กรุงเทพฯ--22 ต.ค.--สกว.
“ชุมชนปลักไม้ลาย” แหล่งเรียนรู้สมุนไพรไทยต้นแบบ เดินหน้าปั้นมัคคุเทศก์น้อยดึงนักเรียนชั้น ป.5-ป.6 โรงเรียนวัดปลักไม้ลายนำชมสวนสมุนไพร ช่วยสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น ปลูกฝังให้เด็กรักและหวงแหนป่าชุมชน พร้อมนำความรู้ที่ได้จากการนำชมสวนสมุนไพรกลับไปใช้ในชีวิตประจำวัน
( สามารถดาวน์โหลดเนื้อข่าวนี้ได้ที่ http://pr.trf.or.th )
……………………………………………………………………………………………
“ปลักไม้ลาย" เป็นชุมชนขนาดไม่ใหญ่นักอยู่ใน ต.ทุ่งขวาง อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม อยู่ห่างจากตัวจังหวัดนครปฐมไปตามถนนมาลัยแมน (นครปฐม - สุพรรณบุรี) ประมาณ 20 กม.ก่อตั้งมากว่า 100 ปีแล้ว ชาวบ้านยุคแรก ๆ เป็นคนจีนที่อพยพมาจากตัวนครปฐมเพื่อจับจองที่ดินทำมาหากิน มีส่วนหนึ่งที่มาจากมณฑลซัวเถา ประเทศจีน ปัจจุบันหลายคนยังมีชีวิตอยู่แต่อายุอย่างน้อย 80 ปีแล้ว อาชีพส่วนใหญ่ทำการเกษตรกรรม เช่นอ้อย หน่อไม่ฝรั่ง ปัจจุบันมีการปลูกพืชปลอดสารพิษบ้าง
วัดปลักไม้ลายนอกจากเป็นศูนย์รวมแห่งจิตใจของชาวบ้านแล้ว ปัจจุบันยังเป็นผู้นำในการปลูกป่าด้วย จากพื้นที่เคยแห้งแล้งปัจจุบันเนื้อที่ 92 ไร่กลายเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ โดยกว่า 70 ไร่เป็นป่าสมุนไพรกว่า 500 ชนิดกับเกิดเองตามธรรมชาติราว 300 ชนิด ที่เหลือปลูกเพิ่มเติม มีการเขียนชื่อและสรรพคุณของสมุนไพรทุกต้นติดไว้ด้วย และเริ่มโครงการเที่ยวป่าสมุนไพรตั้งแต่ปี 42 จนกลายเป็นแหล่งศึกษาเรื่องสมุนไพรที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ
ดร.คีรีบูน วงวุฒิเวศย์ อาจารย์มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้ทำวิจัยเรื่อง ”การพัฒนากระบวนการเรียนรู้เรื่องสมุนไพรชุมชนปลักไม้ลาย” ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เปิดเผยว่า
ชุมชนปลักไม้ลายมีโรงเรียน 1 แห่งคือโรงเรียนปลักไม้ลายสอนตั้งแต่อนุบาลถึง ป.6 มีกิจกรรมส่งเสริมให้นักเรียนรู้จักสมุนไพรตั้งแต่สรรพคุณจนถึงการปลูกและดูและรักษา ซึ่งได้รับการสนับสนุนอย่างดีทั้งจากผู้เฒ่าผู้แก่ที่มีความรู้เรื่องสมุนไพร เจ้าอาวาสวัดปลักไม้ลาย องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และสถานีอนามัย ต.ทุ่งขวาง ที่จัดกิจกรรมและส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกและแปรรูปสมุนไพรในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งที่ผ่านมาพบว่ายังมีคนอีกเป็นจำนวนมากที่ต้องการเข้ามาศึกษาพืชสมุนไพรที่วัดปลักไม้ลาย ทางคณะนักวิจัยจึงร่วมกับชาวบ้าน วัด และโรงเรียน พัฒนามัคคุเทศก์ในชุมชนขึ้นเพื่อเป็นผู้นำเยี่ยมชมป่าสมุนไพรวัดปลักไม้ลาย โครงการนี้นอกจากจะทำให้เด็กมีความรู้เรื่องการนำชมป่าแล้วยังช่วยปลูกฝังความรักและหวงแหนป่าในชุมชนด้วย โดยคัดเลือกนักเรียนจากโรงเรียนวัดปลัดไม้ลายเนื่องจากเป็นโรงเรียนที่อยู่ติดกับบริเวณป่าสมุนไพร ทำให้ง่ายต่อการนำชมป่าสมุนไพรเมื่อมีผู้ขอเข้าเยี่ยมชม
ด้านนายธรรมศักดิ์ บารมีรังสิกุล อาจารย์โรงเรียนวัดปลักไม้ลาย กล่าวว่า โครงการมัคคุเทศน้อยเริ่มมีการอบรมนักเรียนเพื่อเป็นมัคคุเทศก์เมื่อเดินธันวาคม 544 โดยรุ่นแรกมีประมาณ 80 คน ส่วนใหญ่เป็นนักเรียนชั้น ป.5และป.6 เริ่มฝึกอบรมปฏิบัติการในป่าสมุนไพรวัดปลักไม้ลายและให้นักเรียนไปดูงานการเป็นมัคคุเทศก์และแลกเปลี่ยนความรู้กับนักเรียนโรงเรียนอื่นเพื่อเสริมสร้างประสบการณ์และความมั่นใจให้แก่เด็ก ซึ่งเมื่อนักเรียนกลับมาทำหน้าที่มัคคุเทศก์นำชมป่าสมุนไพรก็พบว่าสามารถทำได้ดี ส่วนที่ว่าเมื่อนักเรียนต้องมาเป็นมัคคุเทศก์ด้วยแล้วจะส่งผลเสียต่อการเรียนการสอนหรือไม่นั้นจากการติดตามผลพบว่าเด็กนักเรียนเหล่านี้จะไม่มีปัญหาอะไร เพราะเด็กส่วนใหญ่ที่ทางโรงเรียนจัดมาส่วนใหญ่จะเป็นเด็กที่เรียนเก่งและมีความรับผิดชอบอยู่แล้ว และการทำหน้าที่มัคคุเทศก์ก็เป็นการสับเปลี่ยนกันมาในแต่ละชั่วโมง ไม่ใช่ตลอดทั้งวัน เมื่อนักเรียนกลับไปก็ต้องติดตามเรื่องการเรียนให้ทันเพื่อน
พระครูสุธรรมนาถ เจ้าอาวาสวัดปลักไม้ลาย กล่าวว่า โครงการมัคคุเทศก์น้อยพาชมสวนสมุนไพรถือเป็นโครงการหนึ่งที่จะช่วยให้ความรู้เรื่องแพทย์แผนไทยได้เป็นอย่างดี เพราะผู้ชมจะได้รู้จักพืชสมุนไพร ประโยชน์ใช้สอยจากการซักถามมัคคุเทศก์ ซึ่งสามารถนำกลับไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ และได้รู้ว่ายาไทยมีประโยชน์อย่างไร ที่สำคัญคือยาไทยไม่มีผลข้างเคียงเหมือนยาแผนปัจจุบัน นอกจากนี้การมีความรู้เรื่องยาสมุนไพรที่สามารถหาได้ในชุมชนยังก่อให้เกิดสัมพันธภาพอันดีระหว่างเด็ก ผู้ใหญ่ และคนในชุมชนได้อีกทาหนึ่ง
"ยาสมุนไพรเป็นเรื่องที่ต้องสืบทอดความรู้ เพราะสมุนไพรมีประโยชน์ทั้งนำมากิน นำมาขาย ทำให้ชาวบ้านช่วยตัวเองได้ ไม่เหมือนยาแผนปัจจุบันที่ต้องซื้อเขาอย่างเดียวจนเราต้องตกเป็นทาสทางปัญญาต่างชาติในที่สุด”
สามารถดาวโหลดบทความและภาพประกอบที่ http://pr.trf.or.th หรือติดต่อฝ่ายประชาสัมพันธ์ สกว. โทร.298-0455-72 ต่อ 159,160--จบ--
-ศน-
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit