่หนึ่งส่วนหนึ่งได้ถูกกันไปเพื่อลงทุนในทุนของธนาคาร ธนชาต แม้ว่าธนชาติอาจจะจำเป็นต้องตั้งสำรองมากขึ้น และน่าจะส่งผลให้สัดส่วนเงินทุนของธนชาติลดลงในช่วงสองถึงสามปีข้างหน้า แต่ผลกำไรที่จะเกิดขึ้นและฐานะเงินทุนที่แข็งแกร่งนั้นน่าจะช่วยรองรับภาระการตั้งสำรองที่คาดว่าจะเกิดขึ้นได้
สำหรับรายงานของธนชาตินั้นหาได้จาก www.fitchresearch.com
ติดต่อ
ชัยพัฒน์ ไพฑูรย์,
Vincent Milton, กรุงเทพฯ
+662 655 4762/4759
David Marshall, ฮ่องกง
+852 2973 6293
หมายเหตุ : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ใช้วัดความน่าเชื่อถือของบริษัทในประเทศที่อันดับเครดิตของประเทศนั้นอยู่ในระดับต่ำกว่าอันดับเครดิตระดับเพื่อการลงทุน หรือมีอันดับเครดิตอยู่ในระดับต่ำแม้จะอยู่ในระดับเพื่อการลงทุน อันดับเครดิตของบริษัทที่ดีที่สุดของประเทศจะอยู่ที่ระดับ "AAA" และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับบริษัทที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นถูกออกแบบมาเพื่อนักลงทุนภายในประเทศในแต่ละประเทศนั้นๆ และมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับแต่ละประเทศ เช่น "AAA(tha)" ในกรณีของประเทศไทย อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นไม่สามารถนำไปใช้เปรียบเทียบระหว่างประเทศได้--จบ--
-รก-
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit