กรุงเทพฯ--30 ก.ย.--สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
สกว.หนุนงานวิจัยไทยวิเคราะห์ SME ตามแนวพระราชดำริ โดยยึดแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “เศรษฐกิจพอเพียง” ภายใต้หลักเศรษฐกิจพอเพียง ตามหลักธรรมาภิบาล พร้อมสานงานวิจัยต่อในอนาคตถึงอุตสาหกรรมส่งออกต้องปรับตัวมากขึ้น หาพันธมิตรสร้างยุทธศาสตร์ แข่งขันกับธุรกิจข้ามชาติ โดยไม่เสียหลักการเศรษฐกิจพอเพียง
(สามารถดาวน์โหลดเนื้อหาเพิ่มเติมได้ที่ http://pr.trf.or.th)
จากบทเรียนที่คนไทยได้รับในช่วงปี 2540 หรือภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่แตก ทำให้หลายคนต้องปรับตัวเพื่อดำรงชีวิตในช่วงนั้นต่อไปให้ได้ ซึ่งรวมถึงอุตสาหกรรมบางประเภทก็ต้องเร่งหาทางแก้ไขเพื่อความอยู่รอดด้วยเช่นกัน และเพื่อช่วยภาคอุตสาหกรรมไทยให้สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จึงสนับสนุนให้ศ.ดร.อภิชัย พันธเสน อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พัฒนางานวิจัยเรื่อง “การวิเคราะห์อุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง” เพื่อแสดงให้เห็นว่า พระราชดำรัสเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงเสนอแนวคิดเรื่อง “เกษตรทฤษฎีใหม่” ตั้งแต่ปี 2537 ซึ่งเป็นหนึ่งในหลักของเศรษฐกิจพอเพียง ประกอบด้วยวิธีการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของเกษตรกรรายย่อย ด้วยการเน้นการทำเกษตรเพื่อบริโภคเองภายในครอบครัวก่อน หากเหลือจึงรวมกลุ่มกันจำหน่ายหรือแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้า แต่เนื่องจากทฤษฎีใหม่มีรูปแบบที่เน้นแนวทางการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของเกษตรกรรายย่อยเป็นสำคัญ ทำให้มีความเข้าใจไม่ชัดเจนว่า จะนำเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้เพื่อกำหนดเป็นทิศทางในการพัฒนาประเทศได้อย่างไร
ทั้งนี้ งานวิจัยนี้ชี้ให้เห็นว่า แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงนั้นสามารถประยุกต์ใช้ได้กับเศรษฐกิจทุกสาขาโดยเฉพาะการประยุกต์เศรษฐกิจพอเพียงเข้ากับเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรม ซึ่งพระองค์ทรงมีตัวอย่างที่ไม่มากพอ จึงทำให้หลายฝ่ายยังไม่เห็นภาพชัดเจนว่า จะนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ได้อย่างไร อย่างไรก็ตามจากการที่ได้ศึกษาพระราชดำรัสที่ได้พระราชทานไว้ในโอกาสต่างๆ กอปรกับศึกษาโครงการส่วนพระองค์จิตรลดาและสหกรณ์โคนมหนองโพราชบุรี จำกัด (ในพระบรมราชูปถัมภ์) ทำให้ได้ข้อสรุปชัดเจนถึงหลักการที่นำไปประยุกต์ใช้ในการจัดการธุรกิจได้ 9 ประการคือ
1. ใช้เทคโนโลยีที่ถูกหลักวิชาการแต่มีราคาถูก
2. ใช้ทรัพยากรทุกชนิดอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพสูงสุด
3. เน้นการจ้างงานเป็นหลัก โดยไม่นำเทคโนโลยีมาทดแทนแรงงาน ยกเว้นในกรณีที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผลิตภัณฑ์
4. มีขนาดการผลิตที่สอดคล้องกับความสามารถในการบริหารจัดการ
5. ไม่โลภมากจนเกินไปและไม่เน้นกำไรระยะสั้น
6. ซื่อสัตย์สุจริตในการประกอบการ ไม่เอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค แรงงานหรือลูกค้า
7. เน้นการกระจายความเสี่ยงจากการมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายและ/หรือ มีความสามารถในการปรับเปลี่ยนผลผลิตได้
8. เน้นการบริหารความเสี่ยงต่ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่ก่อหนี้จนเกินความสามารถในการบริหารจัดการ และ
9. เน้นการใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นเป็นสำคัญ
ศ.ดร.อภิชัย กล่าวว่าผลการศึกษาปรากฏว่า วิกฤตเศรษฐกิจอุตสาหกรรมทุกขนาดและทุกประเภท ได้คะแนนเฉลี่ยอยู่ในเกณฑ์ดี (B) ตามหลักเกณฑ์ของเศรษฐกิจพอเพียง แต่ภายหลังจากผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจไปแล้ว อุตสาหกรรมทุกขนาดทุกประเภทจะมีค่าเฉลี่ยของดัชนีเศรษฐกิจพอเพียงลดลงหรือปรับมาอยู่ในระดับ (C) ยกเว้นอุตสาหกรรมสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม และเครื่องหนัง ซึ่งสาเหตุของความแตกต่างคือ ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมส่วนใหญ่จะเน้นการปรับขนาดการผลิตให้สอดคล้องกับความสามารถในการบริหารจัดการ โดยได้คะแนนสูงกว่าค่าเฉลี่ย (B+ ถึง A-) เน้นความซื่อสัตย์ต่อผู้บริโภค ไม่เอารัดเอาเปรียบแรงงานและลูกค้า ตลอดจนไม่เอารัดเอาเปรียบผู้จำหน่ายวัตถุดิบ โดยได้คะแนนเฉลี่ย B+ เนื่องจากต้องการเห็นความอยู่รอดร่วมกันของทุกฝ่าย และสุดท้ายคือเน้นการบริหารที่มีความเสี่ยงต่ำ โดยเฉพาะการไม่ก่อหนี้จนเกินขีดความสามารถในการบริหารจัดการแต่ภายหลังวิกฤตเศรษฐกิจ บริษัทอุตสาหกรรมมีคะแนนโดยเฉลี่ยลดลงเป็น C+ เพราะอุตสาหกรรมลดความซื่อสัตย์สุจริตต่อผู้บริโภคไม่เอารัดเอาเปรียบแรงงานและลูกค้า ตลอดจนไม่เอารัดเอาเปรียบผู้จำหน่ายวัตถุดิบลงแต่จะหันมาทำกำไรเพื่อการสะสมทุนหรือขยายตัวแทน ลดหลักการในเรื่องปรับขนาดการผลิตให้สอดคล้องกับความสามารถในการบริหารจัดการโดยการขยายการผลิตเพื่อลดต้นทุนต่อหน่วย แต่ยังคงยึดหลักการบริหารความเสี่ยงต่ำโดยเน้นการใช้ทุนภายในเป็นหลักเหมือนเดิม ซึ่งอาจสรุปได้ว่า หลักสำคัญในการช่วยอุตสาหกรรมเหล่านี้ให้รอดพ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจ เนื่องมาจากการเน้นการบริหารความเสี่ยงต่ำ โดยสอดคล้องกับผลการศึกษาของธุรกิจที่ได้กลายเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ส่วนใหญ่เกิดจากการใช้ทุนจากภายนอกมากเกินไป เป็นทุนระยะสั้นดอกเบี้ยสูง รวมทั้งยังใช้ทุนดังกล่าวไปในทางที่ผิดวัตถุประสงค์ เช่น นำไปซื้อทรัพย์สินเพื่อเก็งกำไรหรือเอาไปซื้อหรือขายที่อยู่อาศัย
สำหรับประเด็นสำคัญที่ควรตั้งเป็นข้อสังเกตคือ อุตสาหกรรมที่เน้นการส่งออกหรือมีสัดส่วนของตลาดต่างประเทศสูงจะมีคะแนนตามเกณฑ์ของเศรษฐกิจพอเพียงต่ำลง เป็นการสะท้อนให้เห็นว่า หลักการเศรษฐกิจพอเพียงอาจจะประยุกต์ใช้ได้ไม่ดีกับอุตสาหกรรมที่เน้นการส่งออกเป็นสำคัญ เช่น สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม และเครื่องหนัง เป็นต้น
ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งคือ เศรษฐกิจพอเพียงได้ครอบคลุมหลักการของบรรษัทภิบาล (good corporate governance) เน้นความเป็นธรรมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ความโปร่งใสการบริหาร และมีคุณธรรม แต่เศรษฐกิจพอเพียงได้ก้าวไปไกลกว่าที่เน้นการบริหารจัดการอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อพัฒนาที่ยั่งยืนของอุตสาหกรรมของประเทศโดยส่วนรวม ดังนั้นในกรณีของประเทศไทยจึงควรเน้นการดำเนินธุรกิจในแนวเศรษฐกิจพอเพียงแทนที่จะตามแนวคิดบรรษัทภิบาลซึ่งเป็นแนวคิดที่มีรากฐานจากอารยธรรมตะวันตก
อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอแนะสำหรับการวิจัยที่ควรจะทำต่อไปคือ ทำอย่างไรจึงจะทำให้อุตสาหกรรมที่เน้นการส่งออกมีวิธีการปรับตัวได้มากขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องเสียหลักการของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างเช่นข้อเสนอของสหกรณ์โคนมหนองโพราชบุรี จำกัด (ในพระบรมราชูปถัมภ์) ที่เสนอให้มีการจัดตั้งบริษัทลูกโดยร่วมทุนกับต่างประเทศ (venture capital) หรือหาพันธมิตรในทางยุทธศาสตร์ (strategic partner) เพื่อให้สามารถแข่งขันกับธุรกิจข้ามชาติได้โดยไม่จำเป็นต้องเสียหลักการของเศรษฐกิจพอเพียง
นอกจากนี้ข้อเสนออีกประการคือ ทำอย่างไรจึงจะนำเอาการประยุกต์ใช้ทฤษฎีใหม่ร่วมกับการประยุกต์เศรษฐกิจพอเพียงในภาคอุตสาหกรรมเพื่อนำไปกำหนดเป็นนโยบายและทิศทางในการพัฒนาประเทศ ตามที่ปรากฏในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 9 (2545-2549) และพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่จะตามมาต่อไป เพื่อปรับทิศทางการพัฒนาประเทศของไทยให้เป็นไปตามแนวทางพระราชดำรัสเศรษฐกิจพอเพียงอย่างแท้จริง--จบ-- -ศน-
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit