กรุงเทพฯ--22 ต.ค.--สธ.
สถานภาพและสิทธิประโยชน์ของข้าราชการที่ถ่ายโอนไปองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น
ข้าราชการที่ถ่ายโอนไปทำงานในท้องถิ่นจะมีสถานภาพเป็นข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น มีฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐเช่นเดียวกับข้าราชการสังกัดส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ซึ่งโดยหลักการจะได้รับเงินเดือนไม่ต่ำกว่าทีได้รับในปัจจุบัน ผนวกกับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการเช่นเดียวกับที่ข้าราชการได้รับ
สำหรับสิทธิประโยชน์ที่มีความแตกต่างบางเรื่อง เช่น เงินกองทุน กบข. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกากำลังเสนอแก้ไขโดยขยายคำว่า "ข้าราชการ"ให้ครอบคลุมถึงข้าราชการที่ถ่ายโอนไปท้องถิ่นด้วย เพื่อให้มีความเท่าเทียมกันต่อไป นอกจากนี้บางท้องถิ่นอาจจัดสรรประโยชน์ตอบแทนอ่นนอกเหนือจากที่กำหนดก็ได้ เช่น เงินบำเหน็จลูกจ้างประจำ เงินสมทบกองทุนประกันสังคม เป็นต้น
การโอนย้ายของข้าราชการส่วนภูมิภาคไปองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น
ข้าราชการส่วนภูมิภาคสามารถโอนย้ายไปท้องถิ่นได้ 2 กรณี คือ
1. กรณีโอนตามภารกิจที่ถ่ายโอนตามแผนปฏิบัติการกำหนดขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งต้องดูว่างานหรือภารกิจใดต้องกระจายไปให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยดูระยะเวลาตามที่แผนปฏิบัติการฯกำหนด
2. กรณีโอนปกติ หากข้าราชการส่วนภูมิภาคประสงค์จะถ่ายโอนไปท้องถิ่นสามารถไปติดต่อหาข้อมูลตำแหน่งว่างและความต้องการของท้องถิ่นที่ต้องการไป หากมีตำแหน่งว่างและท้องถิ่นประสงค์จะรับก็ขอโอนออกจากส่วนราชการที่สังกัดตามกรณีโอนปกติ การเข้ารับการพัฒนาเพื่อเปลี่ยนงานทีศูนย์พัฒนาและถ่ายโอนบุคลากรภาครัฐ ข้าราชการสามารถแสดงความจำนงที่หน่วยงานการเจ้าหน้าที่ของส่วนราชการที่สังกัด เพื่อขอเข้ารับการพัฒนาและถ่ายโอนไปหน่วยงานอื่น ทั้งนี้สามารถขอข้อมูลรายละเอียดได้ที่สำนักงาน ก.พ.
หากต้องการสอบถามเรื่องอื่นๆ เกี่ยวกับการปฏิรูประบบราชการ สามารถติดต่อได้ที่ โทร.1598, 0-2281-3333 หรือ www.thaireform.com)--จบ--
-ตม-
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit