กรุงเทพฯ--13 ม.ค.--อย.
สธ.ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ห้ามผลิตและห้ามขายเนื้อปลาปักเป้า รวมทั้งห้ามนำเข้ามาจำหน่ายด้วย หากฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 2 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000-20,000 บาท มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 ธันวาคม 2545 แนะประชาชนหากไม่แน่ใจว่าเป็นปลาเนื้อไก่หรือไม่ แจ้งที่ อย.
บ่ายวันนี้ (10 มกราคม 2546) ที่กระทรวงสาธารณสุข นางสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและคณะแถลงข่าว ว่า จากกรณีที่มีการนำปลาปักเป้าหรือปลาเนื้อไก่มาแล่เนื้อและนำมาจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภค ทำให้ผู้บริโภคเกิดอาการอาหารเป็นพิษไปหลายราย เนื่องจากปลาชนิดนี้มีสารพิษเตดโตรโดท็อกซิน (Tetrodotoxin) ซึ่งสามารถทำให้ผู้บริโภคเป็นอัมพาต หยุดหายใจ และเสียชีวิต ในระยะเวลาสั้นได้
จากการวิเคราะห์ทางวิชาการโดยละเอียดแล้ว ปลาปักเป้าส่วนใหญ่มีสารพิษ ปริมาณสารพิษขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ได้แก่ การสร้างสารพิษของปลาแต่ละสายพันธุ์ แหล่งที่จับปลา และฤดูกาล เช่น ฤดูกาลวางไข่จะพบ สารพิษในไข่ปลาปริมาณสูงมาก นอกจากนี้ การจำแนกเนื้อปลาปักเป้าที่มีสารพิษและที่ไม่มีสารพิษทำได้ยาก หากมีการนำไปผลิตผลิตภัณฑ์อื่นก็จะตรวจสอบได้ยาก ซึ่งในช่วงที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขได้พยายามหาแนวทางที่จะควบคุมการจำหน่ายเนื้อปลาปักเป้า โดยให้ติดฉลากเพื่อให้ปลอดภัยแก่ผู้บริโภค จากการได้ติดตามสุ่มเก็บ ตัวอย่างมาตรวจอย่างต่อเนื่อง ได้ข้อสรุปว่าผู้บริโภคยังมีความเสี่ยงในการบริโภคเนื้อปลาปักเป้าที่จะวางจำหน่ายอยู่
ดังนั้นเพื่อเป็นการคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภค จึงได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 264 พ.ศ.2545 ให้ปลาปักเป้าทุกชนิดและอาหารที่มีเนื้อปลาปักเป้าเป็นส่วนผสมเป็นอาหารที่ห้ามผลิต ห้ามนำเข้า หรือห้ามจำหน่ายและห้ามการส่งออกด้วย ประกาศนี้เป็นไปตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 หากฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 2 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000-20,000 บาท โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 ธันวาคม 2545 เป็นต้นไป และได้ทำหนังสือแจ้งเวียนไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศทราบ เพื่อแจ้งให้ผู้ประกอบการปฏิบัติตามต่อไป
ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จะตั้งทีมเฉพาะกิจทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจตลาดและร้านอาหารที่ใช้ปลาเป็นส่วนประกอบของอาหารทั้งหมด เช่น ร้านสุกี้ หมูกระทะบุพเฟ่ ว่ามีการใช้เนื้อปลาปักเป้าในการปรุงอาหารเพื่อจำหน่ายให้แก่ประชาชนหรือไม่ ซึ่งถ้าสงสัยจะเก็บส่งตรวจหาสารพิษ และถ้าพบฝ่าฝืนครั้งแรกจะตักเตือนให้ปฏิบัติตามกฏหมายก่อยและหากตรวจพบครั้งที่ 2 จะดำเนินคดีกฎหมายอย่างเข้มงวดต่อไป
สำหรับข้อสังเกตเนื้อปลาปักเป้าหรือปลาเนื้อไก่ ลักษณะของเนื้อปลาจะคล้ายเนื้อไก่ส่วนอก จุดที่สังเกตได้ง่ายคือ เนื้อปลาจะไม่มีหนังปลาติดอยู่เหมือนปลาทั่วไป การขายเนื้อปลาประเภทนี้มีหลายแบบ เช่น ขายเป็นเนื้อปลาล้วนๆ วางเป็นกองๆ หรือแพ็คเป็นถุง ดังนั้น หากประชาชนพบเห็นเนื้อปลาเหล่านี้วางจำหน่ายอยู่ในท้องตลาดหรือตามร้าน และไม่แน่ใจว่าเป็นปลาเนื้อไก่หรือไม่ ขอให้แจ้งได้ที่กองควบคุมอาหาร อย. โทร. 0-2590-7322, 0-2590-7023, 0-2590-7023, 0-2590-7212 หรือฝากข้อความที่ โทร. 1556 หรือที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขดำเนินการตรวจสอบทันที่--จบ--
-สท-
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit