กรุงเทพฯ--2 ต.ค.--บีโอไอ
บีโอไอพร้อมรับการปฏิรูประบบราชการไทย ปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ สอดรับกับยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนยุคใหม่ มุ่งเน้นส่งเสริมการลงทุนโครงการที่มีคุณค่าต่อเศรษฐกิจของประเทศและสนับสนุนเอสเอ็มอี ตลอดจนการอำนวยความสะดวกและแก้ไขปัญหาแก่นักลงทุน
นายสมพงษ์ วนาภา เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยถึงการเตรียมการปรับโครงสร้างองค์กรของบีโอไอว่า การปรับองค์กรในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การดำเนินงานของบีโอไอเป็นไปตามยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนใหม่ 7 ประการ ซึ่งจะมุ่งเน้นการตอบสนองต่อความต้องการของนักลงทุนในยุคปัจจุบัน โดยการอำนวยความสะดวกและบริการที่รวดเร็วลดขั้นตอนที่ยุ่งยาก มีการติดตามและแก้ไขปัญหาของนักลงทุน ตลอดจนมุ่งเน้นการทำตลาดเชิงรุกเพื่อให้ได้มาซึ่งการลงทุนที่มีคุณค่าต่อเศรษฐกิจของประเทศ
นอกจากนี้ จะให้ความสำคัญกับการส่งเสริมอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี ให้มีการเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่และเชื่อมโยงกับต่างประเทศ เพื่อให้ได้มาซึ่งทักษะความรู้ การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการเข้าถึงตลาดทั้งในและต่างประเทศ โดยบีโอไอจะทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงาน เพื่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างองค์กรภาครัฐและเอกชน ในการสนับสนุนกิจการเอสเอ็มอี รวมถึงวิสาหกิจชุมชนด้วย
"การปรับโครงสร้างครั้งนี้ จะสามารถใช้ได้ทันทีที่กฎหมายปฏิรูปราชการประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา ซึ่งจะทำให้งานของบีโอไอตอบรับความต้องการของนักลงทุนได้ดียิ่งขึ้น โดยจะนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ เพื่อลดงานเอกสารให้น้อยลง และปรับกฎเกณฑ์ต่างๆ ให้เข้าใจง่ายและมีความสะดวกรวดเร็ว " เลขาธิการบีโอไอกล่าว
นายสมพงษ์กล่าวว่า การปรับโครงสร้างของบีโอไอจะมีกองสิทธิประโยชน์ที่ดูแลการส่งเสริมการลงทุนครอบคลุมทุกกลุ่มอุตสาหกรรมเหมือนเดิม แต่จะมีการลดกองสิทธิประโยชน์จากเดิม 7 กองเป็น 5 กอง เพื่อเกลี่ยกำลังคนไปใช้ปฏิบัติภารกิจใหม่ตามยุทธศาสตร์ใหม่ของบีโอไอดังนี้ กองบริหารสิทธิและประโยชน์ 1 รับผิดชอบด้านอุตสาหกรรมเกษตรและผลิตผลการเกษตร กองบริหารสิทธิและประโยชน์ 2 รับผิดชอบด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ แร่ โลหะ กองสิทธิและประโยชน์ 3 รับผิดชอบด้านอุตสาหกรรมไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ กองบริหารสิทธิและประโยชน์ 4 รับผิดชอบด้านอุตสาหกรรมเคมี กระดาษ พลาสติก และอุตสาหกรรมเบา และกองสิทธิและประโยชน์ 5 รับผิดชอบด้านอุตสาหกรรมบริการ
นอกจากนี้ บีโอไอได้จัดตั้งกองงานขึ้นมาใหม่อีก 3 กอง ประกอบด้วย 1. กองประสานการ ลงทุนทำหน้าที่อำนวยความสะดวก และประสานงานกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อเสริมสร้างปัจจัยเกื้อหนุนการลงทุน เช่น ด้านทรัพยากรมนุษย์ ตลอดจนการแก้ไขและบรรเทาปัญหาของนักลงทุน 2. กองการตลาดเพื่อการลงทุน ซึ่งจะทำหน้าที่ในการกำหนดยุทธศาสตร์ด้านการตลาด ในการชักจูงการลงทุนในเชิงรุก ทั้งในและต่างประเทศ
3. กองสารสนเทศการลงทุน มีหน้าที่ในการพัฒนาและจัดทำระบบฐานข้อมูล และมีการตั้งกลุ่มสนับสนุนกลยุทธ์ผู้บริหาร ทำหน้าที่ในการพัฒนาบุคลากรของบีโอไอ ให้มีประสิทธิภาพในการให้บริการแก่นักลงทุน
สำหรับกองงานอื่นๆ ของบีโอไอ มีการเปลี่ยนแปลงชื่อตามบทบาทใหม่ อาทิ กองแผนงานและพัฒนาเปลี่ยนมาเป็นกองยุทธศาสตร์และนโยบายการลงทุน มีหน้าที่ในการจัดทำแผนงานและกลยุทธ์การลงทุนของบีโอไอ ส่วนกองที่เหลือ ยังใช้ชื่อเดิม เช่น ศูนย์บริการลงทุน มีหน้าที่ในการให้คำปรึกษาแก่นักลงทุนในเรื่องการจัดตั้งกิจการและประกอบธุรกิจในไทย กองการต่างประเทศ และสำนักงานเลขานุการกรม
"บีโอไอได้ระดมความคิดเจ้าหน้าที่ของสำนักงานทุกระดับหลายครั้ง รวมทั้งการจัดทำการประชุมเชิงปฏิบัติการ(Workshop) ว่าด้วยยุทธศาสตร์การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและการลงทุน และการประชุมว่าด้วยยุทธศาสตร์เพื่อการแข่งขันทางเศรษฐกิจไทยภายใต้สถานการณ์ใหม่ของเศรษฐกิจโลก โดยมี ฯพณฯนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ก่อนที่จะจัดทำแผนยุทธศาสตร์การลงทุน โดยมุ่งการปรับปรุงยุทธศาสตร์ให้สอดรับกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและความต้องการของนักลงทุนในปัจจุบัน ซึ่งการปรับโครงสร้างของบีโอไอในครั้งนี้นับว่าสอดรับกับนโยบายการปฏิรูประบบราชการของรัฐบาล โดยตั้งแต่ตั้นปีนี้มา บีโอไอได้ดำเนินการลดขั้นตอนของกฎระเบียบ รวมทั้งเพิ่มการอำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนมาอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มมาตั้งแต่ต้นปีนี้ บีโอไอจึงถือเป็นหน่วยงานราชการหน่วยแรกๆ ที่มีการปรับองค์กรขานรับกับการปฏิรูประบบราชการไทย " เลขาธิการบีโอไอกล่าว--จบ-- -ศน-
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit