กรุงเทพฯ--27 พ.ย.--บสท.
บสท. แจงชัดบริษัท อิสเทิร์น เรียลเอสเตท ไม่ได้โอนมา บสท. ส่วนนายรอยที่โดน ศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เกี่ยวข้องกับบสท. ในฐานะผู้ค้ำประกันให้กับสยามแลนด์ โฮลดิ้ง (1990) และสยามพาวเวอร์แอนด์อิเล็คทริค บสท.จึงขอเข้าร่วมเฉลี่ยทรัพย์ด้วย เพื่อรักษาสิทธิ ระบุทำให้ บสท.ได้เงินเพิ่มขึ้นกว่า 65 ล้านบาท
นายสมเจตน์ หมู่ศิริเลิศ กรรมการผู้จัดการ บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.) เปิดเผยถึงกรณีที่มีข่าวว่า บสท. ได้ประนอมหนี้ให้กับนายรอย อิศราพร ชุตาภา และบริษัทอิสเทิร์น เรียลเอสเตท ที่มีมูลหนี้รวมกันกว่า 4,385.99 ล้านบาท ให้ลดเหลือเพียงร้อยละ 3 หรือ 131.57 ล้านบาท ทำให้ธนาคารรัฐอันประกอบด้วยธนาคารไทยธนาคาร บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ หรือ BAM ธนาคารนครหลวงไทย และธนาคารกรุงไทย ต้องเสียหายจากการประนอมหนี้ที่ผิดปกติครั้งนี้กว่า 3,100 ล้านบาท ว่าเรื่องดังกล่าวคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง โดยบริษัทอิสเทิร์น เรียลเอสเตท ไม่ได้เป็นลูกหนี้ที่โอนมาที่ บสท. ตามที่มีข่าวระบุในหนังสือพิมพ์ แต่อย่างใด
“ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นคือ นายรอย อิศราพร ชุตาภา ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ถึงแม้ว่านายรอยจะชี้แจงว่ามีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สินก็ตาม ซึ่งตามขั้นตอนหลังจากที่นายรอย ถูกฟ้องล้มละลายแล้ว เจ้าหนี้ที่เกี่ยวข้องจะขอเข้ามาเฉลี่ยทรัพย์ ทั้งนี้ บสท. ในฐานะที่เป็นเจ้าหนี้ในบริษัท สยามแลนด์โฮลดิ้ง(1990) จำกัด และบริษัทสยามพาวเวอร์แอนด์อิเล็คทริค จำกัดที่นายรอยเป็นผู้ค้ำประกัน จึงได้ขอเข้ามาเฉลี่ยทรัพย์ด้วย และจะได้รับชำระหนี้เป็นจำนวน 65 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5.25 ต่อปี โดยมีกำหนดระยะเวลาผ่อนชำระ 5 ปี” นายสมเจตน์กล่าว
นายสมเจตน์กล่าวต่อว่า“สำหรับในส่วนของบริษัท สยามแลนด์โฮลดิ้ง (1990) จำกัด และ บริษัทสยามพาวเวอร์แอนด์อิเล็คทริค จำกัด ที่ บสท.รับโอนมาจากไทยธนาคาร บบส. เพชรบุรี (PAM) บบส. กรุงเทพพาณิชย์ (BAM) และบริษัทเงินทุนกรุงศรีอยุธยา ซึ่งมีนายรอยเป็น ผู้ค้ำประกันนั้น มีภาระหนี้ตามบัญชี รวมประมาณ 2,150 ล้านบาท ทั้งนี้คณะกรรมการบริหาร บสท. ได้มีมติอนุมัติปรับโครงสร้างหนี้เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2545 โดยสาระที่สำคัญของแผน ฯ คือ ลูกหนี้จะตีโอนหลักประกันที่เป็นที่ดิน และหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่ง ประเทศไทยให้ บสท. (ในกรณีที่ราคาหุ้นดังกล่าวต่ำกว่าราคาปิดครั้งสุดท้ายก่อนพักการซื้อขาย ผู้ค้ำประกันต้องชำระส่วนต่างทั้งหมด) และดำเนินการขายหุ้นที่เป็นหลักประกันนอก ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในราคาที่ไม่น้อยกว่าที่กำหนดเพื่อนำเงินสดมาชำระหนี้คืนให้ บสท. และผู้ค้ำประกันทั้ง 3 ราย ต้องทำหนังสือแสดงรายการทรัพย์สินเพื่อยืนยันว่าไม่มีความสามารถในการชำระหนี้เพิ่มเติม แต่หากภายหลังในระยะเวลา 3 ปี บสท.ตรวจพบว่ามีทรัพย์สิน อื่นใดเพิ่มเกินกว่าที่แสดงไว้ให้ถือว่าแผนการชำระหนี้ตามเงื่อนไขข้างต้นนี้เป็นที่ยุติ และให้ ภาระหนี้ทั้งหมดกลับคืนสู่สภาพเดิม”
สำหรับ บริษัท สยามแลนด์โฮลดิ้ง (1990) จำกัด และบริษัทสยามพาวเวอร์แอนด์อิเล็คทริค จำกัด ทั้งสองรายนี้ เป็นบริษัท โฮลดิ้ง คอมปานี ไม่มีการดำเนินธุรกิจแต่อย่างใด และผู้ค้ำประกันได้แสดงข้อมูลว่ามีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน จึงไม่สามารถชำระหนี้ได้ โดยในการปรับ โครงสร้างหนี้ที่เกิดขึ้น บสท.ได้หารือกับเจ้าหนี้ที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด ตามแผน ฯ ดังกล่าว บสท. จะได้รับชำระหนี้รวมประมาณ 676 ล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ ร้อยละ 160 ของราคารับโอน จึงเท่ากับ บสท. ไม่มีส่วนสูญเสียจากการปรับโครงสร้างหนี้ดังกล่าว ทั้งนี้ถ้าพิจารณาตามข้อเท็จจริงที่กล่าวมา จะพบว่าถ้า บสท. ไม่รับแผน ฯ ดังกล่าว บสท. จะได้รับเงินชำระคืนน้อยกว่านี้ และยิ่งไปกว่านั้นการที่ บสท. ขอเข้าเฉลี่ยทรัพย์จากการที่นายรอยถูกศาล สั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ทำให้ บสท.ได้รับเงินเพิ่มจากแผน ฯ ที่อนุมัติไปอีกประมาณ 65 ล้านบาท รวมเป็นเงินที่ บสท. จะได้รับชำระจากบริษัท สยามแลนด์โฮลดิ้ง (1990) จำกัด และบริษัท สยามพาวเวอร์แอนด์อิเล็คทริค จำกัด จำนวนประมาณ 740 ล้านบาท--จบ--
-ตม-
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit