กรุงเทพฯ--5 ก.ย.--โครงการบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม
การเติบโตทางเศรษฐกิจได้ทำให้เกิดการขาดแคลนบุคลากรด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม ทั้งในภาครัฐและเอกชน 5 สถาบันอุดมศึกษาไทย จึงจัดทำหลักสูตรหลังปริญญาตรีซึ่งมีทุนให้ผู้เรียนทุกคน ในชื่อว่า JGSEE ที่เน้นการวิจัย เพื่อสร้างคนที่สามารถเข้าไปดูแลเรื่องพลังงานและสิ่งแวดล้อมให้กับองค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนในด้านเทคโนโลยีและการจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันจะช่วยเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในภาพรวมได้เป็นอย่างดี
ในทางเศรษฐกิจของประเทศ "พลังงาน" คือปัจจัยสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนภาคการผลิต ภาคขนส่ง และภาคบริการ โดยแต่ละปีประเทศต้องนำเข้าพลังงานคิดเป็นมูลค่ากว่า 3 แสนล้านบาท ซึ่งจากตัวเลขการใช้พลังงานในช่วงไตรมาศแรกของปี 2546 พบว่าประเทศไทยมีการใช้พลังงานเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการใช้พลังงานในเชิงพาณิชย์เพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2545 ถึง 8.6 เปอร์เซ็นต์ ขณะเดียวกันในประเด็น "สิ่งแวดล้อม" ได้ถูกนำมาเป็นส่วนหนึ่งของข้อกำหนดหรือข้อกีดกันในเชิงการค้า รวมถึงเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงเชิงนโยบายระหว่างประเทศที่จะมีผลถึงคนไทยโดยรวม เช่น พิธีสารเกียวโต และกลไกการพัฒนาที่สะอาด (CDM) ที่จะทำให้เกิดการรับเทคโนโลยีการใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพหรือพลังงานสะอาดจากประเทศที่พัฒนาแล้วเข้ามาเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันในสัดส่วนที่จะเป็นไปตามข้อตกลงที่ประเทศเหล่านั้นได้ทำไว้ทั้งการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม รวมถึงความจำเป็นที่ต้องพัฒนาแหล่งพลังงานใหม่ ๆ ของภาครัฐ และความจำเป็นที่ต้องสร้างความรู้ด้านพลังงานและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการใช้พลังงาน เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการวางนโยบายรวมถึงแผนในระดับประเทศและระดับองค์กร ทำให้เกิดความต้องการบุคลากรและนักวิชาการด้านพลังงาน-สิ่งแวดล้อมเป็นจำนวนมาก
จากความต้องการดังกล่าว บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม หรือ JGSEE (The Joint Graduate School of Energy and Environment) ที่เป็นความร่วมมือของสถาบันอุดมศึกษา 5 แห่ง คือ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, ม.เชียงใหม่, ม.สงขลานครินทร์, สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงเกิดขึ้น โดย ดร. บัณฑิต ฟุ้งธรรมสาร ผู้อำนวยการ JGSEE กล่าวว่า JGSEE เกิดขึ้นเพื่อมุ่งสร้างคนที่สามารถใช้ความรู้ในการพัฒนา ประยุกต์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ ไปสู่สถานประกอบการได้อย่างเหมาะสม
"ในการแก้ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม มักจะมีประเด็นด้านพลังงานซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยการผลิตเข้าไปเกี่ยวข้องอยู่เสมอ ขณะเดียวกันภาคการผลิตในขณะนี้และต่อ ๆ ไป ก็ต้องมีการคำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกัน ซึ่งหลักสูตรการเรียนหลังปริญญาตรีที่มาแต่เดิม หากเป็นสายวิศวกรรมก็จะเป็นการเรียนเฉพาะทาง เช่น วิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมเคมี ไม่ค่อยจะมีหลักสูตรที่เป็นสหสาขา หรือทางสายสิ่งแวดล้อมก็ยังไม่มีสาขาที่เกี่ยวกับด้านพลังงานโดยตรง JGSEE จึงเกิดขึ้นเพื่อสร้างคนที่มีความเข้าใจในการจัดการปัญหาด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะ"
