กรุงเทพฯ--16 ก.ย.--ซิลเลเบิล
นาฬิกาเหรียญทองคำอายุกว่า 100 ปี หนึ่งในนาฬิกายอดนิยมจาก โฆรุ่ม ในงาน Central International Watch Fair 2003(ระหว่างวันที่ 5-21 กันยายน 2546) 8 เรือนเกลี้ยงภายใน 2 วันแรก
เรื่องราวของยุคตื่นทองในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย เริ่มต้นประมาณวันที่ 24 มกราคม 1848 เมื่อมีการค้นพบแร่ทองคำในบริเวณที่ดินอันกว้างใหญ่ของชาวสวิสชื่อ โยฮัน-ออกุสต์ ซุตเตอร์ ซึ่งอยู่ในอาณาเขตสวิสใหม่ (New Helvetia) ณ บริเวณหุบเขา ซาคราเมนโต ในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ทวีปอเมริกา ซึ่งเป็นบริเวณที่ชาวสวิสอพยพไปตั้งรกรากถิ่นฐาน ผู้คนจากต่างถิ่นพากันหลั่งไหลมาเพื่อแสวงหาโชคลาภ ร้านค้าทุกร้านในเมืองจะมีตาชั่งอยู่บนโต๊ะเพื่อชั่งทองคำที่ผู้แสวงโชคนำมาแลกเปลี่ยนเป็นเงินตรา แร่ทองคำถูกนำมาหล่อเป็นก้อนทองคำ (Gold Nugget) หรือเหรียญทองคำ (Gold Coin) ส่วนบุคคลมากมาย
ในวันที่ 4 มีนาคม 1849 รัฐบาลอเมริกาประกาศให้เหรียญทองคำที่มีมูลค่า US$20 เป็นเหรียญทองคำที่มีค่าแทนเงินได้อย่างเป็นทางการ โดยเรียกเหรียญนี้ว่า Double Eagle ให้ชื่อของเหรียญนี้แตกต่างจากเหรียญทองคำ US$10 ที่เรียกกันว่า Eagle ลักษณะของเหรียญ Double Eagle นี้ด้านหนึ่งจะเป็นรูปเทพีแห่งสันติภาพซึ่งล้อมด้วยดวงดาว 13 ดวง ซึ่งหมายถึงตัวแทนของอาณานิคมใหม่ทั้ง 13 อาณานิคมที่มารวมตัวกันประกาศเป็นอาณานิคมอิสระบนทวีปอเมริกา อีกด้านหนึ่งของเหรียญแสดงถึงสัญลักษณ์ดวงตราประจำทวีปอเมริกาอันประกอบด้วยนกอินทรีและข้อความ in God we trust ล้อมรอบด้วยดวงดาว 13 ดวง อุ้งเล็บของนกอินทรีเหนี่ยวรั้งกิ่งของต้นมะกอกและลูกศร กิ่งต้นมะกอกเป็นสัญลักษณ์แห่งสันติภาพ ลูกศรเป็นสัญลักษณ์แห่งความเป็นอิสระ
80 ปีต่อมา ราวปี ค.ศ.1932 ประธานาธิบดี F.D.Roosevelt ประกาศใช้ธนบัตรแทนเหรียญทองคำและเรียกเก็บเหรียญทองคำเหล่านี้คืนยกเว้นเหรียญที่อยู่ในครอบครองของนักสะสม ด้วยเหตุนี้เองเหรียญ Double Eagle จึงกลายมาเป็นเหรียญสะสมที่สำคัญและถูกขนย้ายมาอยู่ในมือนักสะสมเหรียญชาวยุโรปนับจำนวนหลายลำเรือ
ช่างชั้นครูผู้ผลิตนาฬิกาชาวสวิสแห่งโฆรุ่มได้เลือกเหรียญ Double Eagle มาทำเป็นนาฬิกาเหรียญทองคำเรือนแรก โดยผ่าเหรียญออกเป็นสองซีกแล้วสอดใส่กลไกนาฬิกาซึ่งบางเฉียบเข้าตรงกลางและประกบกลับคืน ปกป้องหน้าเหรียญด้วยแซฟไฟร์ใส นาฬิกาเหรียญทองคำอันประกอบด้วยกลไกอัตโนมัติที่บางเฉียบเรือนแรกนี้ผลิตสำเร็จในปี 1974 และในปี 1976 โฆรุ่มได้ทยอยประดิษฐ์นาฬิกาเหรียญทองคำออกมา โดยมีการประดับตัวเรือนด้วยเพชรรายรอบมากขึ้น ในปี ค.ศ.1979-1980 โฆรุ่มเริ่มประดิษฐ์นาฬิกาเหรียญทองคำระบบควอตซ์ขึ้น และเริ่มประดิษฐ์นาฬิกาเหรียญทองคำโดยใช้เหรียญทองคำรูปแบบอื่น เช่น เหรียญทองคำนโปเลียนเหรียญทองคำครูเกอร์แรนด์ของประเทศอัฟริกา เหรียญทองคำเปโซ และเหรียญทองคำเวอร์เนอลีส์ของประเทศสวิส เป็นต้น
นาฬิกาเหรียญทองคำนับเป็นประดิษฐกรรมแห่งโฆรุ่มอันเป็นตัวแทนอย่างเด่นชัดของคำกล่าวที่ว่า Time is Money, Time is Gold อันแปลว่า เวลาเป็นเงินเป็นทอง ประดิษฐกรรมนาฬิกาเหรียญทองคำของโฆรุ่มทุกเรือนเริ่มหายากขึ้นและมีค่าสูงมากขึ้นเมื่อเวลาผ่านไปสมกับปณิธานแห่งโฆรุ่มที่ว่า Corum, an investment in time นาฬิกาโฆรุ่มทุกรุ่นทุกเรือน จึงเปรียบประดุจงานศิลปะที่เพิ่มพูนค่าผ่านกาลเวลา
นาฬิกาโฆรุ่มได้ถือสิทธิ์จดทะเบียนนาฬิกาเหรียญทองคำนี้แต่เพียงผู้เดียวทั่วโลก
สนใจติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ บริษัท บาชโทลด์ จำกัด โทร. 0 2939 7028-30--จบ--
-ณส/นห-
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit