สกว.ขอเชิญสื่อมวลชนร่วมฟังการเสวนาเรื่อง "SARS …มหันตภัยที่ไทยรับมือได้"

02 May 2003

กรุงเทพฯ--2 พ.ค.--สกว.

ระบุที่ผ่านมาสังคมไทยตื่นตัวและกังวลเรื่องโรคซาร์เพราะ "ความไม่รู้" ที่อาจลุกลามจนเป็นสถานการณ์ยากเกินควบคุม สมาคมวิทย์ฯจึงจัดเสวนาโรคซาร์ เพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับสังคมไทย และนำความร่วมมือเชิงวิชาการไปใช้กำหนดมาตรการและนโยบายที่เหมาะสมต่อไป

พร้อมกับการแพร่ระบาดของ "โรคซาร์" ในหลายประเทศ สิ่งที่ดูเหมือนจะกระจายตัวได้อย่างรวดเร็วยิ่งกว่าก็คือ "โรคกลัวซาร์"

การประชุมของผู้นำประเทศกลุ่มอาเซียนและสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา แม้จะมีการกำหนดกรอบความร่วมมือในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนทั่วไป แต่กรณีการให้ข่าวของญาติผู้ต้องสงสัยว่าป่วยเป็นโรค ก็สามารถสร้างความตื่นตระหนกให้กับคนไทยได้ไม่น้อย

รศ.ดร. กำจัด มงคลกุล จากสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ต้นตอของความหวาดระแวงโรคนี้ในคนไทยและสังคมไทยก็คือ "ความไม่รู้" เพราะจริง ๆ แล้วในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ถือว่าเรามีความเข้าใจเกี่ยวกับโรคใหม่ชนิดนี้มากขึ้นพอสมควร จากการทำงานร่วมกันของนักวิทยาศาสตร์ และนักวิจัยทั่วโลก และหากใครมีโอกาสได้ติดตามเรื่องนี้อย่างลึกซึ้ง ก็จะเกิดความเข้าใจ ไม่ตื่นตระหนก และพร้อมจะรับมือกับสิ่งที่จะเกิดทั้งในด้านบวกและด้านลบ

"ปัญหาก็คือ ข่าวสารที่ออกไปสู่สาธารณะ หลายครั้งเป็นการให้ข้อมูลเป็นส่วน ๆ ขาดความเชื่อมโยง และไม่มีคำอธิบายเพิ่มเติมเชิงวิชาการที่เหมาะสมและเกิดประโยชน์ต่อผู้รับสื่อ ซึ่งการที่ไม่สามารถทำให้ประชาชนและสังคมเกิดความรู้ที่ครบถ้วน และทันต่อเหตุการณ์ ก็ย่อมสร้างความกังวลให้กับคนในสังคม และหากภาวะของโรคไม่มีแนวโน้มที่ดีขึ้น จากความกังวลอาจกลายเป็นความกลัวที่ไร้เหตุผล และนำไปสู่สถานการณ์บางอย่างที่สร้างปัญหาอื่น ๆ ตามมาก็ได้ ซึ่งการสร้างความรู้ให้กับสังคมในประเด็นนี้ จึงถือเป็นความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการ"

ด้วยเหตุนี้ สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ในฐานะเป็นองค์กรเครือข่ายของนักวิทยาศาสตร์หลากหลายสาขา จึงได้จัดงานเสวนาเรื่อง "SARS …มหันตภัยที่ไทยรับมือได้" ขึ้น ในวันพุธที่ 8 พฤษภาคมนี้ เวลา 8.30-12.30 น. ณ ห้องกมลทิพย์ โรงแรมสยามซิตี้ เพื่อสร้างความเข้าใจเชิงวิชาการเกี่ยวกับโรคดังกล่าว

