สธ.ลุยตรวจตลาดหน้าวัดลครทำ พบอาหารปนเปื้อนสารต้องห้ามพบหมูบดมีสารบอแรกซ์

07 Feb 2003

กรุงเทพฯ--7 ก.พ.--อย.

รมว.สธ.มอบของขวัญวันตรุษจีนให้ผู้บริโภค ลุยตลาดสดหน้าวัดลครทำ นำรถตรวจสอบเคลื่อนที่ กวาดตรวจอาหารต้องสงสัยปนเปื้อนสารต้องห้าม พบหมูบดมีสารบอแรกซ์

นางสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย ศ.ดร.ภักดี โพธิศิริ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข น.พ.ศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และ น.พ.สถาพร วงษ์เจริญ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกันแถลงข่าวว่า เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความปลอดภัยในการบริโภคอาหาร จึงได้มีการตรวจสอบอาหารที่จำหน่ายในท้องตลาดว่ามีความปลอดภัย หรือมีสารปนเปื้อนที่เป็นอันตรายหรือไม่ อย่างกรณี เมื่อวันที่ 24-25 มกราคม 2546ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาและกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้เก็บตัวอย่างเนื้อหมูจากตลาดสดหน้าวัดลครทำ เขตบางกอกน้อย กทม. ซึ่งเป็นแหล่งใหญ่จำหน่ายเนื้อสัตว์ให้ผู้ประกอบการรายย่อย เช่น เนื้อหมูสด หมูบด มาแปรรูปเป็นอาหารต่าง ๆ อาทิ ไส้กรอกอีสาน เป็นต้น ผลการตรวจวิเคราะห์ทั้งหมูชิ้นและหมูบด จำนวน 28 ตัวอย่าง พบมีสารบอแรกซ์ในหมูบดจำนวน 4 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 14 นอกจากนี้ ยังพบสารซาลบูตามอล ตกค้างในเนื้อหมูจำนวน 11 ตัวอย่างจากทั้งหมด 13 ตัวอย่าง หรือพบมากถึงร้อยละ 85 โดยพบในสัดส่วน 1 ไมโครกรัม ถึง 4.2 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวต่อไปอีกว่า ในวันนี้ได้นำเจ้าหน้าที่พร้อมรถตรวจสอบเคลื่อนที่มาเก็บตัวอย่างอาหาร ตรวจหาสารต้องห้ามต่าง ๆ ที่อาจเป็นอันตราย ที่ตลาดสดหน้าวัดลครทำ อีกครั้ง จากการตรวจสอบแผงขายหมูทั้งหมด 12 แผง เก็บตัวอย่างหมูบดจำนวน 10 ตัวอย่าง หมูชิ้น 12 ตัวอย่าง รวม 22 ตัวอย่าง ปรากฏผลวิเคราะห์เบื้องต้น พบว่า มีการปนเปื้อนสารบอแรกซ์ ในหมูบด 3 ตัวอย่าง อย่างไรก็ตาม จะนำหมูบดดังกล่าวไปตรวจยืนยันผลอีกครั้งที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ หากผลยืนยันว่าพบสารปนเปื้อนบอแรกซ์ ก็จะมีการดำเนินคดีต่อไป

ศ.ดร.ภักดี โพธิศิริ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การที่บรรดาพ่อค้าแม่ค้านำสารบอแรกซ์ใส่ในอาหาร ก็เพื่อประโยชน์ในทางการค้า ทำให้หมูดูสด ใหม่ และมีความกรอบอยู่ได้นาน แต่สารบอแรกซ์สามารถก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ได้รับสารนี้เป็นประจำได้ พิษของบอแรกซ์มีผลต่อเซลล์ของร่างกายเกือบทั้งหมด เมื่อร่างกายได้รับเข้าไป ทำให้เกิดความผิดปกติรุนแรงมากน้อยขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของบอแรกซ์ที่ร่างกายได้รับและเกิดการสะสมในอวัยวะนั้น โดยเฉพาะไต เป็นอวัยวะที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด อาการจะปรากฏให้เห็นภายใน 1 สัปดาห์ ส่วนกระเพาะอาหารและลำไส้จะอักเสบ ตับถูกทำลาย สมองบวมช้ำ และมีอาการคั่งของเลือด อาการทั่วไปมีไข้ ผิวหนังมีลักษณะแตกเป็นแผล บวมคล้ายถูกน้ำร้อนลวก อาจมีปัสสาวะออกน้อย หรือไม่ออกเลย เนื่องจากสมรรถภาพการทำงานของไตล้มเหลว หากผู้ใหญ่ได้รับบอแรกซ์ ในขนาด 15- 30 กรัม หรือเด็กได้รับในขนาด 4.5 -14 กรัม อาจทำให้เสียชีวิตได้ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 151 (พ.ศ.2536) สารบอแรกซ์ถูกจัดให้เป็นวัตถุที่ห้ามใช้ในอาหาร ผู้ผลิตหรือจำหน่ายอาหารที่ผสมสารบอแรกซ์ จึงถือเป็นการผลิตหรือจำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์ เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 25 (1) มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สำหรับกรณีที่พบสารซาลบูทามอล ซึ่งเป็นสารเร่งเนื้อแดงที่ห้ามใช้ในอาหารเลี้ยงหมู เพราะจะทำให้ผู้บริโภคเกิดอาการใจสั่น ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ นั้น จะถือว่าเข้าข่ายเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์เช่นกัน โดยในปีที่ผ่านมา ทาง อย.ได้เก็บตัวอย่างเนื้อสัตว์จากแหล่งจำหน่ายในกรุงเทพฯ และจังหวัดต่าง ๆ ในภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคเหนือตอนล่าง เพื่อตรวจหาสารซาลบูตามอล 347 ตัวอย่าง พบมีสารตกค้าง 289 ตัวอย่าง หรือร้อยละ 83 โดยตรวจเนื้อหมู 340 ตัวอย่าง พบ 286 ตัวอย่าง ตรวจไส้กรอกหมู 3 ตัวอย่างพบทั้ง 3 ตัวอย่าง ตรวจเนื้อวัว 2 ตัวอย่างไม่พบสารตกค้าง และตรวจเนื้อเป็ด 2 ตัวอย่างไม่พบเช่นกัน อย่างไรก็ตาม แสดงว่ายังมีการใช้สารตัวนี้ในฟาร์มเลี้ยงหมูกันอยู่มาก ทั้งนี้ จะได้ให้ทาง อย.ส่งข้อมูลให้กับทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อติดตามในฟาร์มเลี้ยงหมูต่อไป

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในตอนท้ายว่า การตรวจตลาดครั้งนี้ถือเป็นการตรวจใหญ่ครั้งแรก ซึ่งจะมีการดำเนินการเช่นนี้อย่างต่อเนื่องและเข้มงวดกับตลาดสดแห่งอื่น ๆ ต่อไปทั่วประเทศ โดยมีเป้าหมายว่าจะสาวให้ถึงผู้ผลิตหรือแหล่งต้นตอซึ่งเป็นตัวการสำคัญให้จงได้ และจะดำเนินคดีกับผู้ผลิตอย่างเข้มงวดทุกราย ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2546 เป็นต้นไป กระทรวงสาธารณสุขได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ ดำเนินการตรวจอาหารที่วางจำหน่างในตลาดสด เน้นการตรวจ 5 อย่าง เช่นฟอร์มาลิน ที่มักใช้แช่ผักสด ปลาทะเล สารกันเชื้อราในอาหารหมักดอง สารฟอกขาวที่มักใช้ในถั่วงอก หน่อไม้ ยอดมะพร้าวอ่อน สารกำจัดศัตรูพืชที่ตกค้างในผักผลไม้ และสารบอแรกซ์ในทับทิมกรอบ ลอดช่อง กล้วยแขก เนื้อสัตว์ ซึ่งรวมถึงลูกชิ้น ไส้กรอก ทอดมัน เป็นต้น ซึ่งหากพบจะทำการตักเตือนผู้ค้าที่แผงและสืบถึงต้นตอแหล่งผลิต เพื่อดำเนินการอย่างเฉียบขาดต่อไป--จบ--

-สส-