การประชุมเครือข่ายผู้นำสตรีในกรอบเอเปค ครั้งที่ 8 ณ จังหวัดเชียงใหม่

01 Aug 2003

กรุงเทพฯ--1 ส.ค.--กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ

ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเครือข่ายผู้นำสตรีในกรอบเอเปค ปี 2546 (Women Leaders' Network - WLN) ณ โรงแรมเชียงใหม่พลาซ่า อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 31 กรกฎาคม - 3 สิงหาคม 2546

ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ผู้นำสตรีจาก 4 ภาคส่วน ใน 21 เขตเศรษฐกิจเอเปค ได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน นักวิชาการ และองค์กรประชาชน ประมาณ 300 คน และผู้สังเกตการณ์จากฝ่ายไทย รวมทั้งสิ้นประมาณ 400 คน โดยมีนายอนุรักษ์ จุรีมาศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นำคณะผู้นำสตรี ให้การต้อนรับ

นายอนุรักษ์ จุรีมาศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยว่า ประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมเครือข่ายผู้นำสตรีในกรอบเอเปค ปี 2546 ซึ่งนับเป็นการประชุมครั้งที่ 8 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะเป็นหน่วยงานหลักด้านสตรีที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการจัดประชุม จึงได้มอบหมายให้สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการร่วมกับสมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ จัดการประชุมดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้นำสตรีในทุกระดับ ทั้งในเขตเศรษฐกิจและนอกเขตเศรษฐกิจได้มีโอกาส แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประสบการณ์ และร่วมกันแก้ไขปัญหาที่สตรีได้รับผลกระทบอันเนื่องมาจากกระแส โลกาภิวัตน์และระบบการค้าเสรี ซึ่งมีสตรีร้อยละ 80 เป็นผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ตลอดจนผลักดันให้ทุกเวทีของการประชุมเอเปคได้นำประเด็นบทบาทหญิงชายเข้าสู่การพิจารณา โดยมีเป้าหมายให้เกิดการตระหนักถึงผลประโยชน์ทั้งหญิงและชายไปพร้อมกัน

นายอนุรักษ์ เปิดเผยต่อไปว่า สำหรับหัวข้อที่ใช้ประชุมเครือข่ายผู้นำสตรีในกรอบเอเปค ปี 2546 คือ Women Make a World of Difference : Partnerships for Gender and Development หรือ สตรีนำการเปลี่ยนแปลง : หญิงชายเพื่อการพัฒนา โดยแบ่งออกเป็นประเด็นย่อย 3 ประเด็น เพื่อให้เนื้อหามีความครอบคลุม ดังนี้ (1) Knowledge Creation, Sharing and Management through Partnerships การแบ่งปัน และการจัดการองค์ความรู้ โดยผ่านการเป็นหุ้นส่วนกัน (2) Promotion of Human Security for Women เป็นการส่งเสริมความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อให้สตรีเกิดความเข้มแข็งตลอดจนการพัฒนาความเป็นอยู่และเสริมสร้างศักยภาพของสตรี เพื่อขยายโอกาสและคุณภาพของชีวิต (3) Women Entrepreneurship through Creative Partnerships ผู้ประกอบการวิสาหกิจสตรีกับการเป็นหุ้นส่วนที่เกื้อ***ลซึ่งกันและกัน โดยให้มีการแบ่งปันประสบการณ์และความรู้ในกลุ่มผู้ประกอบการทุกระดับโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับรากหญ้า

รูปแบบการประชุมประกอบด้วย การประชุมแบบรวม การแบ่งกลุ่มย่อย การพบปะตามกลุ่มความสนใจเพื่อประโยชน์ในการติดต่อทางธุรกิจกันต่อไป และการจัดกิจกรรมพิเศษต่าง ๆ ให้ผู้เข้าร่วมประชุม ซึ่งมาจากกลุ่มเศรษฐกิจในแถบภูมิภาคเอเซียและแปซิฟิกได้รู้จักและเข้าใจถึงศิลปวัฒนธรรม รวมทั้งของดีต่าง ๆ ในประเทศไทยมากขึ้น เช่น การจัดทัศนศึกษาในสถานที่น่าสนใจของจังหวัดเชียงใหม่ การจัดแสดงนิทรรศการ สินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ และการจัดแสดงด้านศิลปวัฒนธรรมในงานเลี้ยงรับรองต่าง ๆ

นายอนุรักษ์ กล่าวในตอนท้ายว่า "จากการประชุมครั้งนี้ เราคาดหวังว่า สตรีใน 21 เขตเศรษฐกิจจะสามารถผลักดันความต้องการต่าง ๆ เข้าไปในเวทีเอเปคไม่เฉพาะด้านเศรษฐกิจ แต่รวมทั้งประเด็นบทบาท หญิงชาย ความเสมอภาค และความเป็นธรรมในทางสังคม ซึ่งจะทำให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมทั้ง สินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ สินค้าประเภทผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ของไทย เป็นที่รู้จักมากขึ้น ส่งผลให้เกิดมูลค่า ทางการค้าและการลงทุนภายในประเทศ รวมทั้งผู้เข้าร่วมประชุมจากภูมิภาคเอเซีย-แปซิฟิกได้รู้จักประเทศไทยมากขึ้นทั้งในด้านภูมิศาสตร์ สถานที่ท่องเที่ยว ศิลปวัฒนธรรม ความหลากหลายของสินค้าที่มีคุณภาพ ที่สำคัญจะทำให้สังคมโลกได้รับรู้ถึงบทบาทและความสามารถของสตรีไทยในด้านต่างๆ เพิ่มมากยิ่งขึ้นอีกด้วย"--จบ--

-สพ-