กระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดและรับรอง "มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน" ให้กับสินค้า "หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์"

27 Mar 2003

กรุงเทพฯ--27 มี.ค.--เมอริท ไลฟ์

กระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดและรับรอง "มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน" ให้กับสินค้า "หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์" เสริมคุณภาพของสินค้า หวังขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศเพิ่มขึ้น

กระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดแผน 5 ปี เพื่อยกระดับสินค้าตามโครงการ "หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์" ด้วยการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน และออกใบรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนจาก สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคและกระตุ้นให้กลุ่มผู้ผลิตพัฒนาคุณภาพสินค้าให้เป็นไปตามมาตรฐาน หวังขยายตลาดเพิ่มมากขึ้นทั้งในและต่างประเทศ ตั้งเป้าปีแรกจะมีกลุ่มผู้ผลิตในชุมชนได้รับการรับรองมาตรฐานประมาณ 200 ราย

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากการที่รัฐบาลได้มี นโยบายจัดทำโครงการ "หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์" เพื่อสร้างงานการกระจายรายได้สู่ระดับชุมชนท้องถิ่น จนเกิดความเข้มแข็งในชุมชน อันเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ซึ่งหลังจากที่ได้ดำเนินงานมาตั้งแต่เริ่มปีงบประมาณ 2546 โครงการดังกล่าวได้รับความร่วมมือจากประชาชนและนักวิชาการจากทั่วทุกภาคของประเทศ ด้วยการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก ทั่วทุกจังหวัดของประเทศนั้น

เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากชุมชน ให้ได้รับความเชื่อถือและยอมรับใน คุณภาพผลิตภัณฑ์จากผู้บริโภค ทางกระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้มอบหมายให้ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์ อุตสาหกรรม (สมอ.) จัดทำ "โครงการมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน" ขึ้น เพื่อยกระดับมาตรฐานคุณภาพการผลิต ผลิตภัณฑ์ชุมชนหรือระดับพื้นบ้านที่ยังไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร ด้วยการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน และให้การรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ชุมชนที่ได้มาตรฐาน

ทั้งนี้ในการดำเนินงานของโครงการ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้กำหนดระยะเวลา 5 ปี คือตั้งแต่ปี 2546 - 2550 ซึ่งประกอบด้วยโครงการย่อยอีก 4 โครงการ คือ โครงการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน โครงการรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ชุมชน โครงการพัฒนาผู้ผลิตชุมชน และโครงการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน ซึ่งในแต่ละโครงการจะดำเนินงานสอดคล้องกัน เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ชุมชนที่จำหน่ายในท้องตลาดให้มีการยกระดับมาตรฐาน ก่อให้เกิดความเป็นธรรมในด้านคุณภาพและราคา รวมทั้งเป็นการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนให้เป็นที่ยอมรับของตลาดอีกด้วย ซึ่งสอดคล้องตามแนวนโยบายของรัฐบาล ในการขยายช่องทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนต่างๆ ให้กว้างมากขึ้น ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้เกิดเงินหมุนเวียนภายในประเทศและมีรายได้จากต่างประเทศเข้ามาสู่ระบบเศรษฐกิจของประเทศให้มากขึ้นทางด้านนายสุรชัย เถลิงโชค เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์ชุมชนที่นำมากำหนดมาตรฐานและให้การรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนนั้น ทาง คณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (กมช.) ได้พิจารณาจากผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในบัญชีของคณะกรรมการอำนวยการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์แห่งชาติ (กอ.นตผ.แห่งชาติ) ใน 5 กลุ่มผลิตภัณฑ์ด้วยกันคือ กลุ่มสิ่งทอ, กลุ่มผลิตภัณฑ์จักสาน เส้นใยพืช, กลุ่มอาหารและกลุ่มสมุนไพร, กลุ่มเครื่องปั้นดินเผา และกลุ่มผลิตภัณฑ์ศิลปะ ประดิษฐ์และหัตถกรรม ซึ่งใน 5 กลุ่มผลิตภัณฑ์ดังกล่าว จะคัดเลือกผลิตภัณฑ์ออกมาทั้งสิ้น 60 ผลิตภัณฑ์ และมีแผนที่จะกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนในปีต่อไปอีกปีละ 240 ผลิตภัณฑ์

"สาเหตุที่ได้คัดเลือก 60 ผลิตภัณฑ์ชุมชนจาก 5 กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ดำเนินการในปีแรก เนื่องจาก กลุ่มผู้ผลิตในชุมชน นิยมผลิตสินค้าเหล่านี้เป็นจำนวนมาก และเป็นสินค้าที่ได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคเป็นอย่างดี ดังนั้นหากผลิตภัณฑ์ได้รับการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนจาก สมอ. แล้วจะทำให้ผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้ สามารถขยายตลาดและเกิดการยอมรับในกลุ่มผู้บริโภคมากขึ้น"

สำหรับข้อกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนนี้ จะมีความแตกต่างจาก "มาตรฐานผลิตภัณฑ์ อุตสาหกรรม"(มอก.) ที่ สมอ. กำหนดและให้การรับรองโดยการแสดงเครื่องหมายมาตรฐาน โดยมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนจะมีข้อกำหนดที่เหมาะสมกับการผลิตของแต่ละท้องถิ่น ทดสอบง่าย ใช้เวลาไม่นาน เพื่อให้ผู้ผลิตในชุมชนสามารถพัฒนาได้ สำหรับขั้นตอนในการขอการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนนั้น ผู้ผลิตในชุมชน ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น และสามารถยื่นคำขอการรับรองได้ที่ สมอ. หรือ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดหรือศาลาว่าการจังหวัดทั่วประเทศ หลังจากนั้นทาง สมอ. จะตรวจสอบเอกสารและนัดแจ้งการตรวจสอบ ณ สถานที่ผลิต เก็บตัวอย่างหรือทดสอบ ณ สถานที่ผลิต หากผลิตภัณฑ์มีคุณภาพตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ สมอ. จะออกใบรับรองให้กับผู้ผลิต ซึ่งใบรับรองดังกล่าวจะมีอายุ 3 ปี และจะมีการติดตามประเมินผลโดยสุ่มตัวอย่าง มาตรวจสอบอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง หากพบว่าไม่เป็นไปตามมาตรฐานจะมีการตักเตือนเพื่อปรับปรุงคุณภาพสินค้า ซึ่งจะต้องมีการตรวจสอบสินค้าอีกครั้ง หากยังไม่เป็นไปตามมาตรฐานก็จะยกเลิกใบอนุญาต

"โครงการดังกล่าว นอกจากจะก่อให้เกิดประโยชน์ให้กับหลายฝ่ายด้วยกัน ในส่วนของผู้ประกอบการจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค ช่วยการ ลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มยอดขายมากขึ้น แล้วในส่วนผู้จำหน่ายนั้นจะจำหน่ายสินค้าได้ง่ายขึ้น เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองคุณภาพที่สร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค และผู้จำหน่ายสามารถที่จะจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในราคาเป็นธรรม และมีมาตรฐานรับรองในความปลอดภัยของการอุปโภคบริโภค ซึ่งหากผลิตภัณฑ์ ชุมชนมีการพัฒนาคุณภาพได้มาตรฐานเพิ่มมากขึ้น จะทำให้ผลิตภัณฑ์ของไทยเป็นที่ยอมรับและต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศมากขึ้น อันจะช่วยให้เกิดการสร้างงานและรายได้ให้กับชุมชน จนเกิดความเข้มแข็งในชุมชนและเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งในปีแรกทาง สมอ. ตั้งเป้าว่าจะมีกลุ่มผู้ผลิตชุมชนที่ได้รับการรับรองจาก สมอ. จำนวนประมาณ 200 ราย เลขาธิการ สมอ. กล่าวในที่สุด--จบ--

-พห-