สำหรับรูปแบบการเสวนา จะแบ่งเป็น 2 ภาคด้วยคือ "ภาคระบาดวิทยาและชีววิทยาของ SARS" กับ "ภาคนโยบาย มาตรการ และผลกระทบจาก SARS" โดยในภาคแรกจะมีตั้งแต่สถานการณ์ล่าสุด, รู้จักโคโรนาไวรัส และความก้าวหน้าในการวินิจฉัย ส่วนในภาคที่สอง จะเป็นการให้ข้อมูลถึงระบบการเฝ้าระวัง, มาตรการในการรับมือของไทย และผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมไทย ซึ่งข้อมูลทั้งหมดจะเป็นประโยชน์ทั้งกับผู้เข้าร่วมสัมมนา และจะเป็นแนวทางเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการวางมาตรการรับมือที่เหมาะสมต่อไป

"ทางสมาคมฯเราหวังว่าการสัมมนาครั้งนี้ นอกจากจะสร้างความเข้าใจในเชิงวิชาการให้กับสังคมแล้ว ยังเป็นการเชื่อมโยงความรู้ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์ ที่จะนำไปสู่การกำหนดมาตรการป้องกันที่เหมาะสม รวมถึงสรุปบทเรียนนอกเหนือจากการมาให้ข้อมูลเชิงวิชาการจากผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขาแล้ว ยังจะเป็นเวทีสานความร่วมมือจากทุกฝ่าย เพื่อกำหนดแนวทางเพื่อสร้างความพร้อมด้านวิชาการในการรับมือกับโรค และสรุปบทเรียนที่ผ่านมาทั้งหมดในทุก ๆ ด้าน เพื่อสร้าง 'นวัตกรรมการจัดการ' และ 'นวัตกรรมด้านเทคโนโลยี' ในการป้องกันโรคซาร์และโรคติดเชื้ออื่น ๆ ต่อไป" รศ.ดร. กำจัด กล่าวสรุป

สำหรับผู้สนใจเข้าร่วมการสัมมนา กรุณาแจ้งไปที่สมาคมวิทยาศาตร์แห่งประเทศไทย โทรสาร.0-2644-8717 e-mail : [email protected] ภายในวันอังคารที่ 6 นี้เท่านั้น หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สมาคมฯ โทร.0-2644-9200, 0-2644-8715-6 ในเวลาราชการ

หัวข้อและวิทยากรการเสวนา "SARS …มหันตภัยที่ไทยรับมือได้"

(พฤ. 8 พ.ค. 46 เวลา 8.30-12.30 น. ห้องกมลทิพย์ รร.สยามซิตี้ ถ.ศรีอยุธยา) ภาคหนึ่ง : ระบาดวิทยาและชีววิทยาของ SARS (9.00-10.20 น.)

1) สถานภาพการแพร่ระบาดของโรคซาร์ทั่วโลกและในปัจจุบัน

รศ.นพ. วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ (ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยา) คณะแพทยศาสตร์ มอ.

2) ชีววิทยาและพฤติกรรมของโคโรนาไวรัสซาร์ส

ศ.นพ. ยง ภู่วรวรณ (ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ

3) ความก้าวหน้าของการตรวจวินิจฉัยโคโรนาไวรัสซาร์ส

ผศ.ดร. วสันต์ จันทราทิตย์ (ผู้เชี่ยวชาญด้านอณูพันธุศาสตร์) คณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี ภาคสอง : นโยบาย มาตรการ และผลกระทบจาก SARS (10.20-11.30 น.)

4) ระบบการเฝ้าระวังและการตอบสนองต่อไวรัสซาร์ส

ศ.นพ. จิตร สิทธีอมร (ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายสุขภาพ) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ จุฬาฯ

5) มาตรการของภาครัฐในการรับมือกับโรคซาร์สในประเทศไทย

นพ. ศุภมิตร ชุณห์สุทธิวัฒน์ (ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านเวชกรรมป้องกัน) กระทรวงสาธารณสุข

6) ผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสซาร์ส ต่อเศรษฐกิจและสังคมไทย

ดร.ฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ (ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ-สังคม) ประธาน TDRI

(ผู้สนใจ ติดต่อสำรองที่นั่งที่ โทร.0-2644-8715-6 e-mail : [email protected] ภายในอังคาร 6 พ.ค.)--จบ--

-พห-

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit