ทีเอ ออเร้นจ์ เดินหน้าเปิดโครงการสร้างนักพัฒนารุ่นใหม่ พร้อมเปิด “ออเร้นจ์ ดิสคัฟเวอร์รี่ แล็บ”

13 Oct 2003

กรุงเทพฯ--13 ต.ค.--ทีเอ ออเรนจ์

ทีเอ ออเร้นจ์ เดินหน้าเปิดโครงการสร้างนักพัฒนารุ่นใหม่ พร้อมเปิด “ออเร้นจ์ ดิสคัฟเวอร์รี่ แล็บ” หนึ่งในโครงการสนับสนุนนักพัฒนาแอพพลิเคชั่น สร้างนวัตกรรมใหม่ให้กับวงการเทเลคอม

บริษัท ทีเอ ออเร้นจ์ จำกัด ผู้นำด้านการให้บริการระบบสื่อสาร wirefreeTM ภายใต้แบรนด์ออเร้นจ์เปิดตัว “โครงการสนับสนุนนักพัฒนาแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือ” สร้างปรากฎการณ์บริการข้อมูลให้มีคุณภาพและความหลากหลายให้กับวงการโทรคมนาคมของไทย โครงการนี้จะเป็นหนึ่งในพันธสัญญาของออเร้นจ์อันมุ่งหวังที่จะสร้างนวัตกรรมและความก้าวหน้า เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของลูกค้า พร้อมทั้งสนับสนุนและ สร้างโอกาสให้กับนักพัฒนาแอพพลิเคชั่นชาวไทยรุ่นใหม่

โครงการสนับสนุนนักพัฒนาแอพพลิเคชั่นของทีเอ ออเร้นจ์ เป็นโครงการแรกในเมืองไทยที่ เกิดจากความร่วมมือของผู้ที่มีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมการสื่อสารระบบไร้สายและ บริการเสริมต่างๆ ของไทย ทั้งผู้ให้บริการระบบสื่อสารต่างๆ ผู้จำหน่ายโทรศัพท์มือถือ ผู้ผลิตอุปกรณ์โทรศัพท์เคลื่อนที่ ผู้ให้บริการเทคโนโลยีซอฟท์แวร์และฮาร์ดแวร์ รวมทั้งกลุ่ม นักพัฒนาฯ

ทั้งนี้ “ออเร้นจ์ ดิสคัฟเวอร์รี่ แล็บ” จะเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของโครงการนี้ ห้องทดลองดังกล่าวจะเป็นศูนย์กลางสำหรับนักพัฒนามือใหม่ ได้นำความคิดสร้างสรรค์หรืองานต้นแบบของตนมาทดสอบกับโทรศัพท์มือถือของผู้จำหน่ายโทรศัพท์มือถือรุ่นต่างๆ ซึ่งนำมาอำนวยความสะดวกภายใน ออเร้นจ์ ดิสคัฟเวอร์รี่ แล็บ เพื่อให้มั่นใจว่าผลงานของตนนั้น สามารถใช้งานร่วมกับโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้อย่างปราศจากข้อบกพร่อง และท้ายที่สุดแล้ว จะทำให้พวกเขาสนุกสนานและเพลิดเพลินกับการพัฒนาบริการและสร้างสรรค์งานที่ดีมีคุณภาพ ทั้งยังสามารถใช้ประโยชน์จากโทรศัพท์เคลื่อนที่รุ่นใหม่ล่าสุดที่มีขีดความสามารถที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้นได้อย่างเต็มที่อีกด้วย

นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน กรรมการผู้จัดการใหญ่ร่วม บริษัท ทีเอ ออเร้นจ์ จำกัด กล่าวว่า “นอกเหนือไปจากการให้บริการที่ดีที่สุดแก่ลูกค้าแล้ว ออเร้นจ์มุ่งมั่นในการส่งเสริมกิจกรรม เพื่อสังคมไทย ออเร้นจ์ตระหนักดีว่านักพัฒนาฯ รายย่อยใหม่ๆ ทั้งหลายต่างก็มีความคิด สร้างสรรค์ในการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้จริง เพื่อตอบสนองความต้องการด้านการสื่อสารไร้สาย ด้วยเหตุนี้ โครงการสนับสนุนนักพัฒนาแอพพลิเคชั่นและ ออเร้นจ์ ดิสคัฟเวอร์รี่ แล็บ ของทีเอ ออเร้นจ์ จะช่วยผลักดันให้ความคิดสร้างสรรค์เหล่านี้ เป็นรูปธรรม สามารถพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อเผยแพร่สู่ตลาดได้อย่างแท้จริง”

โครงการสนับสนุนนักพัฒนาแอพพลิเคชั่น และ ออเร้นจ์ดิสคัฟเวอร์รี่ แล็บ จะเป็นศูนย์กลางสำหรับนักพัฒนาฯ รุ่นใหม่ที่มีความคิดสร้างสรรค์ แต่ขาดแหล่งทรัพยากร รวมทั้งอุปกรณ์ ในการพัฒนาและการเผยแพร่สู่ท้องตลาด ให้มีโอกาสได้พัฒนาแนวคิดให้เป็นผลงานจริง ที่สามารถนำออกจำหน่ายสู่ตลาดในประเทศไทย และขยายไปสู่ตลาดต่างประเทศอีกด้วย

“โครงการสนับสนุนนักพัฒนาแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือ และ ออเร้นจ์ ดิสคัฟเวอร์รี่ แล็บ ของเรามุ่งที่จะสร้างแอพพลิเคชั่น ที่มีความพร้อมในการรองรับการใช้งานร่วมกับเทคโนโลยีอื่นๆ ได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากในภาคอุตสาหกรรมโทรคมนาคมมีแนวโน้มการนำเทคโนโลยีระบบ wirefreeTM ที่เปิดให้บริการในปัจจุบัน มาใช้งานเชื่อมโยงร่วมกับเทคโนโลยีใหม่ๆ อาทิ Wi-Fiบริการโทรศัพท์พื้นฐาน และ บริการข้อมูลผ่านบรอดแบรนด์และเคเบิล บริษัท ทีเอ ออเร้นจ์ จะประสานความร่วมมือกับบริษัทเทเลคอมเอเชีย เพื่อส่งเสริมให้นักพัฒนาฯ ของไทยสามารถ ที่จะยืนหยัดและมีส่วนร่วมสู่ความสำเร็จในการพัฒนาการสื่อสารไปสู่ยุคแห่งการเชื่อมโยง การสื่อสารอย่างสมบูรณ์แบบในอนาคต”

บริษัทที่เข้าร่วมในโครงการดังกล่าวของออเร้นจ์ ประกอบด้วย ผู้จำหน่ายโทรศัพท์มือถือ ได้แก่ โนเกีย โมโตโรล่า ซีเมนส์ซัมซุงและ ซาเจ็ม ซึ่งรวมแล้วครองส่วนแบ่งตลาดโทรศัพท์มือถือมากกว่า 85% สำหรับด้านกลุ่มนักพัฒนาแอพพลิเคชั่น ประกอบด้วย เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย บริษัท ซัน ไมโครซิสเต็มส์ ผู้คิดค้นภาษาจาวา จะเป็นผู้ให้ความสนับสนุนด้านข้อมูลเทคนิคและการจัดอบรมขั้นสูง

นอกจากนี้ ทีเอ ออเร้นจ์ ยังได้ร่วมมือกับเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย หน่วยงานของรัฐภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ที่มุ่งในการพัฒนาอุตสาห-กรรมซอฟต์แวร์ของไทย จัดการอบรมและสัมมนาข้อมูลใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ให้กับนักพัฒนาฯ พร้อมกับจัดประกวดนักพัฒนาแอพพลิเคชั่นขึ้นครั้งแรกในเมืองไทย และจะเปิดตัวในเดือนหน้านี้ เพื่อเปิดโอกาสและสนับสนุนให้นักพัฒนาฯ ของไทยได้คิดพัฒนาและแสดงผลงาน

ดร. รอม หิรัญพฤกษ์ ผู้อำนวยการเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย กล่าวว่า “ผมรู้สึกยินดีที่ได้ร่วมมือกับทีเอ ออเร้นจ์ ในการสนับสนุนและเปิดโอกาสให้นักพัฒนาฯ ของไทยมีโอกาสมากขึ้น และด้วยแหล่งทรัพยากรที่เกิดจากความร่วมมือของทุกฝ่ายนี้ ผมเชื่อมั่นว่า นักพัฒนาฯ ใหม่ๆ ที่มีความสามารถของไทยจะสามารถสร้างปรากฎการณ์ในวงการเทเลคอมระดับโลกได้ ”

