กุยบุรีจับมือสวทช.พัฒนากระบวนการผลิตผลิตน้ำผลไม้ "วาเลนเซีย"เอาใจคนรักสุขภาพ

11 Apr 2003

กรุงเทพฯ--11 เม.ย.--กุยบุรี

บริษัท กุยบุรีผลไม้กระป๋องฯ ทุ่มงบ 80 ล้าน ผุดแบรนด์ "วาเลนเซีย" ชิงแชร์น้ำผลไม้เพื่อสุขภาพ ฝันปีนี้ขอส่วนแบ่ง 40 ล้านบาทของตลาดน้ำผลไม้เพื่อสุขภาพที่มีมูลค่าสูงกว่า 1,400 ล้านบาท ตั้งเป้าเจาะกลุ่มเด็กอายุ 7-12 ปี และกลุ่มผู้ปกครองที่ต้องการให้ลูกหลานมีสุขภาพแข็งแรง

นายสมเกียรติ์ ชวลิตวรกุล กรรมการผู้จัดการบริษัท กุยบุรี ผลไม้กระป๋อง จำกัด เปิดเผยว่าหลังจากบริษัทได้รับความช่วยเหลือจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ

(สวทช.) ในโครงการสนับสนุนการวิจัย พัฒนาและวิศวกรรมภาคเอกชน หรือ CD ซึ่งมีบทบาทในการสนับสนุนด้านการเงินแก่อุตสาหกรรมไทย เพื่อส่งเสริมให้มีการนำเทคโนโลยีไปใช้ในการปรับปรุงและพัฒนาการผลิตให้มีสินค้าที่ได้มาตรฐานและมีคุณภาพสูงขึ้น ตลอดจนการทำวิจัยและพัฒนาเพื่อให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เข้าสู่ตลาดโลกสามารถปรับปรุงโครงสร้างการผลิตให้เป็นระบบสากล เพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่การแข่งขันในยุคโลกาภิวัฒน์ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนแล้ว ล่าสุดบริษัทได้เข้าไปขอรับความช่วยเหลือจากสวทช.อีก 3 โครงการ คือโครงการปรับปรุงกระบวนการผลิตน้ำสับปะรดเข้มข้น, โครงการผลิตน้ำสับปะรดเข้มขันจากเปลือก และโครงการพัฒนากระบวนการผลิตและการควบคุมคุณภาพผลไม้อบแห้ง

คุณสมเกียรติ์ กล่าวต่อว่า จากความช่วยเหลือ 3 โครงการ นับเป็นประโยชน์อย่างมากในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของกุยบุรี และส่งผลให้บริษัทมีความมั่นใจมากขึ้นในการผลิตสินค้าตัวใหม่ เพื่อรองรับความต้องการของตลาดที่หันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น เช่น คนนิยมดื่มน้ำอัดลมลดลง และมีเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพมากขึ้น บริษัทจึงตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคด้วยการเปิดตัวน้ำผลไม้รวม 100% "วาเลนเซีย" สำหรับเด็กอายุ 7-12 ปี เจาะกลุ่มผู้ปกครองที่ต้องการให้ลูกหลานมีสุขภาพแข็งแรง โดยทุมงบประมาณกว่า 80 ล้านบาท ลงทุนด้านเครื่องจักร และผลิตภัณฑ์ 40 ล้านบาท และงบด้านการตลาด 40 ล้านบาท โดยเน้นทำการตลาดต่างประเทศ 90% และ ภายในประเทศ 10% คาดว่าภายในปีนี้บริษัทจะมียอดขายประมาณ 40 ล้านบาท หรือส่วนแบ่งตลาดที่ 5% จากตลาดรวมรวมของน้ำผลไม้ที่มีสูงถึง 1,200-1,400 ล้านบาท เน้นเจาะตาดกลุ่มในกลุ่มโรงเรียนกรุงเทพมหานครทั้งหมด ด้วยการแจกตัวอย่างสินค้าฟรีเพื่อให้เด็กคุ้นเคยกับแบรนด์ "วาเลนเซีย" และสัญลักษณ์รูปช้างน้อย นอกจากนี้บริษัทยังมีแผนผลิตสินค้าประเภทผลไม้ หรืออาหารเพื่อสุขภาพต่อไปในอนาคต

ด้านนางสาวชมพูนุช อนุศาสน์สิทธิกิจ ที่ปรึกษาเทคโนโลยี โครงการโครงการสนับสนุนการวิจัย พัฒนาและวิศวกรรมภาคเอกชน สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) กล่าวว่า สวทช. ได้ให้ความช่วยเหลือบริษัทในรูปเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ในโครงการปรับปรุงกระบวนการผลิตน้ำสับปะรดเข้มข้น ซึ่งเป็นการปรับปรุงกระบวนการผลิตน้ำสับปะรดเข้มข้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ลดปริมาณการใช้ไอน้ำในกระบวนการผลิต ทำให้ต้นทุนต่อหน่วยลดลง นอกจากนี้ยังช่วยพัฒนาเครื่องจักรที่ใช้ในกระบวนการผลิต ได้แก่ การพัฒนาเครื่อง EVAPORATOR

