กรุงเทพฯ--13 ส.ค.--ศูนย์ ปชส. กระทรวงคมนาคม
คณะกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย อนุมัติให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ว่าจ้างบริษัท วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด และบริษัท ชิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอน คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายใต้ ตอน S1 (บางนา-อาจณรงค์) สัญญาที่ 1 และสัญญา ที่ 2 ตามลำดับ รวมวงเงินงบประมาณ 2,417 ล้านบาท คาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้ปลายปี 2547
คณะกรรมการ กทพ.ได้มีมติในการประชุม เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2546 ให้ กทพ. ว่าจ้างบริษัท วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายใต้ ตอน S1 (บางนา-อาจณรงค์) สัญญาที่ 1 ในวงเงินประมาณ 1,346 ล้านบาท และว่าจ้างบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอน คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างฯ สัญญาที่ 2 ในวงเงินประมาณ 1,070 ล้านบาท โดยใช้ระยะเวลาก่อสร้างสัญญาละ 500 วัน คาดว่าจะสามารถดำเนินการก่อสร้างแล้วและเปิดให้บริการได้ปลายปี 2547 ในการนี้ คณะกรรมการ กทพ.ยังได้มีมติให้ กทพ.ว่าจ้างบริษัท เอเชียน เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด ร่วมกับบริษัท ไทยเอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด เป็นบริษัทวิศวกรที่ปรึกษาควบคุมการก่อสร้างฯ ในวงเงินประมาณ 58 ่ล้านบาท อีกด้วย
อนึ่งโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายใต้ ตอน S1 ระยะทาง 4.7 กิโลเมตร มีวัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมต่อทางพิเศษบูรพาวิถี (บางนา-ชลบุรี) กับทางพิเศษฉลองรัช (รามอินทรา-อาจณรงค์) และเชื่อมต่อทางพิเศษบูรพาวิถี กับทางพิเศษเฉลิมมหานคร (ทางด่วนขั้นที่ 1) ทำให้เกิดโครงข่ายซึ่งอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้บริการและช่วยแก้ไขปัญหาปริมาณจราจนหนาแน่นด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษบางนา รวมทั้งเพื่อรองรับการเดินทางจากสนามบินสุวรรณภูมิในอนาคตอันใกล้อีกด้วย โดยมีแนวสายทางเริ่มต้นที่ ปลายทางพิเศษฉลองรัช บริเวณบรรจบทางพิเศษเฉลิมมหานคร จึงถึงบางนาและเชื่อมต่อกับทางพิเศษบูรพาวิถี กำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จประมาณปลายปี 2547 ประกอบด้วยสัญญาก่อสร้าง 2 สัญญา ดังนี้
สัญญาที่ 1 ระยะทาง 2 กิโลเมตร เป็นทางพิเศษยกระดับ ขนาด 3 ช่องจราจร ทั้งไป-กลับ รวม 6 ช่องจราจร เริ่มตั้งแต่บริเวณถนนบางนา-ตราด กม.0+500 ถึงบริเวณซอยสุขุมวิท 64 โดยก่อสร้างทางลงทางพิเศษขนาด 2 ช่องจราจร และอาคารด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษบริเวณบางจาก พร้อมทั้งงานก่อสร้างสะพานลอยข้ามแยกบริเวณบางนาขนาด 2 ช่องจราจร
สัญญาที่ 2 ระยะทาง 2.7 กิโลเมตร เป็นทางพิเศษยกระดับ ขนาด 3 ช่องจราจร ทั้งไป-กลับ รวม 6 ช่องจราจร เริ่มตั้งแต่บริเวณสุขุมวิท 64 จนถึงทางสิ้นสุดที่จะเชื่อมต่อกับทางพิเศษฉลองรัช--จบ--
-รก-