สกว. จัดการประชุมทางวิชาการเพื่อวิจารณ์กรอบการวิจัย "ความเป็นไปได้ในการพัฒนากระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในสังคมไทย"

05 Mar 2003

กรุงเทพฯ--5 มี.ค.--สกว.

การประชุมทางวิชาการเพื่อวิจารณ์กรอบการวิจัย

"ความเป็นไปได้ในการพัฒนากระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในสังคมไทย"

(วันพุธที่ 5 มีนาคม 2546 ณ ห้องกรุงเทพ 1 โรงแรมรอยัลซิตี้ ถนนบรมราชชนนี 13.30-16.30 น.)

………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………

คดีการทำร้ายร่างกายภรรยาโดยสามี มักจะถูกยับยั้งไม่ให้สู่กระบวนการทางกฏหมาย ทั้งจากตัวภรรยาที่ไม่ต้องการให้ถึงโรงถึงศาลเป็นที่อับอายและไม่ต้องการให้สามีถูกลงโทษสถานหนัก หรือผู้เกี่ยวข้องที่พยายามไกล่เกลี่ยโดยบอกว่าเป็นเรื่อง "ผัวๆเมียๆ" จนกลายเป็นความอยุติธรรมหนึ่งในสังคม ที่ผู้ก่อความรุนแรงไม่ถูกสังคมลงโทษ ในทางตรงกันข้าม บางกรณี เช่น คดีที่พนักงานห้างถูกจับเพราะหยิบซาลาเปาหมดอายุที่ไม่ขายแล้วกลับไปให้ลูกที่บ้าน ทางฝั่งผู้เสียหายก็อาจไม่ต้องการจะฟ้องร้องให้เป็นเรื่องใหญ่โตแต่ก็จำเป็นต้องทำเพราะไม่มีช่องทางอื่นในกฎหมาย เนื่องจากะในบ้านเราก็ไม่มีกระบวนการที่จะยุติปัญหาก่อนที่จะขึ้นศาลในเชิงกฎหมาย ที่เรียกว่า "กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์"

"กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์" เป็นทั้งปรัชญา แนวคิด และกระบวนวิธีการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิด-เหยื่อ-ชุมชน เพื่อให้ได้รับความยุติธรรมโดยกระทำการบางอย่างเพื่อเยียวยา และประสานรอยร้าวทางอารมณ์ของเหยื่อ การแสดงความรับผิดชอบต่อผลของการกระทำของผู้กระทำผิด และการเรียนรู้จาก "อาชญากรรม" ร่วมกันของชุมชนอย่างสันติวิธีควบคู่กับการดำเนินกระบวนพิจารณาพิพากษาคดีซึ่งตลอดช่วงเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมามีการศึกษาวิจัยประเทศต่าง ๆ รวมทั้งมีการนำมาใช้ในหลายประเทศ

สำหรับประเทศไทย แม้จะได้มีการแนะนำกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ต่อสังคมมาแล้วระยะหนึ่ง เช่น การจัดเวทีสัมมนาทางวิชาการเรื่อง "การอำนวยความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์: ทางเลือกใหม่สำหรับกระบวนการยุติธรรมไทย" เมื่อต้นปี 2545 หรืองานเสวนา "กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์สำหรับคดีความรุนแรงในครอบครัว: ความเป็นไปได้ของโครงการ "โรงซ่อมสามี" ในสังคมไทย" เมื่อปลายปีที่ผ่านมา แต่ยังมีประเด็นอื่นๆอีกมากที่สามารถนำกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ไปใช้ได้อย่างกว้างขวางยิ่งขึ้นหากมีการศึกษาวิจัยที่เป็นระบบ ครบวงจร

โครงการพัฒนาระบบกฎหมายไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย จึงได้กำหนดกรอบการวิจัย "ความเป็นไปได้ในการพัฒนากระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในสังคมไทย" ขึ้น และเพื่อให้มีเวทีอภิปราย ถกเถียงและแลกเปลี่ยน เพื่อนำไปสู่การกำหนดหัวข้อ รูปแบบการวิจัยและระเบียบวิธีการวิจัย คณะวิจัยจึงได้จัดการประชุมทางวิชาการเพื่อวิจารณ์กรอบการวิจัย "ความเป็นไปได้ในการพัฒนากระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในสังคมไทย" ขึ้นในวันพุธที่ 5 มีนาคม 2546 ณ ห้องกรุงเทพ 1 โรงแรมรอยัลซิตี้ ถนนบรมราชชนนี เวลา 13.30-16.30 น. โดยบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมและผู้เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ นักวิชาการ นักวิจัย องค์กรภาคเอกชน ฯ ประมาณ 60 - 80 คน เข้าร่วมงาน (รายละเอียดในกำหนดการ)

กำหนดการ

การประชุมทางวิชาการเพื่อวิจารณ์กรอบการวิจัย

"ความเป็นไปได้ในการพัฒนากระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในสังคมไทย"

จัดโดย

โครงการพัฒนาระบบกฎหมายไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

วันพุธที่ 5 มีนาคม 2546

ณ ห้องกรุงเทพ 1 โรงแรมรอยัลซิตี้ ถนนบรมราชชนนี กรุงเทพมหานคร

…………………………………

13.30 น.

กล่าวเปิดการประชุม โดยผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)13.40 น.

"กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์: ทิศทางการพัฒนาและการนำมาใช้ในสังคมโลก"

บรรยายโดย Professor Kei Someda จากสถาบัน UNAFEI ประเทศญี่ปุ่น 14.10 น.

"ความเป็นไปได้ในการพัฒนากระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในสังคมไทย" (เสนอกรอบวิจัย)

โดย ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้ประสานงานโครงการพัฒนาระบบกฎหมายไทย - สกว.14.30 น.

วิจารณ์กรอบการวิจัย โดย

  • รองศาสตราจารย์ประธาน วัฒนวาณิชย์

รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

  • ผู้ช่วยศาสตราจารย์เดชา สังขวรรณ

คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

  • นายนัทธี จิตสว่าง

รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมราชทัณฑ์

  • รองศาสตราจารย์ ดร. กฤตยา อาชวนิจกุล

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล

  • อาจารย์จุฑารัตน์ เอื้ออำนวย ดำเนินรายการ15.50 น.

อภิปรายทั่วไป16.30 น.

สรุปและปิดการประชุม--จบ--

-ศน-