ซึ่งประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการนี้คือทำให้กระบวนการผลิตน้ำสับปะรดเข้มข้นมีศักยภาพเพิ่มขึ้น โดยสามารถเพิ่มการผลิตจาก 3,900 ลิตรต่อชั่วโมง เป็น 6,864 ลิตรต่อชั่วโมง ทำให้ลดต้นทุนการผลิต และประหยัดพลังงานเป็นเงินถึง 1,732,500 บาทต่อปี

"ทั้งนี้เนื่องจากการผลิตสับปะรดกระป๋องจะเหลือเปลือกสับปะรดที่ต้องทิ้งไป ส่งผลให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ทางโรงงานจึงคิดทำโครงการผลิตน้ำสับปะรดเข้มข้นจากเปลือกสัปปะรดขึ้น เพื่อลดปริมาณของเสีย โดยเปลือกที่คั้นแล้วยังขายเป็นอาหารสัตว์ได้อีกด้วย"

การขอรับความช่วยเหลือครั้งนี้นอกจากจะช่วยเพิ่มในเรื่องของการส่งออกแล้ว ยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถและเสริมทักษะของบุคลากรในการพัฒนาและสร้างเครื่องจักรขึ้น ได้แก่ การสร้างเครื่องคั้นน้ำจากเปลือกและพัฒนาเครื่องระเหยของเหลวจาก 3 EFFECT เป็น 4 EFFECT และสามารถนำมาเป็นเชื้อเพลิง โดยนำเปลือกสับปะรดที่คั้นน้ำแล้วไปตากแห้ง ทำให้สามารถลดต้นทุนเชื้อเพลิงลงได้ถึง 50%"

นอกจากนี้ยังได้พัฒนาเครื่อง EVAPORATOR รุ่นใหม่ เพื่อใช้ในการพัฒนากระบวนการผลิตและควบคุมคุณภาพผลไม้อบแห้ง เนื่องจากเห็นว่ากระบวนการผลิตสับปะรดกระป๋อง มีแกนสับปะรดเป็นผลผลิตที่เหลืออยู่ บริษัทฯ จึงต้องการนำแกนสับปะรดที่เหลือจากกระบวนการผลิต ไปทำแกนสับปะรดอบแห้ง ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์แกนสับปะรด และส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งทั้ง 3 โครงการ เป็นประโยชน์อย่างมากในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และยังลดต้นทุนได้อีกเพราะบริษัทสามารถสร้างเครื่องมือด้วยต้นทุนต่ำ และราคาถูกกว่าเมืองนอกถึง 70% จึงทำให้บริษัทไม่จำเป็นต้องซื้อเครื่องจากต่างประเทศ อีกต่อไป ทั้งนี้ บริษัทกุยบุรีฯ เปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2535

เป็นอีกหนึ่งบริษัทที่นำผลไม้ไทยบุกตลาดโลกมากว่า 10 ปีแล้ว โดยเริ่มต้นมาจาก "สับปะรดกระป๋อง" ธรรมดา ๆ จนทุกวันนี้ทางบริษัทฯ สามารถนำทุกชิ้นส่วนของสับปะรดไม่ว่าจะเป็น เปลือก หรือ แกน นำมาพัฒนาจนสามารถส่งขายต่างประเทศได้ พร้อมทั้งพัฒนาเครื่อง EVAPORATOR เครื่องมือที่ใช้ผลิตน้ำสับปะรดเข้มข้น และยังสามารถดัดแปลงไปใช้ในการผลิตด้านอื่น ๆ ได้โดยไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ซึ่งสามารถลดต้นทุนการผลิตไปได้ไม่น้อยทีเดียว สำหรับวัตถุดิบบริษัทรับซื้อจากชาวบ้านถือเป็นการช่วยสนับสนุนภาคการเกษตรอีกทางหนึ่ง

ปัจจุบันบริษัท กุยบุรีฯ มีรายได้ประมาณ 1,000 ล้านบาท คนงาน 1,800 คน และได้รับ การประกันคุณภาพถึง 3 มาตรฐาน คือ มาตรฐาน GMP ซึ่งได้มาวันที่ 23 มิถุนายน 2542,มาตรฐาน HACCP เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2543 และมาตรฐาน ISO 9002 เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2544 โดยมีผลิตภัณฑ์ส่งออกไปทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐอเมริกา แคนาดา ยุโรป หรือประเทศในแถบเอเชียแปซิฟิก เช่น ญี่ปุ่น และไต้หวัน เป็นต้น--จบ--

-ศน-