"ที่ JGSEE นอกจากจะเป็นการเรียนการสอนด้วยภาษาอังกฤษทั้งหมด ด้วยอาจารย์ภายใน และอาจารย์จากภายนอกที่รวมถึงผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศแล้ว ข้อแตกต่างจากหลักสูตรอื่น ๆ ก็คือ เรายังมีการเรียนการสอนเพียง 1-2 เทอมแรกเท่านั้น เวลาที่เหลือทั้งหมดจะให้ผู้เรียนใช้ในการวิจัยในสถาบัน 1 ใน 5 แห่งที่ร่วมโครงการ ซึ่งในหลายกรณีผู้เรียนเป็นผู้ปฏิบัติงานอยู่แล้วในสถานประกอบการ จึงมีโอกาสได้นำปัญหาจริงจากสถานประกอบการมาเป็นโจทย์ในการทำวิทยานิพนธ์ด้วย ทำให้ผู้เรียนได้ทดลองนำความรู้ไปใช้ในการแก้ปัญหาในสถานการณ์จริง" ดร. บัณฑิต กล่าวเพราะฉะนั้น สำหรับภาคอุตสาหกรรม รวมถึงรัฐวิสากิจ และภาคราชการที่มีหน้าที่ดูแลหรือเกี่ยวข้องกับพลังงานและสิ่งแวดล้อม เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, กระทรวงต่างประเทศ, กระทรวงพลังงาน กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ฯลฯ นอกจากหลักสูตรนี้จะช่วยสร้างบุคลากรในด้านนี้ให้แล้ว โจทย์วิจัยที่ผู้เรียนพัฒนาขึ้น ยังอาจช่วยแก้ปัญหาหรือให้คำตอบใหม่ๆ กับหน่วยงานต้นสังกัดได้
ขณะนี้ JGSEE มีนักศึกษาทั้งระดับ ป.โท และป. เอก ประมาณ 160 คน ครึ่งหนึ่งเป็นระดับ ป.เอก ที่ในจำนวนนี้หลายคนทำวิจัยในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับงานในหน่วยงานของตนเอง เช่น งานวิจัยพัฒนาระบบกังหันน้ำขนาดเล็ก เพื่อนำไปติดตั้งกับเขื่อนต่าง ๆ ในการผลิตกระแสไฟฟ้า ที่อาจเป็นคำตอบของการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังน้ำในยุคต่อไป ซึ่งเป็นงานของนักศึกษาที่มาจาก กฟผ. หรือการศึกษาด้านผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมตลอดวงจรอายุของโรงไฟฟ้าพลังถ่านหินของนักศึกษาจากประเทศเวียดนาม และยังมีงานวิจัยเชิงนโยบายเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกสำหรับสายเกษตร เช่นความสัมพันธ์ของการเกิดก๊าซมีเธนจากการทำนาข้าวและป่าชายเลน ซึ่ง ดร. บัณฑิต กล่าวว่า นอกจากผู้เรียนจะได้ทำวิจัยอย่างเข้มข้นแล้ว ผู้เรียนในหลักสูตรนี้ส่วนใหญ่แทบจะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการศึกษาเลย
"โครงการที่เกิดจากความร่วมมือของ 5 สถาบันอุดมศึกษาครั้งนี้ได้รับเงินสนับสนุนจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ส่วนหนึ่ง และโครงการเงินกู้ ADB (โครงการพัฒนาบัณฑิตศึกษาและวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี) ของสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (ทบวงมหาวิทยาลัยเดิม) ทำให้ผู้เรียนจะได้รับการยกเว้นค่าลงทะเบียน และค่าหน่วยกิต แถมยังสามารถขอรับทุนอุดหนุนจากโครงการอื่น ๆ เช่น โครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก(คปก.) และหากมีผลการเรียนดียังมีสิทธิได้รับทุนการศึกษาอีกด้วย"
"เพราะฉะนั้น สำหรับผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีทางวิทยาศาสตร์และวิศวฯ ในสาขาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของพลังงานหรือสิ่งแวดล้อม หลักสูตรนี้จะสามารถให้ทั้งทุนเรียนต่อ และเป็นช่องทางไปสู่อาชีพที่มีความต้องการในตลาดแรงงานสูงขึ้นเรื่อย ๆ นอกเหนือจากทักษะด้านภาษา และทักษะการวิเคราะห์วิจัยที่ได้รับตลอดหลักสูตรอยู่แล้ว" ดร. บัณฑิต สรุป
นอกเหนือจากการสร้างบุคลากรและผู้เชี่ยวชาญในสาขาพลังงานและสิ่งแวดล้อมให้กับประเทศแล้ว การมีบุคลากรด้านนี้เพิ่มมากขึ้นในสายอาชีพต่าง ๆ ก็น่าจะเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยให้ภาคเอกชน และภาคราชการ เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างภาระกับสิ่งแวดล้อมลดน้อยลง ซึ่งนอกจากจะเป็นการยกระดับภาคการผลิตของประเทศเพื่อการแข่งขันแล้ว ยังเป็นการช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับคนไทยและสังคมไทยโดยรวมได้อีกทางหนึ่งด้วยและผู้สนใจในหลักสูตรดังกล่าว สามารถเข้าไปดูเนื้อหาและรับใบสมัครได้ที่ www.jgsee.kmutt.ac.th ซึ่งการเรียนในภาคเรียนที่ 2 ของปีการศึกษา 2546 จะเปิดรับสมัครถึงวันที่ 3 ตุลาคมนี้
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายประชาสัมพันธ์โครงการฯ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ โครงการบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) โทร.0-2298-0454 [email protected]จบ--
-รก-
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit