กรุงเทพฯ--31 ต.ค.--กรมสุขภาพจิต
พล.ต.อ. ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานในการแถลงข่าวงานสัปดาห์สุขภาพจิตแห่งชาติ 2545 “มหกรรมสร้างสุขด้วยรอยยิ้ม” ซึ่งจัดโดย กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ในระหว่างวันที่ 1-5 พฤศจิกายนนี้ ตั้งแต่เวลา 10.00 –21.00 น. ที่กรมสุขภาพจิต
พล.ต.อ.ประชา กล่าวว่า นโยบายภายใต้การบริหารงานของพล.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เน้นการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ส่งเสริมสุขภาพพลานามัยของประชาชน เพื่อให้ประชาชนทุกเพศทุกวัยมีสุขภาพแข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจ อันจะนำไปสู่การลดรายจ่ายเรื่องสุขภาพของประเทศและพี่น้องประชาชน โดยมุ่งไปยังการส่งเสริมสุขภาพพลานามัยเพื่อป้องกันโรคภัยไข้เจ็บไปจนถึงการเยียวยารักษา และการป้องกันรักษาความเจ็บป่วยทางจิตใจ ซึ่งฯพณฯนายกรัฐมนตรีได้เล็งเห็นความสำคัญและได้ให้เป็นนโยบายเร่งด่วนในการส่งเสริมสุขภาพกายและจิตใจของประชาชนตั้งแต่ระดับเด็กและเยาวชนไปจนถึงผู้ใหญ่ นอกจากมีสติปัญหาดี หรือ IQ ดีแล้วจะต้องมีอารมณ์ดี ที่เราเรียกว่าความฉลาดทางอารมณ์หรือ EQ ควบคู่ไปด้วย
พล.ต.อ.ประชา กล่าวอีกว่า การยิ้มจะช่วยทำให้คนสดชื่น สบายใจ และยังเป็นสัญลักษณ์ในการสร้างมิตรภาพ ทำให้โอกาสในการทะเลาะเบาะแว้งในสังคมก็จะมีน้อยลง และในสถานการณ์ย่ำแย่การยิ้มจะช่วยให้อารมณ์ของบุคคลนั้นดีขึ้นได้ตามหลักการวิทยาศาสตร์ที่ว่าการยิ้มทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนความเครียดน้อยลง สำหรับผู้ที่อยู่ในภาวะตึงเครียดของให้ตั้งสติ ควบคุมอารมณ์ ทำสมาธิเอาไว้ก็จะสามารถแก้ไขปัญหาข้างหน้าได้
ด้าน น.พ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ขณะนี้คนไทยเกิดความเครียดมากขึ้นจนน่าเป็นห่วง และจากรายงานของกรมสุขภาพจิตระบุว่าในปี 2540-2544 มีอัตราผู้ป่วยมาใช้บริการสาธารณสุขทั่วประเทศเพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกปี ซึ่งปัญหาการเจ็บป่วยทางจิตที่สำคัญ ได้แก่ โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า โรคปัญญาอ่อน โรคลมชัก ผู้ติดสารเสพติด การฆ่าตัวตายฯลฯ
นอกจากนั้นในส่วนของเด็กและเยาวชนไทย พบว่ามีปัญหาพัฒนาการด้านจิตใจของเด็กไทยในยุคปัจจุบันที่เห็นได้ชัดคือ เรื่องวัตถุนิยมในเด็กวัยรุ่น นอกจากนี้ในปัจจุบันประชาชนไทยยังมีทัศนคติต่อปัญหาสุขภาพจิตไม่ถูกต้องนัก ผู้ที่มีอาการป่วยทางจิตมักจะถูกมองหรือจำกัดอยู่แค่คนที่เป็นโรคประสาทหรือเป็นบ้าเท่านั้น ทั้งที่ความจริงแล้ว อาการเจ็บป่วยทางจิตมีอยู่มากมาย ตั้งแต่อาการเล็กๆน้อยๆ ไปจนถึงอาการขั้นรุนแรงที่ต้องได้รับการบำบัดดูแลจากจิตแพทย์อย่างใกล้ชิด
“การแก้ไขที่ถูกต้องและได้ผลในระยะยาวที่สุด จึงไม่ได้หมายถึงเฉพาะการดูแลรักษาผู้ป่วยของแพทย์ หากแต่เป็นการให้ความรู้เพื่อให้เกิดทัศนคติที่ถูกต้องสามารถดูแลสุขภาพจิตของตนเองและคนรอบข้าง เพื่อการดำเนินชีวิตที่มีความสุขในครอบครัว และนำไปสู่สังคมที่ทุกคนต่างมีสุขภาพจิตที่สดใส มีความสุขกันถ้วนหน้า ดังนั้นกรมสุขภาพจิตจึงจัดให้มีการรณรงค์ส่งเสริมให้ประชาชนเห็นความสำคัญของการพัฒนาสุขภาพจิต ซึ่งรวมถึงการจัดงานสุขภาพจิตแห่งชาติประจำปี 2545 นี้ด้วย ภายใต้แนวคิดหลักว่า “มหกรรมสร้างสุขด้วยรอยยิ้ม” โดยมีวัตถุประสงค์คือ สร้างการรับรู้และความเข้าใจ อันจะนำไปสู่การเกิดทัศนคติที่ถูกต้องต่อปัญหาสุขภาพจิตของกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งประกอบด้วย ครอบครัว ประชาชนทั่วไป และสื่อมวลชน เพื่อกระตุ้นให้เห็นความสำคัญในการดูแลสุขภาพจิตของตนเองและคนรอบข้าง ตลอดจนรู้จักสร้างภูมิคุ้มกันปัญหาสุขภาพจิตของตนเอง นอกจากนี้กรมมีแผนที่ขยายบริการด้านสุขภาพจิตให้ครอบคลุมทั่วประเทศต่อไป “ น.พ.ปราชญ์ กล่าว
ทั้งนี้ ภายในงานจะมีการจัดนิทรรศการให้ความรู้ การเสวนากึ่งวิชาการ และกิจกรรมรณรงค์เผยแพร่การให้บริการต่างๆของกรมสุขภาพจิต ตลอดจนกิจกรรมความบันเทิงต่างๆ อาทิ เก้าอี้คลายเครียด การประเมินและพัฒนา EQ การให้คำปรึกษาปัญหาโดยจิตแพทย์ การแสดงดนตรี--จบ--
-ตม-
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit