สมาคมนักบัญชีฯ เผยนักบัญชีต้องปรับตัวรับพ.ร.บ.วิชาชีพบัญชีใหม่

02 Oct 2003

กรุงเทพฯ--2 ต.ค.--ตลาดหลักทรัพย์ฯ

สมาคมนักบัญชีฯ เผยนักบัญชีต้องปรับตัวรับ พ.ร.บ.วิชาชีพบัญชีใหม่ เชิญนักบัญชีทั่วประเทศร่วมประชุมสหพันธ์นักบัญชีอาเซียน 10-11 ต.ค.นี้

สมาคมนักบัญชีและผู้สอบบัญชีรับอนุญาตแห่งประเทศไทย เผยนักบัญชีต้องพร้อมปรับตัวเพื่อรับการปฏิรูปครั้งใหญ่ของวิชาชีพบัญชีไทย เพื่อให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.วิชาชีพบัญชีใหม่ ที่คาดว่าจะผ่านสภาผู้แทนฯ ในปีนี้ พร้อมเชิญนักบัญชี และผู้บริหารร่วมประชุมสหพันธ์นักบัญชีอาเซียน ครั้งที่ 13 และการประชุมนักบัญชีทั่วประเทศ ครั้งที่ 18 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ วันที่ 10-11 ตุลาคม 2546 ณ ห้องบางกอกคอนเวนชั่นฮอลล์ โรงแรมโซฟิเทล ลาดพร้าว เผยสมัครก่อน 30 ก.ย.รับสิทธิพิเศษส่วนลดค่าเข้าประชุม

ศาสตราจารย์เกษรี ณรงค์เดช นายกสมาคมนักบัญชีและผู้สอบบัญชีรับอนุญาตแห่งประเทศไทยและประธานคณะกรรมการจัดการประชุมสหพันธ์นักบัญชีอาเซียน ครั้งที่ 13 และการประชุมนักบัญชีทั่วประเทศ ครั้งที่ 18 เปิดเผยว่า ในขณะนี้สภาผู้แทนราษฎรอยู่ระหว่างพิจารณาร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชี ในวาระ 2 และ 3 สมัยประชุมนี้ และคาดว่าจะผ่านมติเห็นชอบในที่สุด โดยจะมีผลบังคับใช้ภายในสิ้นปี 2546 นี้ ซึ่งจะส่งผลให้มีการปฏิรูปวิชาชีพบัญชีครั้งใหญ่ในไม่ช้านี้

"ความสำคัญของร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชีฉบับนี้ ได้แก่ การก่อให้เกิด "สภาวิชาชีพบัญชี" เพื่อเป็นศูนย์รวมเดียวที่สามารถสร้างความเป็นปึกแผ่นของวิชาชีพบัญชี ภายใต้โครงการการกำกับดูแลร่วมกันระหว่างภาคราชการและภาคเอกชน ซึ่งเป็นผลให้ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีมีส่วนร่วมในการกำกับดูแลตนเองมากขึ้น

ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้จะกำหนดแนวทางการกำกับดูแล และข้อกำหนดใหม่ๆ เพื่อกำกับดูแลวิชาชีพบัญชีทุกด้านที่มีผลกระทบต่อประโยชน์ได้เสียของประชาชน และเพื่อประโยชน์ให้มีการคุ้มครองประชาชน และพัฒนา และจัดระเบียบวิชาชีพบัญชีไว้ 6 ด้าน ได้แก่ ด้านการทำบัญชี ด้านการสอบบัญชี การบัญชีบริหาร การวางระบบบัญชี การบัญชีภาษีอากร การศึกษาและเทคโนโลยีทางการบัญชี

นายกสมาคมฯกล่าวต่อว่า "ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เรียกได้ว่าเป็น การปฏิรูปวิชาชีพบัญชีครั้งใหญ่ ซึ่งหมายถึง อนาคตที่ดีของวิชาชีพบัญชีไทย และผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีทุกด้านที่มีหน้าที่ต้องเป็นสมาชิก หรือขึ้นทะเบียนกับสภาวิชาชีพบัญชี ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการกำกับดูแลมาตรฐาน และจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีเหล่านั้น

นอกจากนี้ ยังกำหนดให้นิติบุคคลที่ประกอบกิจการให้บริการด้านสอบบัญชี หรือทำบัญชี หรือวิชาชีพบัญชีด้านอื่นๆ ต้องจดทะเบียนกับสภาวิชาชีพบัญชี และต้องจัดให้มีหลักประกันเพื่อประกันความรับผิดชอบต่อบุคคลที่สาม รวมถึงการกำหนดให้บุคคลผู้มีอำนาจลง นามผูกพันนิติบุคคลในการให้บริการการสอบบัญชีต้องเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาต"

นายไพฑูรย์ ทวีผล อุปนายกสมาคมนักบัญชีฯ และประธานสหพันธ์นักบัญชีอาเซียน เปิดเผยว่า สมาคมนักบัญชีฯ ได้ร่วมกับรัฐบาล กระทรวงพาณิชย์ และสหพันธ์นักบัญชีอาเซียน จัดประชุมสหพันธ์นักบัญชีอาเซียน ครั้งที่ 13 และการประชุมนักบัญชีทั่วประเทศ ครั้งที่ 18 ขึ้น ในหัวข้อ "Making ASEAN the Voice to Global Accounting Profession" ในวันที่ 10-11 ตุลาคม พ.ศ.2546 ณ ห้องบางกอกคอนเวนชั่นฮอลล์ โรงแรมโซฟิเทล ลาดพร้าว

"การจัดงานในครั้งนี้ ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพ ซึ่งจะมีการหมุนเวียนไปยังประเทศต่างๆ ในอาเซียนทุก 2 ปี ในครั้งนี้ จะเป็นโอกาสที่จะทำให้นักบัญชี ผู้บริหารและผู้ประกอบการ ได้รับทราบถึงบทบาทและพัฒนาการของการประกอบวิชาชีพบัญชีในภูมิภาคว่าควรมีทิศทางเป็นอย่างไร และไทยควรมีการปรับตัวไปในแนวทางใด ซึ่งคาดว่าจะมีนักบัญชีทั้งจากประเทศไทย และกลุ่มประเทศอาเซียนเข้าร่วมประชุมไม่ต่ำกว่า 1,000 คน" นายไพฑูรย์กล่าว

การประชุมในครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก ฯพณฯ รองนายกรัฐมนตรี ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมฯ และกล่าวปาฐกถาพิเศษ โดย ฯพณฯ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายวัฒนา เมืองสุข ให้เกียรติร่วมพิธีเปิดในฐานเจ้าภาพร่วม และเป็นประธานในพิธีปิดในวันเสาร์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2546

"ผลสรุปจากการประชุมครั้งนี้ มีความสำคัญยิ่ง อันเนื่องมาจากศาสตราจารย์เกษรี ณรงค์เดช นายกสมาคมได้รับการคัดเลือกให้เป็นกรรมการบริหารสหพันธ์นักบัญชีสากล (INTERNATIONAL FEDERATION OF ACCOUNTANTS ; IFAC) ซึ่งถือว่าเป็นบุคคลแรกของประเทศไทย และเป็นบุคคลที่สองของประเทศในภาคพื้นอาเซียนต่อจากประเทศสิงคโปร์ที่ได้รับเลือกเมื่อ 16 ปีที่แล้ว ดังนั้น นายกสมาคมนักบัญชีฯ จึงตั้งใจจะใช้โอกาสนี้นำประเทศในกลุ่มอาเซียนเข้าไปมีส่วนร่วมกับองค์กรวิชาชีพบัญชีระดับโลก โดยการกำหนดหัวข้อการประชุม "Making ASEAN the Voice to Global Accounting Profession" เพื่อเปิดโอกาสให้นักบัญชีจากภูมิภาคอาเซียน ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ทัศนคติ และวิสัยทัศน์ที่เป็นประโยชน์ต่อการสร้างความเชื่อมั่นให้กับวิชาชีพบัญชีในภูมิภาคนี้ และนายกสมาคมจะนำผลสรุปจากการประชุมครั้งนี้ เสนอต่อคณะกรรมการบริหารสมาพันธ์นักบัญชีสากล (IFAC BOARD) เพื่อกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาต่อไป" ประธานสมาพันธ์นักบัญชีอาเซียนกล่าว

ปัจจุบัน สหพันธ์นักบัญชีอาเซียน (ASEAN Federation of Accountants) มีสมาชิก 13 ประเทศ ดังนั้นโอกาสที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพอีกครั้ง นั่นคือ 20 ปี ข้างหน้า ดังนั้น สมาคมจึงขอเชิญชวนผู้ร่วมวิชาชีพบัญชีทุกท่านเข้าประชุมโดยพร้อมเพรียงกัน สำหรับอัตราค่าธรรมเนียมในการลงทะเบียนสมาชิกสมาคมลงทะเบียนก่อนวันที่ 30 กันยายน 2546 เสียค่าธรรมเนียม 4,280 บาท จากราคาปกติ 4,815 บาท ส่วนบุคคลทั่วไปลงทะเบียนก่อนวันที่ 30 กันยายน 2546 เสียค่าธรรมเนียม 4,815 บาท จากราคาปกติ 5,350 บาท

สหพันธ์นักบัญชีอาเซียน (ASEAN FEDERATION OF ACCOUNTANTS) ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ.1977 ปัจจุบันมีสมาชิกสามัญ (Primary Member) ซึ่งประกอบด้วยประเทศในกลุ่มอาเซี่ยนทั้งหมด 9 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ บรูไน เวียดนาม พม่า ลาว และประเทศไทย และสมาชิกสมทบ (Associated Member) ซึ่งเป็นองค์กรวิชาชีพของประเทศสมาชิก ที่อยู่นอกกลุ่มอาเซียน ได้แก่ CPA Australia, Association of Chartered Certified Accountants, Institute of Chartered Accounatants in Australia และสมาคมนักบัญชีของประเทศมองโกเลีย

วัตถุประสงค์ของการก่อตั้งสหพันธ์นักบัญชีอาเซียน

  • เพื่อเป็นองค์กรของนักบัญชีอาเซียนในการเสริมสร้างความก้าวหน้าในวิชาชีพบัญชีให้กับภูมิภาค และท้ายที่สุดเพื่อสร้างปรัชญาแห่งวิชาชีพบัญชีของภูมิภาคอาเซียน
  • เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดี รวมไปถึงความร่วมมือและการให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในหมู่นักบัญชีอาเซียน
  • เพื่อสนับสนุนการพัฒนาอย่างต่อเนื่องของวิชาชีพบัญชีในภูมิภาคในอาศัยความร่วมมือกันของนักบัญชีอาเซียน
  • เพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนความรู้ทางเทคนิคและข้อมูลที่สำคัญต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพบัญชีให้กับนักบัญชีในภูมิภาค อาเซียน--จบ--

-กภ/รก-