กรุงเทพฯ--23 มิ.ย.--กทม.
นพ.เอี่ยม วิมุติสุนทร ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม.เปิดเผยว่า อาหารที่ประชาชนนิยมซื้อมักจะเป็นอาหารปรุงสำเร็จหรืออาหารพร้อมปรุง ซึ่งสะดวกและรวดเร็ว โดยหารู้ไม่ว่าอาหารดังกล่าวอาจเจือปนด้วยสารเคมีต่าง ๆ โดยเฉพาะสารบอกแรกซ์ ซึ่งเป็นสารเคมีชนิดสำคัญที่มักผสมอยู่ในอาหารหลายชนิด เช่น ลูกชิ้น เนื้อหมูบด เนื้อวัว ทับทิมกรอบ ผลไม้ดอง ฯลฯ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 4 (พ.ศ.2522) ได้กำหนดให้สารบอแรกซ์เป็นวัตถุห้ามใช้ในอาหาร สารบอแรกซ์ หรือชื่อที่ รู้จัก คือ น้ำประสานทอง เพ่งแซ ผงกรอบ หรือ ผงเนื้อนุ่ม เป็นเกลือของสารประกอบโบรอน พบที่ทะเลสาบแคชเมียร์ ในประเทศธิเบต เมื่อแห้งลักษณะเป็นก้อนและผงสีขาวขุ่น ไม่มีกลิ่น ใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมทำแก้ว ฟอกหนัง เครื่องเคลือบดินเผา และทำทอง แต่มีผู้ค้าบางรายนำมาผสมในอาหารเพื่อใช้เป็นวัตถุกันเสีย และทำให้อาหารหยุ่ย กรอบ แข็ง และคงตัวอยู่ได้นาน เช่น ลูกชิ้น หมูยอ ทอดมัน ไส้กรอก แป้งกรุบ ลอดช่อง ผงวุ้น ทับทิมกรอบ มะม่วงดองเค็ม ผักกาดดอง เมื่อใส่ในเนื้อหมูจะทำให้ดูสดตลอดเวลา สารบอแรกซ์สามารถดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้รวดเร็วและมีผลต่ออวัยวะของร่างกายเกือบทั้งหมด โดยไตเป็นอวัยวะที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด และยังทำให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหาร เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย น้ำหนักลด ถ่ายอุจจาระบ่อย มีไข้ ผิวหนังแตกเป็นแผลบวมแดง ลำไส้อักเสบ ตับถูกทำลาย สมองบวมช้ำ ถ้าได้รับพิษแบบเฉียบพลัน คือ ในผู้ใหญ่เมื่อได้รับ 15 กรัม และในเด็กเมื่อได้รับ 5 กรัม จะทำให้อาเจียนเป็นเลือด และตายได้
ด้านน.ส.ละออง ศรีสุวรรณวิไล ผู้อำนวยการกองชันสูตรสาธารณสุข สำนักอนามัย กล่าวเพิ่มเติมว่า การป้องกันการได้รับสารบอแรกซ์สามารถทำได้โดย เลือกรับประทานอาหารที่สะอาด น่าเชื่อถือ เลือกเนื้อหมูเป็นชิ้นมาบดเอง หรือซื้อเนื้อหมูปลอดสารที่ได้รับการรับรอง และทำการตรวจสอบสารบอแรกซ์โดยใช้ชุดทดสอบเบื้องต้น เมื่อตรวจสอบพบว่ามีสารบอแรกซ์ถ้าแจ้งให้ เจ้าของร้านทราบเพื่อไม่ให้นำมาขายอีก หรือแจ้งนักสุขาภิบาลเขตทราบ ซึ่งขณะนี้กองชันสูตรได้จัดโครงการฝึกอบรมและสนับสนุนให้ชุมชนสามารถตรวจสอบสารบอแรกซ์เองได้ จำนวน 300 คน แบ่งเป็น 5 รุ่น ซึ่งการตรวจสารบอแรกซ์สามารถทำได้ง่ายและ ค่าใช้จ่ายไม่สูงนัก และกองชันสูตรสาธารณสุขสามารถเตรียมชุดน้ำยาตรวจได้แล้ว--จบ--
-นห-
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit