โรคต้อหินในผู้สูงอายุ

11 Mar 2003

กรุงเทพฯ--11 มี.ค.--วช.

อายุเป็นปัจจัยเสี่ยงการเกิดโรคต้อหิน โดยเฉพาะผู้สูงอายุหมอตาแนะรักษาแต่เนิ่น ๆ ป้องกันได้ ชี้รักษาไม่ถูกวิธีหรือชักช้าไปจะทำลายประสาทตาและลานสายตา

โรคต้อหินพบได้บ่อยในผู้สูงอายุเป็นอันดันที่ 4 รองจากโรคต้อกระจาก โรคต้อเนื้อ และโรคเยื่อบุตาอักเสบ เกิดจากภาวะความดันในลูกตาสูงกว่าปกติคือ สูงกว่า 20 มิลลิเมตรปรอท ร่วมกับมีการทำลายประสาทตาและลานสายตา หากว่าได้รับการวินิจฉัยและรักษาโรคนี้อย่างทันท่วงทีในระยะแรกของโรค จะป้องกันตาบอดได้ ดังนั้น ตาบอดจากต้อหินเป็นตาบอดที่ถาวรและสร้างความทุกข์ทรมานไปตลอดชีวิต

สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ให้ทุนสนับสนุนการวิจัย เรื่อง "การศึกษามาตรการการคัดกรองและความชุกของโรคต้อหินในผู้สูงอายุ" แก่ รองศาสตราจารย์ รจิต ตู้จินดา และคณะ จากภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โดยกลุ่มผู้สูงอายุที่อยู่ในชุมชนรอบ ๆ โรงพยาบาลศิริราช จำนวน 3,706 คน

ผลการวิจัยพบว่า ความชุกของโรคต้อหินในผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป โดยโรคต้อหินมุมเปิดมีถึง 47.7 เปอร์เซ็นต์ โรคต้อหินมุมปิด 41.4 เปอร์เซ็นต์ และโรคต้อหินความดันตาไม่สูงมีเพียง 12 เปอร์เซ็นต์ โดยโรคต้อหินพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ทั้งนี้ อายุจะเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของการเกิดโรคนี้ ดังนั้น โรคต้อหินหากไม่ได้รับการวินิจฉัยและได้รับการรักษาช้าหรือไม่ถูกต้อง โรคก็จะดำเนินไปอย่างช้า ๆ ทำให้มีการทำลายประสาทตาและลานสายตาจะแคบลงเรื่อย ๆ จนในที่สุดตาอาจจะบอดสนิทและประการสำคัญที่สุดคือ ประสาทตาที่ถูกทำลายไปแล้วไม่สามารถกลับคืนมาเป็นปกติ นอกจากนั้น ผลที่ตามมายังทำให้คุณภาพชีวิตของผู้นั้นลดลง มีอัตราเสี่ยงต่อการหกล้มและเกิดอุบัติเหตุอื่น ๆ เพิ่มขึ้น--จบ

-พห/ศน-

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit