หุ้นกู้มีหลักประกัน ของ บริษัท ไทยโอเลฟินส์ จำกัด (มหาชน) คาดว่าจะได้รับอันดับเครดิตที่ A-(tha) จากฟิทช์

18 Aug 2003

กรุงเทพฯ--18 ส.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์

ฟิทช์ เรทติ้งส์-กรุงเทพฯ-ลอนดอน 18 สิงหาคม 2546: บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด คาดว่าจะให้อันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาว แก่หุ้นกู้มีหลักประกันชนิดทยอยคืนเงินต้น จำนวน 1 หมื่นล้านบาท ของบริษัท ไทยโอเลฟินส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOC ที่ A-(tha) แนวโน้วเครดิตมีเสถียรภาพ โดยเงินสดที่ได้จากการออกหุ้นกู้ในครั้งนี้ จะนำไปใช้ชำระคืนเงินกู้ธนาคาร

TOC จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2533 โดยการร่วมทุนระหว่าง ปตท. (ปัจจุบันถือหุ้นใน TOC 63%) และกลุ่มผู้ผลิตปิโตรเคมีขั้นปลาย เพื่อผลิตโอเลฟินส์ซึ่งเป็นโรงงานโอเลฟินส์แห่งที่สองของประเทศไทย TOC เริ่มดำเนินการปี 2538 ปัจจุบันมีกำลังการผลิต เอททีลีน 385,000 ตันต่อปีและโพรไพรีน 190,000 ตันต่อปี เมื่อรวมกับการขยายกำลังการผลิตเอททีลีนในปี 2548 อีกจำนวน 300,000 ตันต่อปี จะทำให้ TOC เป็นโรงงานผลิตโอเลฟินส์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศ ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ของTOC มีสัญญาการขายระยะยาว และมีปตท.เป็นผู้รับซื้อในส่วนกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน TOC จะเป็นผู้ซื้อ ก๊าซอีเทน ซึ่งจะเป็นวัตถุดิบหลัก จากโรงแยกก๊าซโรงใหม่ของ ปตท.

อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงโครงสร้างของผู้ถือหุ้นที่แข็งแกร่ง การได้รับการสนับสนุนจากปตท. การมีสัญญาซื้อวัตถุดิบระยะยาวและสัญญาขายโอเลฟินส์ระยะยาวรองรับ รวมถึงความยืดหยุ่นของการใช้วัตถุดิบ การได้เปรียบในการแข่งขันจากการที่เพิ่มสัดส่วนการใช้วัตถุดิบเป็นก๊าซธรรมชาติที่มีต้นทุนต่ำกว่า นอกจากนี้อันดับเครดิตของหุ้นกู้ยังมีปัจจัยเสริมจาก หลักประกันที่เป็นโรงงานและเครื่องจักรของบริษัท โดยมีมูลค่าประเมินประมาณ 24.3พันล้านบาท ซึ่งหลักประกันนี้อาจใช้ร่วมกับเจ้าหนี้อื่นในอนาคต วงเงินไม่เกิน 1.5หมื่นล้านบาท (อัตราหนี้สินต่อมูลค่าหลักประกัน 62%) และวงเงินสนับสนุนด้านการค้าจาก ปตท. จำนวน 100ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ4.2 พันล้านบาท อย่างไรก็ตามการบังคับเอาหลักประกันจากลูกหนี้ตามกฎหมายไทยอาจจะเกิดความล่าช้าได้

นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงฐานะทางการเงินที่ไม่แข็งแกร่งนักของ TOC ในอดีต และลักษณะความผันผวนของราคาผลิตภัณฑ์ตามวัฏจักรอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ระดับหนี้สินของ TOC อาจจะยังคงสูงอยู่ต่อไปอีกระยะหนึ่ง เนื่องจาก TOC ต้องลงทุนเพิ่มในผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง คือ MEG (Mono Ethylene Glycol) เพื่อที่จะเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์เอทีลีนและลดความผันผวนของราคา กระแสเงินสดที่สะสมจากธุรกิจโอเลฟินส์ในปัจจุบันรวมกับกำลังการผลิตเอทีลีนที่จะเพิ่มขึ้น 78% ในปี 2548 และจากราคาผลิตภัณฑ์ที่คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นน่าจะช่วยบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้หากเกิดการล่าช้าในการผลิต MEG โครงการผลิต MEG ใช้เงินลงทุนประมาณ 210ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งคาดว่าจะใช้แหล่งเงินทุนจาก การขายหุ้นเพิ่มทุน50% และ จากเงินกู้50%

สถานะทางการเงินของ TOC เริ่มปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2546 สถานะทางการเงินได้ปรับตัวดีขึ้นอย่างมาก จากราคาผลิตภัฑณ์ที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก อัตราส่วนหนี้สินสุทธิ ต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา (Net Debt/LTM EBITDA) อยู่ที่ระดับ3.8 เท่า และ อัตราส่วน EBITDA ต่อดอกเบี้ยจ่ายดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 5.1 เท่า จากการคาดการณ์ราคาผลิตภัณฑ์โอเลฟินส์ที่จะปรับตัวสูงขึ้นและการมีกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว ประกอบกับค่าใช้จ่ายทางการเงินที่ลดลงจากการ Refinancing จะส่งผลให้สถานะทางการเงินของ TOC ดีขึ้นอย่างมากและช่วยให้มีความยืดหยุ่นทางการเงินมากขึ้นในระยะปานกลาง

สามารถขอรับรายงานฉบับสมบูรณ์ ที่ www.fitchratings.com หรือ บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ติดต่อ

ภิมลภา สิมะโรจน์, ผู้ช่วยกรรมการ, Corporates

+ 662 655 4761

เลิศชัย กอเจริญรัตนกุล, ผู้ช่วยกรรมการ, Corporates

+ 662 655 4760

Vincent Milton, กรรมการผู้จัดการ

+ 662 655 4759

หมายเหตุ : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ใช้วัดความน่าเชื่อถือของบริษัทในประเทศที่อันดับเครดิตของรัฐบาลในประเทศนั้นอยู่ในระดับต่ำกว่า 'AAA' ในระดับการจัดอันดับเครดิตแบบสากล (International Ratings) อันดับเครดิตภายในประเทศจึงไม่สามารถเปรียบเทียบกับอันดับเครดิตแบบสากล เนื่องจากอันดับเครดิตของบริษัทที่ดีที่สุดของประเทศได้จัดไว้ที่ระดับ "AAA" และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับบริษัทที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศจะมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับประเทศนั้นๆ เช่น "AAA(tha)" ในกรณีของประเทศไทย--จบ--

-นห-