โครงการส่งนักวิจัยไทยไปขั้วโลกใต้

05 Sep 2003

กรุงเทพฯ--5 ก.ย.---พีซี แอนด์ ซี

ขั้วโลกใต้ เป็นดินแดนบริเวณแกนโลกที่นักวิทยาศาสตร์จากประเทศต่างๆ ทั้งในยุโรป อเมริกา และเอเชีย ให้ความสนใจในการศึกษาค้นคว้าและสำรวจวิจัยในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องเกี่ยวกับปัญหาของชั้นโอโซนที่ถูกทำลายอันมีผลทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น

National Institute of Polar Research - NIPR ประเทศญี่ปุ่น ได้ก่อตั้งสถานีวิจัยขึ้นหลายแห่งในขั้วโลกใต้ เช่น สถานีวิจัย Syowa ตั้งขึ้นเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2500 (ค.ศ. 1957) ณ บริเวณเส้นรุ้งที่ 69 องศาใต้ และเส้นแวงที่ 39 องศา 35 ลิปดาตะวันออก บนเกาะ East Ongul, อ่าว Lutzow-Holm ทางตะวันออกของแอนตาร์กติก ทำการศึกษาวิจัยในเรื่องเกี่ยวกับภูมิศาสตร์, สมุทรศาสตร์, ธรณีวิทยา, อุตุนิยมวิทยา, สภาวะชั้นบรรยากาศ, การเกิดแผ่นดินไหว, ชีววิทยาทางทะเล ฯลฯ นอกจากนี้ยังได้จัดตั้งสถานีวิจัย Mizuho และ Azuka อีกด้วย

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การอนุรักษ์สภาพแวดล้อมและระบบนิเวศน์ที่มีลักษณะเฉพาะในบริเวณขั้วโลกใต้ได้กลายเป็นเรื่องสำคัญในการวางแผนและดำเนินการวิจัยขั้วโลกใต้ โดยมีกระบวนการทำงานของคณะผู้วิจัยที่สอดคล้องกับข้อกำหนดต่างๆ เพื่อรักษาสภาพแวดล้อมตามที่ระบุในสนธิสัญญาแอนตาร์กติก

โครงการวิจัยใหม่เกี่ยวกับการตรวจสอบความเปลี่ยนแปลงสภาวะแวดล้อมและระบบนิเวศน์ของโลกและของภูมิภาคได้เริ่มดำเนินการในปี พ.ศ. 2540 (ค.ศ. 1997) ที่สถานีวิจัย Syowa และบริเวณใกล้เคียง โดยโครงการนี้ครอบคลุมถึงการตรวจสอบในหลายด้าน อาทิ ตัวแปรที่สำคัญเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ทั้งทางบรรยากาศธารน้ำแข็ง ทางธรณีฟิสิกส์และทางชีววิทยา เช่น ความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศ, ระดับน้ำทะเล, ประชากรนกเพนกวิน เป็นต้น

โดยมีการตรวจวัดได้เป็นครั้งคราวว่ามีของเสียต่างๆ อย่างเช่นโลหะหนัก, สารประกอบอินทรีย์ต่างๆ ที่มีส่วนผสมของคลอรีน ฯลฯ ปนเปื้อนในน้ำทะเล, น้ำแข็ง, หิมะ รวมทั้งในสัตว์

การตรวจสอบความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ดังกล่าวล้วนเป็นส่วนสำคัญของโครงการวิจัยทาง วิทยาศาสตร์ที่ขั้วโลกใต้ตั้งแต่ขั้นพื้นฐานเป็นต้นไป

การส่งนักวิทยาศาสตร์และนักวิชาการไปสำรวจวิจัยที่ขั้วโลกใต้ต้องใช้งบประมาณสูงมาก ทั้งการสร้างเรือตัดน้ำแข็ง สถานีวิจัย ที่อยู่อาศัย เครื่องมือวิจัยต่างๆ นอกจากนี้ยังต้องใช้ทั้งเวลาและประสบการณ์ โดยปัจจุบันทางประเทศญี่ปุ่นมีความพร้อมในทุกด้าน และได้ส่งนักวิจัยไปยังขั้วโลกใต้ปีละ 1 คณะ

ในปีนี้ ทาง NIPR ได้ตอบรับให้ประเทศไทยส่งนักวิจัย 1 คน ไปร่วมทำงานที่สถานีวิจัย Syowa ในปี 2547 ซึ่งเป็นการเปิดมิติใหม่ให้วงการวิทยาศาสตร์ของไทย และนับเป็นครั้งแรกที่เราจะมีนักวิจัยไปร่วมโครงการสำรวจและวิจัยขั้วโลกใต้อย่างเป็นทางการ

นักวิจัยของไทยที่ได้รับการคัดเลือกเข้าโครงการนี้ จะออกเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นในเดือนมกราคม 2547 เพื่อร่วมประชุมหัวข้อการวิจัย และในเดือนกุมภาพันธ์จะมีการอบรมเชิงปฏิบัติการ "Winter Training" เป็นเวลา 10 วัน เพื่อฝึกการใช้ชีวิตในภูมิประเทศที่เป็นภูเขาและหิมะ โดยต้องตรวจสุขภาพร่างกายอย่างละเอียด เตรียมความพร้อมในทุกด้าน ฯลฯ ราวกลางปี 2547 จะฝึก "Summer Training" อีก 10 วัน หลังจากนั้นจึงไปสมทบกับคณะผู้วิจัยของญี่ปุ่นในเดือนกันยายน เพื่อเตรียมมุ่งสู่ขั้วโลกใต้ในเดือนพฤศจิกายน

วันที่ 14 พฤศจิกายน 2547 เรือตัดน้ำแข็ง "ชิราเสะ" (Shirase) มีกำหนดจะนำลูกเรือพร้อมทั้งกลุ่มนักวิจัยรวมทั้งสิ้น 215 คน ออกเดินทางจากอ่าวโตเกียวมุ่งสู่เมืองเพิร์ธ ประเทศ ออสเตรเลีย และเดินทางสู่ทวีปแอนตาร์กติกเพื่อไปยังสถานีวิจัย Syowa ในวันที่ 24 ธันวาคม 2547 และเริ่มดำเนินการวิจัยตามภารกิจที่ได้รับต่อไป

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้มอบหมายให้สำนักงานพัฒนาวิทยา-ศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ดำเนินการคัดเลือกนักวิทยาศาสตร์ไทยในสาขาฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา วัสดุศาสตร์ และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม แหล่งทรัพยากร สภาวะชั้นบรรยากาศและทะเลของโลก เพื่อเดินทางไปร่วมวิจัยกับคณะผู้วิจัยของ NIPR ในปี 2547 โดยจะประกาศผลการคัดเลือกให้ทราบในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2546 นี้

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่

อุมา พลอยบุตร์ , อัญชลี เชื้อน้อย , กานต์พิชชา น้ำนวล

TEL. 0 691 6302-4 FAX 0 691 6305 หรือสายตรง 0 274 4782

e-mail : [email protected] , [email protected]จบ--

-รก-