ดูปองท์ค้นพบ "โซโรนา" เส้นใยสิ่งทอจากข้าวโพด กองทุนนวัตกรรมไทยขานรับความสำเร็จครั้งใหญ่

07 Mar 2003

กรุงเทพฯ--7 มี.ค.--PC&C

ครั้งแรกของโลกที่มีการค้นพบกรรมวิธีทางชีวภาพที่ใช้ข้าวโพดแทนที่ปิโตรเคมีในการผลิตเส้นใย โพลีเมอร์ วงการนวัตกรรมไทยตื่นตัวตอบรับกระแสการค้นพบ เสนอให้บูรณาการงานวิจัยไทยมุ่งเป้าสู่ ผลงานนวัตกรรมเพื่อแข่งขันในตลาดโลก ดูปองท์ประสบความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่กับการค้นพบ "โซโรนา‚" ซึ่งเป็นนวัตกรรมด้านสิ่งทอที่เกิดจากการนำข้าวโพดมาผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ให้กลายเป็น PDO (1,3 propanediol) ที่เป็นองค์ประกอบพื้นฐานในการผลิตเส้นใยโพลีเมอร์โดย "โซโรนา‚" มีคุณสมบัติเช่นเดียวกับโพลีเอสเตอร์และไนลอน แต่มีความแตกต่างคือมีความนุ่มนวลเช่นเดียวกับผ้าฝ้ายเนื้อดี ซึ่งเป็นจุดโดดเด่นที่แตกต่างจากผ้าใยสังเคราะห์ทั่วไป นวัตกรรมสิ่งทอชนิดนี้ยังมีความยืดหยุ่น และกลับคืนสู่สภาพเดิมได้ดีกว่าไนลอน 2-3 เท่า มีสีสันสดใสสะดุดตา ทนต่อคลอรีนและรังสี UV แห้งเร็ว ขจัดคราบ รอยเปื้อนได้ง่ายโดยไม่ต้องเคลือบสารเคมีใดๆ และที่สำคัญคือดูแลรักษาง่าย สามารถใช้งานได้หลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่ชุดลำลอง ชุดว่ายน้ำ ชุดกีฬา ไปจนถึงชุดทำงานคุณมนตรี สิมะกรัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดูปองท์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า "ดูปองท์ทุ่มเทงานวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์เพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง การค้นพบเส้นใยโพลีเมอร์จากข้าวโพดในครั้งนี้ นับเป็นข่าวดีของผู้บริโภคทุกคนในอนาคต เนื่องจากการใช้วัตถุดิบจากแหล่งชีวภาพจะมีความยั่งยืนมากกว่าวัตถุดิบจากปิโตรเคมีที่ที่นับวันจะมีราคาแพงขึ้น และมีแนวโน้มจะหมดไป อีกทั้งยังย่อยสลายยากอีกด้วย" ด้าน ส่วนทางด้าน Dr. Uma Chowdhry รองประธานศูนย์วิจัยของดูปองท์ในสหรัฐอเมริกา เปิดเผยถึง ขบวนการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ทางชีวภาพในครั้งนี้ว่า "ดูปองท์ ได้นำข้าวโพดมาผ่านกรรมวิธีสันดาปเชิงชีวเคมี ทำให้ได้น้ำตาลแล้วใช้จุลินทรีย์มาแปลงน้ำตาลจากข้าวโพดให้เป็น PDO ซึ่งเป็นสารตั้งต้นในการผลิตเส้นใยโพลีเมอร์ชีวภาพ คุณสมบัติเฉพาะตัวของ "โซโรนา‚" คือ โครงสร้างทางโมเลกุลที่มีลักษณะกึ่งผลึก เป็นคุณสมบัติที่แตกต่างจากโพลีเอสเตอร์และไนลอน ให้ความสัมผัสที่นุ่มกว่า ย้อมสีได้ดีกว่า ทนต่อรังสียูวี และขจัดคราบสกปรกได้ง่าย"

ด้าน นายศุภชัย หล่อโลหการ ผู้อำนวยการกองทุนพัฒนานวัตกรรม (กพน.) หรือ IDF (The Innovation Development Fund) หน่วยงานที่มีพันธกิจในการพัฒนาและสนับสนุนนวัตกรรมใน

ภาคเอกชน โดยเฉพาะการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่จากผลงานการวิจัย ให้ความเห็นต่อเรื่องนี้ว่า "นับเป็นข่าวที่น่ายินดีอย่างยิ่ง ที่แนวโน้มของโลกธุรกิจสิ่งทอกำลังจะเปลี่ยนไป จากเดิมที่จำเป็นต้องใช้วัตถุดิบที่มาจากกระบวนการปิโตรเคมีซึ่งย่อยสลายยากเป็นผลิตภัณฑ์ตั้งต้น

เปลี่ยนมาเป็นการใช้เทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งผลที่ได้คือผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ขณะนี้ กพน. ได้ปรึกษากับทางดูปองท์เพื่อทำงานวิจัยด้านเทคโนโลยีชีวภาพ จะนำงานวิจัยของดูปองท์ที่ประสบความสำเร็จในครั้งนี้มาพัฒนาต่อยอดให้เหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุดกับเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยตั้งเป้าจะใช้มันสำปะหลังแทนข้าวโพด ซึ่งหากสำเร็จก็จะได้ผลิตภัณฑ์ตั้งต้นในการผลิตเส้นใยโพลีเมอร์ชีวภาพจากมันสำปะหลัง เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้เกิดขึ้นในมันสำปะหลังไปในตัวด้วย"

นายศุภชัยกล่าวต่อว่า "สิ่งที่น่าชื่นชมสำหรับการค้นพบครั้งนี้ คือ ดูปองท์สามารถใช้การตลาดกำหนดทิศทางการวิจัยที่มุ่งเป้าไปสู่การสร้างสินค้าตัวใหม่ออกสู่ตลาด สำหรับงานนวัตกรรมในประเทศไทย กำลังได้รับความสนใจในเรื่องการบูรณาการงานวิจัยเพื่อให้เกิดเป็นนวัตกรรมที่มีมูลค่าในเชิงพาณิชย์ โดยเฉพาะการนำผลงานวิจัยมาสนับสนุนให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่และเทคโนโลยีใหม่ออกสู่ตลาดโลก และขณะนี้ กพน. กำลังดำเนินการอยู่หลายโครงการ เช่น ชุดตรวจสอบยาบ้า การผลิตยางแผ่นชนิดพิเศษที่มี

คุณภาพสูงกว่ายางแผ่นทั่วไป และพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มาจากสมุนไพร "ไพล" เป็นต้น"

เมื่อน้ำมันกำลังจะหมดไป ผลผลิตที่เกิดจากน้ำมันปิโตรเลียมทั้งหลายจะต้องมีสิ่งทดแทน และ สิ่งที่ทดแทนได้คือวัตถุดิบจากเทคโนโลยีชีวภาพ ดังนั้นการค้นพบครั้งนี้ จึงนับว่าเป็นนิมิตหมายแห่งมาตรฐานคุณภาพชีวิตที่ดีในอนาคต

ติดต่อฝ่ายประชาสัมพันธ์ ที่ คุณอุมา พลอยบุตร์

บริษัท โปรคอมมิวนิเคชั่นส์ แอนด์คอนซัลแตนท์ จำกัด (PC&C)

โทร. 0 2691 6303 4 โทรสาร 0 2691 6305--จบ--

-ศน-