31 ปี สสวท.ชี้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ยุคปฏิรูป เน้นสร้างคนต่อยอดการพัฒนา

05 Sep 2003

กรุงเทพฯ--5 ก.ย.--สสวท.

จากการประชุมวิชาการเนื่องในโอกาสคล้ายวันสถาปนาสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ครบรอบ 31 ปี เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2546 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมควีนส์ปาร์ค 1-2 โรงแรมอิมพิเรียลควีนส์ปาร์ค นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้กล่าวว่า สังคมยุคต่อไปจะเป็นยุคของเทคโนโลยีชีวภาพ และนาโนเทคโนโลยี กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึง สสวท. จึงต้องเร่งใช้ ICT ลดช่องว่างการเรียนรู้ของเด็ก รัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายในปี 2547 ว่าให้โรงเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษาทุกแห่งมีอินเทอร์เน็ตใช้ทั่วประเทศนั้น ส่งผลให้ครูยุคนี้ต้องไม่กลัวคอมพิวเตอร์ ในทางตรงกันข้ามครูและนักเรียนควรมีบทบาทในการเรียนรู้ร่วมกันโดยใช้คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือหรือใช้เป็นกิจกรรมในการเรียนการสอน เช่น แคมป์ ICT เป็นต้น "เด็กอัจฉริยะ เด็กที่มีความสามารถพิเศษ ควรมีโรงเรียนพัฒนาเด็กด้านนี้โดยเฉพาะหรือมีศูนย์พัฒนาจนถึงระดับมหาวิทยาลัย ส่งให้เรียนดีที่สุด เรียนต่างประเทศไม่ต้องรีบกลับ แต่ให้เขาทำงานสะสมความรู้จนพร้อมจึงค่อยกลับมาแสดงศักยภาพ สิ่งที่รัฐบาลกำลังวางแผนก็คือหาสถาบันรองรับการต่อยอดของนักเรียนทุนที่จบกลับมาพัฒนาประเทศเหล่านี้

นางสิริกร มณีรินทร์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า สองปีที่ผ่านมา สสวท.ประสบผลสำเร็จสูงมาก เห็นได้ชัดจากผลการส่งผู้แทนประเทศไทยไปแข่งขันโอลิมปิกวิชาการ และการสร้างเครือข่ายทุกกลุ่ม ข้อสำคัญยังจัดทำหลักสูตรแกนกลางสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ชั้น ป.1-ม.6 ให้โรงเรียนท้องถิ่นสามารถนำไปจัดทำหลักสูตรเพิ่มเติม เพื่อปรับใช้เข้ากับสิ่งแวดล้อมและชุมชนของตนได้ โดยเฉพาะในปีนี้วิชาวิทยาศาสตร์ในระดับมัธยมศึกษาได้แยกออกจากกลุ่มวิชาสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต (สปช.) แล้ว ทำให้ครูประถมศึกษาต้องใช้ความพยายามมากขึ้น สสวท.จึงเป็นหลักสำคัญที่จะช่วยพัฒนาครูให้นำวิทยาศาสตร์ไปประยุกต์ให้เข้ากับภูมิปัญญาท้องถิ่นในการจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพสูง

ศ.ดร.พรชัย มาตังสมบัติ ประธานกรรมการ สสวท.เผยว่า ในยุคปฏิรูปการเรียนรู้นี้ สสวท.จะปรับบทบาทไปสู่การวิจัยและพัฒนามากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา สสวท.ได้เตรียมหลักสูตรครอบคลุมวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีอันเป็นสาระใหม่ของปีนี้ ขณะเดียวกันก็ได้ขยายความร่วมมือกับคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยของรัฐ 24 แห่งและสถาบันราชภัฎ 41 แห่ง เพื่อเตรียมครูผู้สอนให้พร้อมรับสาระใหม่ พร้อมกับกระจายโรงเรียนนำร่องให้ทั่ว 175 เขตพื้นที่การศึกษาอีกด้วย

เป้าหมายการจัดหลักสูตรการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ของ สสวท.แบ่งเป็น 3 ด้าน คือ ให้คนไทยทุกคนมีทักษะกระบวนการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ คือ รู้จักสังเกต แยกแยะ ประมวลข้อมูล วิเคราะห์ และตรวจสอบได้ ข้อที่สองก็คือให้กลุ่มที่ใช้วิทยาศาสตร์เป็นวิชาชีพมีพื้นความรู้เข้มแข็งเพียงพอที่จะต่อยอดพัฒนายิ่งๆ ขึ้นไปได้ และข้อที่สามคือการส่งเสริมพัฒนาเด็กที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์หรือเด็กอัจฉริยะให้มีความสามารถสูง เป็นนักสร้างสรรค์องค์ความรู้ใหม่ๆ ประดิษฐ์คิดค้นสิ่งใหม่ๆ มาพัฒนาประเทศ ซึ่งปัจจุบันไทยก็เริ่มทำได้แล้วดูได้จากที่ประเทศไทยเป็นผู้นำของโลกด้านการวิจัยโรคเมืองร้อนเป็นต้น--จบ--

-ณส/รก-