กรุงเทพฯ--18 มี.ค.--วช.
สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับกรมประมง จัดสัมมนาผลการวิจัยเรื่อง "การพัฒนาอาหารสำเร็จเพื่อการผลิตหอยเป๋าฮื้อเชิงพาณิชย์" เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2546 ณ โรงแรมมารวยการ์เด้น กรุงเทพมหานคร เพื่อเผยแพร่ข้อมูลสู่สาธารณชนเรื่องการผลิตสูตรอาหารที่เหมาะสมและมีคุณภาพสำหรับการเจริญเติบโตของหอยเป๋าฮื้อ มีราคาถูกและนำไปสู่การผลิตเพื่อใช้ในการเพาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์ธรรมชาติของหอยเป๋าฮื้อจะกินสาหร่ายเป็นอาหาร โดยเฉพาะสาหร่ายผมนาง สาหร่ายเขากวาง สาหร่ายหนามและอื่นๆ ซึ่งเป็นอาหารธรรมชาติที่ทำให้หอยเจริญเติบโตได้ดี แต่อาหารธรรมชาติมีปริมาณและคุณภาพไม่สม่ำเสมอทำให้มีปัญหาในการเลี้ยงเชิงพาณิชย์ วช จึงได้ให้ทุนสนับสนุนการวิจัยแก่กรมประมง เพื่อทำการศึกษาสูตรอาหารที่มีองค์ประกอบและระดับสารอาหารที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของหอยเป๋าฮื้อในระยะต่างๆ โดยอาหารสำเร็จจะต้องมีราคาถูก มีมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมต่ำ และเพื่อนำมาใช้ในการส่งเสริมและสนับสนุนการเลี้ยงและการผลิตในเชิงพาณิชย์ให้แก่เกษตรกรการสัมมนากล่าวถึงขอบเขตการวิจัย มี 4 ด้าน ดังนี้
1. การวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมี กรดไขมันและกรดอะมิโนของวัสดุอาหารที่ใช้ผลิตอาหารทดลอง อาหารธรรมชาติ (สาหร่ายชนิดต่าง ๆ ) และในหอยเป๋าฮื้อ
2. การศึกษาวิจัยด้านความต้องการทางโภชนาการของหอยเป๋าฮื้อ
3. การศึกษาชนิดของสารเหนียว (Binder) ที่เหมาะสมสำหรับการผลิตอาหารหอยเป๋าฮื้อ
4.การศึกษาอาหารพ่อแม่พันธุ์หอยเป๋าฮื้อ
สำหรับการวิเคราะห์ประกอบทางเคมี จะใช้การวิเคราะห์คุณค่าทางอาหารอย่างหยาบของวัสดุอาหาร คือ วัตถุดิบที่เป็นสารอาหารหลัก ได้แก่ แป้ง และแหล่งโปรตีนจากพืช 7 ชนิด (กากถั่วเหลือง , รำถั่วเขียว , ถั่วเหลืองไม่สกัดน้ำมัน , คอนกลูเท่น , สไปรูลิน่า , หวีดกลูเท่นและโปรตีนถั่วเหลือง) ไขมัน 6 ชนิด (น้ำมันปลา ,น้ำมันรำ, น้ำมันงา,น้ำมันถั่วเหลือง,น้ำมันปาล์มและน้ำมันหมู) กลุ่มวัตถุดิบที่จัดเป็นอาหารธรรมชาติหอยเป๋าฮื้อ คือ สาหร่าย 3 ชนิด (สาหร่ายผมนาง , สาหร่ายหนามและสาหร่ายฮิบเนีย) และวิเคราะห์เนื้อหอยเป๋าฮื้อ สรุปผลการวิเคราะห์ได้ว่า สไปรูลิน่ามีองค์ประกอบกรดอะมิโนใกล้เคียงกับหอยเป๋าฮื้อที่สุด ส่วนองค์ประกอบกรดไขมันของสาหร่ายซึ่งเป็นอาหารธรรมชาติของหอยเป๋าฮื้อ จะพบเฉพาะในสาหร่ายหนาม
ความต้องการทางโภชนาการของหอยเป๋าฮื้อ ทดลองใช้สาหร่ายผมนางเป็นส่วนประกอบในอาหารสำเร็จรูปด้วยสัดส่วนต่างกัน 6 สูตร พบว่า ระดับของสาหร่ายผมนางที่ใช้ในอาหารระดับต่ำสุดที่ให้ผลดีและเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตและอัตราการแลกเปลี่ยนอาหารเป็นเนื้อเท่ากับ 2.5% ส่วนระดับโปรตีนที่เหมาะสมที่สุดสำหรับหอยเป๋าฮื้อมีค่าของระหว่าง 35% - 40%
เนื่องจากสไปรูลิน่าเป็นโปรตีนคุณภาพดีแต่มีราคาแพง ทำให้ต้นทุนการผลิตอาหารสำเร็จมีค่าสูง ผู้วิจัยจึงศึกษาหาวัตถุดิบที่มีคุณค่าทางอาหารใกล้เคียงสไปรูลิน่า แต่ราคาถูกกว่า ได้แก่ คอนกลูเท่นและโปรตีนถั่วเหลือง มาใช้ทดแทนเพื่อลดต้นทุนการผลิต ผลการทดลองพบว่า ผสมสไปรูลิน่ากับคอนกลูเท่นในอัตราส่วน 7.5% ต่อ 2.6% เป็นสัดส่วนที่เหมาะสม ทำให้หอยเป๋าฮื้อมีการเจริญเติบโตดีที่สุด และโปรตีนถั่วเหลืองสามารถนำมาแทนที่สไปรูลิน่าได้ในสัดส่วน 25%
แหล่งไขมันที่นำมาทำอาหารสำเร็จ พบว่า สูตรอาหารที่มีน้ำมันปลาให้ผลการเจริญเติบโตดีที่สุดและมีอัตราแลกเนื้อต่ำสุด แหล่งคาร์โบไฮเดรตที่นำมาทดลองใช้ผลิตอาหารสำเร็จ คือ ปลายข้าว ข้าวโพดและมันเส้น ทั้งในรูปแป้งดิบและแป้งสุก ผลการทดลองพบว่า หอยเป๋าฮื้อสามารถย่อยแป้งทั้ง 3 ชนิดได้ดี ทั้งแบบแป้งดิบและแป้งสุก ดังนั้น สามารถใช้แป้งชนิดใดเป็นส่วนผสมของอาหารสำเร็จก็ได้ขึ้นอยู่กับราคา
วิตามินและสารอาหารอื่นๆ ที่ใช้ผลิตอาหารสำเร็จ ได้แก่ วิตามินรวม A, B2, B12 , D และ Folic acid ผลการทดลองพบว่า ระดับวิตามินรวมที่เหมาะสมมีค่าเท่ากับหรือต่ำกว่า 0.38% ให้ผลการเจริญเติบโตที่ดีที่สุด แต่ระดับวิตามินรวมต่ำสุดที่ทำให้อัตรารอดตายดี คือ 0.22 % สารอาหารอื่น ๆ เช่น โคเลสเตอรอล, เลซิติน , บีเอชทีและซีโอไลท์ เป็นวัตถุดิบที่ไม่จำเป็นต้องใส่ในอาหารสำเร็จ ส่วนวิตามินซี อิโนซิทอลและโคลีนคลอไรต์ ไม่มีความจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของหอยเป๋าฮื้อ
ระดับพลังงานที่เหมาะสมในอาหารสำเร็จ ควรมีค่าระหว่าง 330 - 366 กิโลแคลอรี่ต่ออาหาร 1 กิโลกรัม ช่วยให้หอยเป๋าฮื้อเจริญเติบโตดีที่สุด
สำหรับสารเหนียวที่นำมาใช้ผลิตอาหารสำเร็จเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้อาหารคงรูปและดูดซับสารอาหารไว้ได้นานเพียงพอที่หอยเป๋าฮื้อจะกินอิ่ม เนื่องจากหอยเป๋าฮื้อกินอาหารแบบขูดแทะและใช้เวลานานในการกิน ผลการทดลองพบว่า หวีดกลูเท่น 10 % มีคุณสมบัติทางกายภาพที่เหมาะสมที่สุดที่จะนำมาใช้ เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพและเปอร์เซ็นต์การสูญเสียในน้ำน้อยที่สุด
การทดลองด้านอาหารสำหรับหอยพ่อแม่พันธุ์ พบว่า หอยที่ให้อาหารสำเร็จจะให้ปริมาณไข่มากกว่าหอยที่เลี้ยงด้วยสาหร่ายผมนางเพียงอย่างเดียว เฉลี่ยประมาณ 700,000 ฟองต่อเดือนและไข่ที่วางมีเปอร์เซ็นต์ฟักและเปอร์เซ็นต์ลงเกาะเท่ากับ 11.4 และ 4.4 % นอกจากนี้ หอยที่ให้อาหารสำเร็จจะมีการวางไข่และปล่อยน้ำเชื้อมากกว่า 58.2 % และให้จำนวนไข่เสียและตัวอ่อนที่พิการน้อยกว่า ที่สำคัญอาหารสำเร็จที่มีอัตราส่วนของโปรตีนจากสไปรูลิน่าและโปรตีนถั่วเหลืองในอัตรา 100 : 0 กรัม ให้ผลต่อคุณภาพไข่และอัตรารอดตายถึงระยะลงเกาะดีที่สุด ผู้สนใจสามารถติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มงานทุนอุดหนุนการวิจัย กองส่งเสริมการวิจัย สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โทร. 0 -2561- 2445 ต่อ 458,459--จบ--
-พห/ศน-
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit