กรุงเทพฯ--30 ก.ย.--ททท.
ททท. สร้างมิติในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เน้นบทบาทสำคัญของการพัฒนาเพื่อการท่องเที่ยวยั่งยืน จากการดำเนินงานจัดประกวดรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ครั้งที่ 4 มีเจ้าของผลงานในประเทศที่ผ่านการคัดเลือก จำนวน 34 ผลงานรับรางวัลทัวริสซึ่ม อวอร์ด รวมกับ 88 รายจากต่างประเทศในกลุ่มรางวัลเฟรนด์ ออฟ ไทยแลนด์ และรางวัลมัคคุเทศก์ดีเด่นประจำปี 2545 อีก 14 รางวัล
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการ ททท. เป็น ประธานในพิธีมอบรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ครั้งที่ 4 ประจำปี 2545 หรือรางวัลทัวริสซึ่ม อวอร์ด ซึ่งจัดขึ้นในตอนค่ำวันนี้ ที่ห้องเพลนนารี 1 และ 2 ภายในศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยในปีนี้ได้รับความร่วมมือจากผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากหลายหน่วยงานในฐานะคณะทำงาน ร่วมกันปรับปรุงให้การมอบรางวัลมีความชัดเจน เหมาะสมยิ่งขึ้น และยังได้พิจารณาเพิ่มรางวัลแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เชิงเกษตร และประเภทเส้นทางทิวทัศน์ เพื่อให้เป็นกิจกรรมร่วมเฉลิมฉลองปีการท่องเที่ยวเชิงนิเวศนานาชาติ อีกทั้ง การจัดงานประกวดรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในปีนี้ ได้กำหนดให้ตรงกับวันท่องเที่ยวโลก 27 กันยายน เพื่อจะแสดงให้ประชาคมโลกได้เห็นว่าประเทศไทยก็มีความตระหนักถึงความสำคัญของการท่องเที่ยวที่มีต่อสังคม วัฒนธรรม การเมือง และเศรษฐกิจของโลกด้วยเช่นกัน
ผลการตัดสินรางวัลทัวริสซึ่ม อวอร์ด มีผู้ผ่านการพิจารณาเข้ารับรางวัล 34 รายในแต่ละ ประเภทดังนี้ ประเภทแหล่งท่องเที่ยวทางศิลปวัฒนธรรม รางวัลดีเด่น ได้แก่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์ จ.ลพบุรี ประเภทแหล่งท่องเที่ยวเพื่อนันทนาการ รางวัลยอดเยี่ยม ได้แก่ ภูเก็ตแฟนตาซี ประเภทแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ รางวัลยอดเยี่ยม ได้แก่ งานพัฒนาโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง (ป่าพรุโต๊ะแดง) จ.นราธิวาส และรางวัลดีเด่น ได้แก่ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์(เส้นทางศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปาน) จ.เชียงใหม่ ประเภทแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร รางวัลยอดเยี่ยม ได้แก่ งานวิชาการเกษตร ศูนย์ศึกษาพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เพชรบุรี รางวัลดีเด่น 3 รางวัล ได้แก่ ศูนย์ส่งเสริมเกษตรท่องเที่ยวช้างกลาง จ.นครศรีธรรมราช
ศูนย์ศึกษาพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ฉะเชิงเทรา และกลุ่มบริษัทฟาร์มโชคชัย จ.นครราชสีมา ประเภทที่พักนักท่องเที่ยว แบบโรงแรมในเมือง รางวัลยอดเยี่ยม ได้แก่ บันยันทรี กรุงเทพฯ รางวัลดีเด่น 2 รางวัล ได้แก่ แมริออท รีสอร์ท แอนด์ สปา(กรุงเทพฯ)และสยาม เบย์วิว พัทยา ประเภทที่พักนักท่องเที่ยวแบบประชุมสัมมนา รางวัลดีเด่น ได้แก่ โซฟิเทล ราชา ออคิด ขอนแก่น ประเภทที่พักนักท่องเที่ยวแบบที่พักตากอากาศ รางวัลดีเด่น 4 รางวัล ได้แก่ โซฟิเทล เซ็นทรัล หัวหิน รีสอร์ท รอยัลคลิฟ บีช รีสอร์ท สวนทิพย์วนา รีสอร์ท และลากูน่า รีสอร์ท แอนด์ โฮเท็ล ประเภทรายการนำเที่ยว สำหรับตลาดนักท่องเที่ยวภายในประเทศ รางวัลดีเด่น ได้แก่ ไบท์ แอนด์ ทราเวิล ประเภทรายการนำเที่ยว สำหรับตลาดนักท่องเที่ยวต่างประเทศ รางวัลดีเด่น 3 รางวัล ได้แก่ บริษัท ริเวอร์ซันครูส จำกัด อาร์.เอส.พี.จัมโบ้ แทรเวล เซ็นเตอร์ บริษัท ไนท์สปอทฮอลิเดย์ จำกัด ประเภทรายการนำเที่ยว ดำน้ำทะเล รางวัลยอดเยี่ยม ได้แก่ บริษัท ได๊ฟ มาสเตอร์ จำกัด รางวัลดีเด่น ได้แก่ ชุมพร คาบาน่า รีสอร์ทและศูนย์กีฬาดำน้ำ ประเภทองค์กรส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยว รางวัลยอดเยี่ยม ได้แก่ ศูนย์การทหารราบ ค่ายธนะรัชต์ รางวัลดีเด่น 2 รางวัล ได้แก่ ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย และศูนย์ศึกษาพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ประเภทโครงการส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยว รางวัลยอดเยี่ยม ได้แก่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร รางวัลดีเด่น 2 รางวัล ได้แก่ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร และชมรมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์เกาะยาวน้อย จ.พังงา ประเภทสื่อสารและประชาสัมพันธ์ สื่อสิ่งพิมพ์มวลชน รางวัลยอดเยี่ยม ได้แก่ นิตยสารแอ็ดว้านซ์ ไทยแลนด์ จีโอกราฟฟิค เรื่อง “ที่สุดในโลก ที่สุดแห่งลำคลองงู” รางวัลดีเด่น 2 รางวัล ได้แก่ นิตยสารเนเจอร์ เอ็กพลอเรอร์ เรื่อง “ลันตา จากเมืองท่าสู่เมืองเที่ยว” และนิตยสารแอ็ดว้านซ์ ไทยแลนด์ จีโอกราฟฟิค เรื่อง “กว่าจะเป็นอุทยานหมู่เกาะระ- หมู่เกาะพระทอง” สื่อสิ่งพิมพ์เฉพาะกิจ รางวัลดีเด่น ได้แก่ บริษัท ไพร์ม มีเดีย จำกัด เรื่อง “สีชัง อัญมณีเม็ดงามแห่งทะเลไทย” สื่ออินเตอร์เน็ต รางวัลยอดเยี่ยม ได้แก่ www.talaythai.com และ www.sabuy.com
ในส่วนของรางวัลเฟรนด์ ออฟ ไทยแลนด์ ที่จะมอบให้กับมิตรประเทศที่เป็นพันธมิตรอันดียิ่ง ต่อการประชาสัมพันธ์ และส่งเสริมการขายประเทศไทยมาโดยตลอด ซึ่งรางวัลนี้ได้จัดแบ่งเป็น 4 ประเภท คือ ประเภทบุคคลที่ทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศไทย 22 ราย จาก 18 ประเทศและกลุ่มบุคคลอีก 3 ประเทศ ประเภทสื่อมวลชนต่างประเทศ 30 ราย จาก 21 ประเทศ ประเภทบริษัทนำเที่ยวต่างประเทศ 30 ราย จาก 21 ประเทศ และประเภทสายการบินจาก 3 ประเทศ รวมทั้งสิ้น 88 รางวัล ขณะเดียวกันมัคคุเทศก์ ก็ถือได้ว่าเป็นบุคคลสำคัญที่ทำหน้าที่แนะนำสิ่งที่ดีงามและช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศไปสู่นักท่องเที่ยว ททท.จึงได้จัดทำรางวัลสำหรับมัคคุเทศก์ขึ้นเพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติ โดยแบ่งออกเป็น รางวัลมัคคุเทศก์ดีเด่นตามประเภทของใบอนุญาต (ภาษาต่างประเทศ) รางวัลมัคคุเทศก์ดีเด่นประจำภาค รางวัลมัคคุเทศก์ดีเด่นเฉพาะเฉพาะพื้นที่ และรางวัลมัคคุเทศก์ ยอดเยี่ยม รวมจำนวนทั้งสิ้น14 รางวัล
สำหรับบรรยากาศของการจัดพิธีมอบรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ครั้งที่ 4 ในวันนี้ ได้ตกแต่งเพื่อนำเสนอความเป็นไทย อาทิ หัตถกรรม ประเพณี ธรรมชาติ การละเล่น มรดกแผ่นดินและผลไม้ไทย และมีการฉายวีดีทัศน์ บอกรักจากเมืองไทย และการแสดงพิเศษ ชุด “กินรี และสีสันแห่งสายน้ำ” อันเป็นที่มาของรางวัลดังกล่าว ที่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อสร้างการแข่งขันในเชิงคุณภาพและบริการ และเป็นสื่อถึงมาตรฐานการจัดการด้านอนุรักษ์พัฒนาที่เป็นไปตามทิศทางการท่องเที่ยวโลก โดยนานาประเทศต่างให้การยอมรับ
กองประชาสัมพันธ์ ททท. โทรศัพท์ 0-2694-1222 ต่อ 1535-9 โทรสาร 0-2694-1324--จบ-- -ศน-
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit