กรุงเทพฯ--6 ม.ค.--สนพ.
โดย
โครงการประชาสัมพันธ์การป้องกันและปราบปรามน้ำมันเถื่อน
สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.)
ตอนที่ 19
สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย
เสนอ....ผลักดัน....ช่วยควบคุม ดูแลโครงการน้ำมันเขียว
ในอดีต ทุกครั้งที่เกิดวิกฤตการณ์ราคาน้ำมันแพง อาชีพประมงเป็นอาชีพหนึ่งที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก เพราะมีต้นทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสูงถึงร้อยละ 60-70 ของต้นทุนการประกอบอาชีพประมง เรือประมงจำนวนมากที่ต่อสู้กับภาวะต้นทุนที่สูงขึ้นไม่ไหวก็ต้องหยุดกิจการไป หลายครั้งที่เกิดปัญหาเรือประมงขนาดกลางและขนาดเล็ก รวมตัวกันเพื่อเรียกร้องให้รัฐหาเงินมาอุดหนุนทำให้ราคาน้ำมันต่ำลง ทำให้รัฐต้องจัดสรรงบประมาณมาช่วยเหลือ ในขณะที่เรือประมงขนาดใหญ่ที่หาปลาในเขตทะเลหลวงหรือต่างประเทศต้องนำเรือไปเติมน้ำมันกับประเทศเพื่อนบ้านที่ใกล้เคียง เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เพื่อลดต้นทุนทำให้สามารถดำเนินการต่อไปได้
ในขณะเดียวกัน ก็มีกลุ่มชาวประมงที่ร่วมมือกับพ่อค้าชาวสิงคโปร์ที่รู้จักในนาม "ตี๋เล็ก" จัดหาน้ำมันจากสิงคโปร์มาจำหน่ายให้เรือประมงและเรือ Tanker บริเวณรอยต่อเขตน่านน้ำไทย ทำให้มีรายได้มหาศาล บารมีของตี๋เล็กใหญ่โตกว้างขวางขึ้น เรือประมงไทยทุกลำต้องพึ่งพาน้ำมันจากเขาและพรรคพวก ซึ่งมีราคาต่ำกว่าบนบกถึงลิตรละ 3 บาท ถึงแม้ว่าระยะหลัง ๆ ชาวประมงจะถูกเอาเปรียบมากขึ้น จากการนำน้ำมันคุณภาพต่ำกว่ามาตราฐานมาผสมขายหรือได้รับน้ำมันไม่เต็มตามจำนวนที่ซื้อและราคาถูกกำหนดขึ้นลงตามชอบใจ แต่ชาวประมงก็ไม่มีทางเลือกต้องอยู่ภายใต้กำมือนายทุนที่เอาเปรียบ
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ผู้ค้าน้ำมันและชาวประมงอีกจำนวนหนึ่ง ได้เห็นช่องทางการทำรายได้อย่างมหาศาลให้แก่ตนเอง จึงลักลอบนำน้ำมันทางทะเลขึ้นมาจำหน่ายบนบก เนื่องจากราคาน้ำมันต่ำกว่าบนบกมาก จึงเป็นเหตุจูงใจทำให้เกิด " ขบวนการลักลอบค้าน้ำมันเถื่อน " ขึ้น แม้ว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐจะเข้าไปดูแล ควบคุมและจับกุมอย่างไรก็ยังไม่ได้รับความร่วมมือจากชาวประมง เนื่องจากชาวประมงกลัวว่า หากเรือ Tanker ถูกจับหมด เขาก็จะไม่มีน้ำมันราคาถูกใช้อีกต่อไปนั่นเอง
ในการปราบปรามกลุ่มมิจฉาชีพนี้ ตำรวจน้ำก็ได้มีการหารือกับหน่วยงานต่าง ๆ กลุ่มชาวประมง....และผู้ค้าน้ำมันว่า จะมีวิธีการอะไรถึงจะป้องกันได้ผล เพราะการวิ่งไล่จับแบบในอดีต มันได้คำตอบชัดเจนแล้วว่าไม่คุ้มค่าและไม่ได้ผลในระยะยาว จึงได้ข้อสรุปว่า หากรัฐทำการจัดจำหน่ายน้ำมันกลางทะเล โดยที่น้ำมันมีคุณภาพตามมาตราฐานและถูกต้องตามกฎหมาย ก็น่าจะเป็นช่องทางช่วยเหลือชาวประมงและแก้ไขปัญหาน้ำมันเถื่อนได้ แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่มีการหยิบยกมาทำให้เป็นรูปธรรม เนื่องจากกลุ่มผู้ค้าน้ำมันต่างก็อ้างว่าติดปัญหาเรื่องการเก็บเงินและความปลอดภัยในการค้าขายน้ำมันกลางทะเล
จุดกำเนิด....โครงการน้ำมันเขียว
สมาคมการประมงแห่งประเทศไทยได้เสนอขอให้มีการจัดตั้งสถานีบริการน้ำมันกลางทะเลโดยถูกต้องตามกฎหมาย เสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ) เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของชาวประมง และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง ภายใต้แนวคิด "ผลประโยชน์ที่ลงตัวร่วมกันทุกฝ่ายของรัฐ ชาวประมง และผู้ค้าน้ำมัน" เพื่อชาวประมงจะได้ใช้น้ำมันคุณภาพดี ราคาถูก ถูกต้องตามกฎหมาย โรงกลั่นน้ำมันสามารถนำน้ำมันส่วนเกินจากการผลิตมาขายเพิ่มขึ้นและยอดขายในประเทศเพิ่มขึ้นจากน้ำมันเถื่อนที่ลดลง ส่วนรัฐก็สามารถจัดระบบการค้าน้ำมันกลางทะเล โดยความร่วมมือของทุก ๆ ฝ่ายทั้งผู้ค้าน้ำมันและชาวประมง ทำให้สามารถป้องกันและปราบปรามน้ำมันเถื่อนอย่างได้ผล
บทบาท....ของสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย
หลังจากได้มีส่วนนำเสนอและผลักดัน "โครงการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับชาวประมงในเขตต่อเนื่อง" จนสำเร็จ และได้เริ่มโครงการตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2544 เป็นต้นมา โดยสมาคมการประมงแห่งประเทศไทยได้รับมอบหมายจากภาครัฐให้เข้ามามีส่วนร่วมในการควบคุมดูแลโครงการในหลายๆเรื่องด้วยกัน กล่าวคือ เป็น ผู้กำหนดระเบียบหลักเกณฑ์ปฏิบัติสำหรับเรือบรรทุกน้ำมัน เรือสถานีบริการน้ำมัน (Tanker) และเรือประมงทุกลำที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิกโครงการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับชาวประมงในเขตต่อเนื่อง ปัจจุบันมีสมาคมประมงท้องถิ่นที่เสนอเข้าร่วมโครงการจำนวน 31 สมาคม
เรือทุกลำก่อนจะได้รับอนุญาตในเข้าร่วมโครงการจะต้องถูกตรวจสอบเอกสารโดยสมาคมการประมงแห่งประเทศไทยว่ามีเอกสารครบถ้วนหรือไม่ เช่น กรณีที่เป็นเรือบรรทุกน้ำมันหรือเรือ Tanker จะต้องมีทะเบียนเรือไทย ใบอนุญาตใช้เรือ ใบรับรองการตรวจเรือ ใบรับรองเครื่องวัดน้ำมันเชื้อเพลิงประจำเรือ ใบรับรองมาตรฐานความปลอดภัยหรือ ISM Code และใบรับรองจากสมาคมท้องถิ่นที่เรือนั้น ๆ มีทะเบียนอยู่ เป็นต้น ในขณะที่เรือประมงที่จะเข้าร่วมโครงการก็จะต้องมีใบทะเบียนเรือไทย สำเนาใบอนุญาตใช้เรือ และสำเนาบัตรประชาชนเจ้าของเรือ หรือหนังสือรับรองบริษัทห้างหุ้นส่วนจำกัด เป็นต้น
ส่วนการป้องกันเรือประมงดัดแปลงโดยมิให้ลักลอบนำน้ำมันมาขายบนฝั่งนั้น ภาครัฐได้กำหนดวิธีการขายน้ำมันให้กับเรือประมงด้วยการอนุญาตเป็นรายเที่ยวและให้เรือประมงแจ้งจำนวนน้ำมันที่ต้องการให้เรือ Tanker ทราบก่อน ทั้งนี้ เรือสถานีบริการที่จะจำหน่ายน้ำมันให้กับเรือประมงจะต้องแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับการขนถ่ายให้ศูนย์ป้องกันและปราบปรามน้ำมันเถื่อน (ศูนย์เฝ้าฟัง) ทราบก่อนทำการขนถ่ายน้ำมันดีเซลทุกครั้ง ไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง
นอกจากนี้แล้ว การป้องกันและการตรวจสอบการขออนุญาตขนถ่ายน้ำมันดีเซลสู่เรือประมงที่มีรหัสและได้รับการรับรองให้เข้าร่วมโครงการฯนั้น ทางบริษัทที่เป็นผู้ประกอบการในโครงการฯที่รับรองโดยสมาคมฯจะต้องนำส่งรายงานการลงน้ำมันของเรือประมงกลับให้สมาคมการประมงแห่งประเทศไทยทราบว่าในแต่ละวันมีเรือประมงลำใดบ้างที่ขนถ่ายน้ำมันไปจากสถานีบริการใด โดยรวบรวมรายละเอียด อาทิเช่น ปริมาณน้ำมัน วัน-เวลา ชื่อเรือประมงและชื่อเรือสถานีบริการ เป็นต้น เพราะเรือประมงและเรือสถานีบริการตลอดจนเรือบรรทุกน้ำมันที่เข้าร่วมโครงการฯต้องผ่านการรับรองจากสมาคมฯก่อนทุกครั้ง โดยสมาคมการประมงแห่งประเทศไทยจะมีหน้าที่รวบรวมเอกสารข้อมูลการขนถ่ายน้ำมันกลางทะเล และสรุปให้แก่หน่วยงานของรัฐ คือ ตำรวจน้ำ กรมศุลกากร กรมธุรกิจพลังงาน (กรมทะเบียนการค้า) กรมสรรพสามิต และสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เพื่อใช้วิเคราะห์เปรียบเทียบปริมาณที่แจ้งการซื้อขายของเรือแต่ละลำว่าถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ ซึ่งวิธีการดังกล่าวจะเป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยป้องกันไม่ให้มีการนำน้ำมันขึ้นมาขายบนฝั่งได้
ทั้งนี้ หากพบว่า เรือลำใดทำผิดระเบียบหรือฝ่าฝืนไม่ทำตามระเบียบ สมาคมฯ ก็มีบทกำหนดลงโทษไว้ เช่น หากพบครั้งแรก ก็จะมีหนังสือแจ้งตักเตือน และแจ้งความบกพร่อง หากพบครั้งที่ 2 ก็จะนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ เพื่อดำเนินการเพิกถอนสิทธิ์การเป็นสมาชิกของเรือลำนั้น ๆ และแจ้งการถอนสิทธิ์ดังกล่าวไปยังหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง โรงกลั่นน้ำมันทั่วประเทศและชาวประมงให้รับทราบ
การควบคุมของสมาคมการประมงแห่งประเทศไทยอย่างเข้มงวดนี่เองเป็นจุดหนึ่งที่จะค้ำประกันต่อหน่วยงานของรัฐได้ว่า "สมาคมฯ มีความจริงใจ และจริงจังที่จะเป็นหน่วยสนับสนุนในการป้องกันและปราบปรามน้ำมันเถื่อนอย่างเต็มที่"
พี่น้อง....ชาวประมงทั้งหลายที่ได้รับอานิสงค์จากโครงการ บรรดาพ่อค้าน้ำมันและผู้ที่เกี่ยวข้องที่ได้รับผลประโยชน์จากโครงการทุกคน โปรดร่วมมือกันปกป้องผลประโยชน์ของเราที่ได้รับจากโครงการ โดยสนับสนุนใช้น้ำมันเขียว และช่วยกันสอดส่องดูแลโครงการ อย่าปล่อยให้ " กลุ่มฉกฉวยผลประโยชน์จากโครงการ " มาเป็นเหลือบเกาะกินผลประโยชน์อีกเลย
พบเบาะแส น้ำมันเถื่อน ติดต่อ ตู้ ปณ.345 ปณ.จ.พระโขนง กรุงเทพ 10100
โทร. 0-2662-3288
www.eppo.go.th/petrol-- จบ--
-ศน-
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit