บีโอไอเตรียมโรดโชว์ญี่ปุ่นดึงยานยนต์-เอสเอ็มอี เพื่อเสริมสร้างทักษะและถ่ายทอดเทคโนโลยีให้คนไทย

19 May 2003

กรุงเทพฯ--19 พ.ค.--บีโอไอ

นายสมพงษ์ วนาภา เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 20-26 พฤษภาคมนี้ บีโอไอจะจัดคณะไปชักจูงการลงทุนที่ประเทศญี่ปุ่น โดยมีนายสมคิด

จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าคณะ

การจัดคณะชักจูงการลงทุนครั้งนี้จะมุ่งเน้นใน 3 ประเด็นหลักคือ การชักจูงบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่กำลังหลั่งไหลเข้ามาลงทุนสนับสนุนโครงการประกอบรถยนต์ขนาดใหญ่ในไทย การเชื่อมโยงระหว่างเอสเอ็มอีไทยและญี่ปุ่น โดยมุ่งการส่งเสริมการลงทุนเพื่อนวัตกรรม (innovation) การพัฒนาทักษะและการถ่ายโอนเทคโนโลยี รวมทั้ง R&D การรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานต่างๆ และนักธุรกิจทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก

การเดินทางไปโรดโชว์ในครั้งนี้ จะมีกิจกรรมที่หลากหลาย เพื่อมุ่งดึงดูดการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า รวมถึงการถ่ายโอนทักษะและเทคโนโลยีจากญี่ปุ่นมาไทย โดยการมุ่งเชื่อมโยงระหว่างเอสเอ็มอีญี่ปุ่นและไทย อีกทั้งจะตอกย้ำให้นักลงทุนญี่ปุ่น ได้เห็นถึงศักยภาพของประเทศไทยในฐานะเป็นแหล่งน่าลงทุนในเอเชียอีกด้วย

สำหรับกิจกรรมในการเดินทางครั้งนี้ ประกอบด้วย การพบปะกับผู้บริหารของบริษัทรถยนต์ขนาดใหญ่ ได้แก่ บริษัท ฮอนด้า บริษัทมิตซูบิชิ และบริษัทโตโยต้า การจัดสัมมนาเพื่อหาแนวทางความร่วมมือในกิจกรรมและอุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ "Japan-Thailand Business Forum" ที่กรุงโตเกียว และการสัมมนาเรื่อง "Trade and investment Opportunities for Japanese SMEs in Thailand" ที่เมืองฟูกูโอกะ โดยมีรองนายกฯสมคิด เป็นประธานในการกล่าวสัมมนา นอกจากนี้ยังจัดสัมมนาขนาดเล็กตามเมืองต่างๆ ของญี่ปุ่น เช่น โอซากา ฟูกูโอกะ โยโกฮามา โอตะ และคาวาซากิ โดยมุ่งเน้นที่อุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดเล็ก

กิจกรรมการพบปะกับกลุ่มผู้บริหารญี่ปุ่นที่เคยทำงานในประเทศไทย (THAI OB) ธนาคารยักษ์ใหญ่ ของญี่ปุ่น 5 แห่ง ซึ่งเป็นพันธมิตรด้านการส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอ รวมทั้งหน่วยงานของญี่ปุ่นที่เกี่ยวข้องกับการให้ส่งเสริมเอสเอ็มอี และการถ่ายทอดทักษะและเทคโนโลยี ทั้งนี้จะขอความร่วมมือในการนำผู้เชี่ยวชาญที่เกษียณอายุแล้วมาถ่ายทอดทักษะความรู้ ตลอดจนเทคโนโลยีในการผลิตให้แก่ผู้ประกอบการไทย

นายสมพงษ์ยังกล่าวต่อไปว่า ระหว่างการพบปะกับหน่วยงานต่างๆ และนักธุรกิจของญี่ปุ่นนั้น จะใช้โอกาสในการสอบถามความคิดเห็น เกี่ยวกับการเข้ามาลงทุนในไทย พร้อมรับฟังข้อเสนอแนะต่างๆ เพื่อนำมาแก้ไขปรับปรุงให้สอดคล้องกับความต้องการของนักลงทุน และเสริมสร้างบรรยากาศในการลงทุนให้มีความพร้อมที่จะรับคลื่นการลงทุนลูกใหม่จากญี่ปุ่น--จบ--

-นห-