รางวัลผลงานวิจัย ประจำปี 2546:การพัฒนายาต้านมาลาเรียชนิดแอนติโฟเลต และการศึกษาโครงสร้างของเอ็นไซม์ไดไฮโดรโฟเลต รีดั๊กเทสเพื่อการออกแบบยา

11 Aug 2003

กรุงเทพฯ--11 ส.ค.--วช.

นายจิรพันธ์ อรรถจินดา เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ แถลงแก่สื่อมวลชนว่า สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ให้รางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2546 : รางวัลผลงานวิจัย รางวัลดีเยี่ยม สาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัช แก่ผลงานเรื่อง "การพัฒนายาต้านมาลาเรียชนิดแอนติโฟเลต และการศึกษาโครงสร้างของเอ็นไซม์ไดไฮโดรโฟเลต รีดั๊กเทสเพื่อการออกแบบยา" ของดร.สุมาลี กำจรวงศ์ไพศาล และคณะ จากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ

โรคมาลาเรียเป็นโรคที่เป็นปัญหาของประเทศยากจนมากมาย รวมทั้งประเทศไทยด้วย คณะผู้วิจัยห้องปฏิบัติการวิจัยโปรตีน - ลิแกน เอนจิเนียริ่ง ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ จึงดำเนินการวิจัยโดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อการพัฒนายาต้านมาลาเรีย ซึ่งมีเป้าหมายยาที่สำคัญคือ เอ็นไซม์ไดโฮโดรโฟเลตรีดั๊กเทสของเชื้อมาลาเรีย พลาสโมเดียม ฟัลซิปารั่ม และไวแวกซ์ เอ็นไซม์นี้เป็นเป้าหมายของยาต้านมาลาเรียมาช้านานแต่ปัจจุบันมีปัญหาการกลายพันธุ์ของเอ็นไซม์ดังกล่าวและก่อให้เกิดปัญหาดื้อยารุนแรงขึ้น การศึกษาเอ็นไซม์นี้โดยอาศัยเทคนิคต่าง ๆ ทางชีววิทยา โมเลกุล วิศวกรรมโปรตีน แบบจำลองโมเลกุล และการคำนวณโดยวิทยาการคอมพิวเตอร์ ตลอดจนการศึกษาโครงสร้างผลึกโปรตีนดังกล่าว ทำให้เข้าใจถึงคุณสมบัติการทำงานและกลไกการดื้อยาของเอ็นไซม์เป้าหมายนี้ และเป็นแนวทางในการออกแบบสารยับยั้งในกลุ่มนี้ นอกจากนี้คณะผู้วิจัยยังได้ทำการสังเคราะห์สารยับยั้งการทำงานของเอ็นไซม์นี้มากมาย ทั้งในกลุ่ม 2,4 - ไดอะมิโนพิริดีน และ 4,6 - ไดอะมิโนไดไฮโดรไตรเอซีน และกลุ่มอื่น และทำการตรวจสอบฤทธิ์ต้านมาลาเรีย นอกจากนี้ยังได้พัฒนาระบบที่มีประสิทธิภาพสูงในการตรวจสอบวิวัฒนาการการกลายพันธุ์ที่อาจนำไปสู่การดื้อยา เพื่อทดสอบยาต้านมาลาเรียก่อนที่จะมีการใช้จริง ความรู้ความเข้าใจเหล่านี้จะเป็นแนวทางสู่การพัฒนาสารต้านมาลาเรียที่มีประสิทธิภาพสูงและปราศจากพิษต่อคน

ผลงานวิจัยที่ได้รับรางวัลดีเยี่ยม จะได้รับรางวัลมูลค่า 200,000 บาท พร้อมประกาศนียบัตรเชิดชูเกียรติคุณจาก ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานสภาวิจัยแห่งชาติ

สถานที่ติดต่อ

หน่วยปฏิบัติการวิจัยกลาง-ไบโอเทค ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ จ.ปทุมธานี 12120

โทรศัพท์ 0 2564 6700 ต่อ 3484

โทรสาร 0 2564 6707

e-mail : [email protected]จบ--

-รก-