มูลนิธิศาสตราจารย์ปกรณ์ อังศุสิงห์ จัดประชุมเตรียมพร้อมผู้ปฏิบัติงาน ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม พ.ศ.2546

12 Sep 2003

กรุงเทพฯ--12 ก.ย.--กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ

มูลนิธิศาสตราจารย์ปกรณ์ อังศุสิงห์ ร่วมกับองค์กรภาคีที่ปฏิบัติงานด้านสวัสดิการสังคม 6 องค์กร จัดประชุมวิชาการ เรื่อง ความพร้อมของผู้ปฏิบัติงานตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม พ.ศ.2546 เพื่อสร้างความเข้าใจในสาระสำคัญของ พ.ร.บ.ส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม พ.ศ.2546 ให้กับนักสังคมสงเคราะห์และผู้ปฏิบัติงานด้านสวัสดิการสังคม และระดมความคิดเพื่อปรับกลยุทธ์การทำงานสวัสดิการสังคมให้สอดคล้องกับสภาวะการณ์ปัจจุบัน เมื่อเร็วๆนี้ ณ ห้องปริ๊นซ์บอลรูม ชั้น 11 โรงแรมปริ๊นซ์พาเลซ ถนนกรุงเกษม โบ๊เบ๊ กรุงเทพฯ โดยมีนายวัลลภ พลอยทับทิม อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ เป็นประธาน

นายวัลลภ พลอยทับทิม อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะประธานกรรมการมูลนิธิศาสตราจารย์ปกรณ์ อังศุสิงห์ กล่าวว่า มูลนิธิศาสตราจารย์ปกรณ์ อังศุสิงห์ ได้ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2524 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมงานด้านวิชาการสังคมสงเคราะห์ พัฒนาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ และสนับสนุนส่งเสริมการขยายบริการทางสังคมสงเคราะห์ให้ก้าวทันต่อสถานการณ์ปัจจุบัน ที่ผ่านมามูลนิธิฯ ได้จัดให้มีการประชุมทางวิชาการเป็นประจำทุกปี

อธิบดีกรมพัฒนาสังคมฯ กล่าวต่อไปว่า สำหรับปี 2546 นี้ มูลนิธิฯ เห็นว่า พ.ร.บ.ส่งเสริมการจัดสวัสดิการสวัสดิการสังคม พ.ศ.2546 ซึ่งขณะนี้ผ่านการพิจารณาจากรัฐสภาเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างการนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย และประกาศใช้เป็นกฎหมายในเร็ววันนี้ ได้ส่งผลกระทบต่อกลยุทธ์การปฏิบัติงานด้านสังคมสงเคราะห์โดยตรง ดังนั้น เพื่อเป็นการปรับกลยุทธ์การปฏิบัติงานด้านสังคมสงเคราะห์ให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติดังกล่าว มูลนิธิศาสตราจารย์ปกรณ์ อังศุสิงห์ จึงได้ร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย สภาสตรีแห่งชาติฯ สมาคมนักสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ จัดประชุมเชิงวิชาการ เรื่อง ความพร้อมของผู้ปฏิบัติงานตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม พ.ศ.2546 ขึ้น เพื่อสร้างความเข้าใจในสาระสำคัญของพระราชบัญญัติดังกล่าวให้แก่นักสังคมสงเคราะห์และผู้ปฏิบัติงานจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่ดำเนินงานด้านสวัสดิการสังคมให้มีความพร้อมในการปฏิบัติงาน นอกจากนี้ ยังเป็นการระดมความคิดของผู้ปฏิบัติงานด้านสวัสดิการสังคม เพื่อนำไปปรับกลยุทธ์การทำงาน สวัสดิการสังคมให้สอดคล้องกับสภาวะการณ์ปัจจุบันด้วย--จบ--

-สพ-