ดร. ธนชาติ นุ่มนนท์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวางแผนและสารสนเทศ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า “ผมได้มีโอกาสพูดคุยกับนักพัฒนาฯ ใหม่ๆ ซึ่งมีความคิดสร้างสรรค์ที่ดีมากมาย แต่สิ่งที่พวกเขาขาดคือแหล่งทรัพยากรที่จะช่วยเปลี่ยนความคิดของพวกเขาให้เป็นผลิตภัณฑ์ ที่สามารถจำหน่ายสู่ตลาดได้อย่างจริงจัง ความร่วมมือจากองค์กรต่างๆ ที่สำคัญทั้งจาก ผู้ให้บริการระบบสื่อสาร ผู้จำหน่ายโทรศัพท์มือถือ และผู้ให้บริการระบบเทคนิค จะช่วยเปิดโอกาสใหม่ที่ดีให้กับนักพัฒนาฯ รุ่นใหม่ของเรา พวกเราจึงรู้สึกยินดีเป็นอย่างมากที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้”

ดร. ธัชพล โปษยานนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายขายและพัฒนาธุรกิจ บริษัท ซัน ไมโครซิสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ในช่วงปีที่ผ่านมา แนวคิดการนำเทคโนโลยีจาวามาสร้าง แอพพลิเคชั่นอุปกรณ์ไร้สายได้รับความนิยมแพร่หลายไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว เทคโนโลยีจาวา MIDP 2.0 (Mobile Information Device Profile) ที่ผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือนำมาขยายการ ใช้งานสู่โทรศัพท์รุ่นต่างๆ ได้สร้างนวัตกรรมโซลูชั่นต่างๆ ที่เป็นประโยชน์กับผู้ใช้มากมาย ทั้งบริการด้านความบันเทิง บริการที่ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ในหลายๆ รูปแบบ ตลอดจนการเชื่อมต่อเข้าถึงระบบขององค์กร สำหรับความร่วมมือระหว่าง ซันฯ และ ทีเอ ออเร้นจ์ ในครั้งนี้ ซันจะสนับสนุนในส่วนของการพัฒนาเทคโนโลยีจาวาใน ออเร้นจ์ ดิสคัฟเวอร์รี่แล็บ เพื่อให้นักพัฒนาสามารถทดสอบโปรแกรมได้สะดวก ซึ่งรวมถึงการให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเข้าไปมีส่วนร่วมใน Java Community การฝึกอบรม ทั้งการอบรมเพื่อไปเป็นผู้อบรม และการ อบรมเพื่อนำไปใช้งาน การให้คำปรึกษาในด้านเทคนิค ตลอดจนการแนะนำในการเข้าสอบเพื่อรับ Java Application Certification ซันเชื่อมั่นว่าความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นการรวมตัวเพื่อ จุดประกายในการสร้างสรรค์เทคโนโลยี ที่ได้รับการยอมรับทั่วโลกให้กับวงการอุปกรณ์ไร้สาย ในเมืองไทย ตลอดจนการเติบโตของ Java Community ในเมืองไทยให้แพร่หลายมากยิ่งขึ้น”

นอกจากนี้ โครงการสนับสนุนนักพัฒนาแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือของออเร้นจ์ ยังได้ จัดเตรียม “เว็บไซต์นักพัฒนา” ซึ่งเป็นเว็บไซต์พิเศษของออเร้นจ์ เป็นศูนย์กลางข้อมูลที่จำเป็นในการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ออกมาเป็นผลงานในเชิงการตลาด และนักพัฒนาฯ เหล่านี้จะสามารถเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นใน “Developer Forum” ซึ่งจะเป็นเวทีที่สามารถแลกเปลี่ยน ข้อมูลความรู้เพื่อการพัฒนาแอพพลิเคชั่นร่วมกัน

“ทีเอ ออเร้นจ์ เชื่อมั่นว่า ทุกฝ่ายต่างได้รับประโยชน์สูงสุดจากโครงการดังกล่าว ทั้งวงการเทเลคอม นักพัฒนาแอพพลิเคชั่น และผู้บริโภค เราเชื่อมั่นว่านักพัฒนาแอพพลิเคชั่นไทยมี ศักยภาพในการคิดค้นและพัฒนาแอพพลิเคชั่นที่มีมาตรฐานในระดับสากล หากบุคคลเหล่านี้ได้รับโอกาสและการสนับสนุนที่ถูกต้อง และนี่คืออีกหนึ่งตัวอย่างของการสื่อสารแบบไร้สายของ ออเร้นจ์ .... อนาคตสดใส อนาคตออเร้นจ์” นายอภิรักษ์ กล่าวเสริม--จบ--

-สส-