กรุงเทพฯ--27 มี.ค.--Visage
สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาฯ ร่วมกับกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม จัดสัมมนาโครงการเหมืองแร่โพแทสจังหวัดอุดรธานี เสาร์ 29 มีนาคมนี้ หวังใช้เป็นโครงการนำร่องสร้างบรรทัดฐานการจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ ลดปัญหาความขัดแย้งของคนในชาติ
จากสถานการณ์ความขัดแย้งอย่างรุนแรงต่อการจัดทำโครงการต่าง ๆ ของรัฐที่ปรากฏให้เห็นอยู่ตลอดเวลา จนเกิดความสับสนในสังคมเกี่ยวกับการพัฒนาประเทศว่า เหตุใดการดำเนินโครงการต่าง ๆ ของรัฐจึงต้องมีผู้คอยคัดค้าน ทำให้โครงการมากมายไม่สามารถดำเนินไปได้ตามเป้าหมาย
กลุ่มนักวิชาการสาขาต่าง ๆ จึงได้รวมตัวกันหยิบยกเอาความขัดแย้งในพื้นที่ซึ่งกำลังทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะ ทั้ง ๆ ที่ยังอยู่ในขั้นเริ่มต้นของโครงการ และเป็นโครงการขนาดใหญ่มากโครงการหนึ่ง นั่นคือ โครงการเหมืองแร่โพแทสเซียม จังหวัดอุดรธานี ขึ้นมาเป็นกรณีศึกษา ซึ่งความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทำให้คนในท้องถิ่นแตกแยกกัน และกำลังขยายวงกว้างออกไป
ดร.สุรพล สุดารา ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เปิดเผยว่า จากการหารือกันในกลุ่มนักวิชาการทุกสาขา เห็นพ้องต้องกันว่า ควรจะนำเอาโครงการเหมืองแร่โพแทสเซียม จังหวัดอุดรธานี มาทำการวิเคราะห์ทุกด้านอย่างถี่ถ้วนรอบคอบโดยใช้หลักความรู้ทางวิชาการ เพื่อให้เห็นประเด็นต่าง ๆ ที่ทำให้คนไม่เข้าใจโครงการ ความไม่เชื่อถือกระบวนการศึกษาที่มา หรือประเด็นอื่น ๆ อันเป็นชนวนของความขัดแย้ง ตลอดจนวิเคราะห์ถึงความเรียบร้อยรอบคอบในขั้นตอนต่าง ๆ ของการดำเนินการ
เนื่องจากโครงการเหมืองแร่โพแทสเซียมนี้เป็นโครงการขนาดใหญ่ ต้องใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย จึงทำให้เกิดความขัดแย้งในท้องถิ่น มีคนบางกลุ่มเชื่อว่าโครงการนี้จะนำความเจริญมาสู่ท้องถิ่น ขณะที่คนอีกกลุ่มยังหวั่นเกรงว่าการทำเหมืองใต้ดินตามกฏหมายเหมืองแร่ฉบับใหม่นี้ได้มีการศึกษาผลกระทบอย่างครอบคลุมและชัดเจนมากน้อยเพียงไร โดยเฉพาะกรณีที่มีการขุดเจาะเหมืองใต้ดินลึกเกิน 100 เมตร ซึ่งอาจจะชอนไชไปใต้พื้นที่ในครอบครองของผู้อื่น
"ประเด็นความปลอดภัยต่าง ๆ จึงยังเป็นความเคลือบแคลงว่าได้มีการวิเคราะห์ไว้ถี่ถ้วนมากน้อยแค่ไหน รวมไปถึงบริษัทที่จะมาทำโครงการนี้ ซึ่งมีต่างชาติเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ จึงมีคำถามตามมาว่า ประเทศชาติจะได้ผลประโยชน์จากแร่ในแผ่นดินเต็มที่หรือไม่" ดร.สุรพล กล่าวและว่า
เป้าหมายการจัดสัมมนาในวันเสาร์ที่ 29 มีนาคม 2546 ที่สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย ระหว่างเวลา 08.00-18.00 น. มุ่งหวังจะก่อให้เกิดการวางบรรทัดฐานในการทำโครงการต่าง ๆ ให้มีความถูกต้อง เป็นที่ยอมรับ โดยเฉพาะการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ต้องมีการวิเคราะห์โดยรอบด้าน และทุกแง่มุมที่มีผลกระทบ สิ่งที่เป็นข้อบกพร่องจะต้องดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้อง โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับนโยบายการใช้ทรัพยากรแร่ของชาติ ควรจะต้องสร้างมาตรการที่ทำให้การดำเนินงานเกิดผลประโยชน์สูงสุดต่อประเทศต่อไป
รายละเอียดเพิ่มเติม โปรดติดต่อมูลนิธิสืบนาคะเสถียร โทรศัพท์ / โทรสาร 0 2224-7838-40--จบ--
-ศน-