กรุงเทพฯ--24 ม.ค.--อย.
อย. เดินหน้าลุยตรวจแหล่งที่สงสัยว่าจะมีการขายเนื้อปลาปักเป้ามาจำหน่ายเป็นอาหารให้กับลูกค้าไม่ว่าจะ เป็นตามท้องตลาด ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เกต หลังจากกฎหมายใช้บังคับเมื่อ 26 ธ.ค.45 ยังไม่พบร้านค้าใดฝ่าฝืน ขอให้ผู้ประกอบการตระหนักถึงพิษภัยที่เกิดขึ้น ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย แนะผู้บริโภคหลีกเลี่ยงซื้อเนื้อปลาที่แล่สำเร็จรูป โดยไม่ทราบชนิดของปลาที่ชัดเจนมาปรุงอาหาร เพื่อความปลอดภัย
น.พ.ศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า ตามที่ กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศฯ ฉบับที่ 264 พ.ศ.2545 ให้ปลาปักเป้าทุกชนิดและอาหารที่มีเนื้อปลาปักเป้าเป็น ส่วนผสมเป็นอาหารที่ห้ามผลิต ห้ามนำเข้า หรือห้ามจำหน่ายและห้ามการส่งออก โดยมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 26 ธันวาคม 2545 ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ไม่หยุดนิ่งในการส่ง เจ้าหน้าที่กองควบคุม อาหารออกสุ่มเก็บตรวจเนื้อปลาปักเป้าจากสถานที่น่าสงสัยว่าจะมีการจำหน่ายหรือแปรรูปเป็นอาหาร ได้แก่ ร้าน ประเภทหมูกระทะ เนื้อย่างเกาหลี ร้านบาร์บีคิว ร้านสเต็ก ร้านก๋วยเตี๋ยวปลา ร้านสุกี้ แม้กระทั่งร้านที่ขายเนื้อปลาสดแล่ขายวางเป็นกองๆ หรือแพ็คเป็นถุง ก็เข้าข่ายน่าสงสัยด้วย โดยได้ร่วมมือกับ กรมประมง กรมวิทยาศาสตร์การ แพทย์ และสำนักงานเขตในกทม. ซึ่งหลังจากที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ ได้มีการสุ่มตรวจร้านจำหน่ายภายในห้างสรรพสินค้าและตลาดสด ประมาณ 35 ราย ปรากฏว่ายังไม่พบการกระทำผิดฝ่าฝืนนำเนื้อปลาปักเป้ามาจำหน่ายหรือปรุงเป็น อาหารแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม อย. จะเดินสายกระจายเจ้าหน้าที่ทีมเฉพาะกิจออกตรวจทุกแหล่งผลิตที่น่าสงสัยให้ครอบคลุมทั้งในเขตกทม. และจังหวัดใกล้เคียงอย่างต่อเนื่องเป็นระยะๆ หากพบผู้ใดฝ่าฝืนจะถูกดำเนินคดีอย่าง เข้มงวด มีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 2 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000-20,000 บาท ทั้งนี้ได้ประสานงานกับสำนักงาน สาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศให้แจ้งผู้ประกอบการปฏิบัติตามกฎหมายโดยทั่วถึงกันแล้ว
เลขาธิการฯ กล่าวฝากมายังผู้ประกอบการว่า ขอให้คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภค ตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคม อย่าเห็นแก่ต้นทุนราคาถูก รับซื้อปลาปักเป้าผิดกฎหมายจากพ่อค้าคนกลาง และขอให้ประชาชนผู้บริโภคให้ความสำคัญในการเลือกซื้อเลือกรับประทานเนื้อปลา หลีกเลี่ยงการซื้อเนื้อปลาที่แล่ขายเป็นกองๆ หรือแพ็ค สำเร็จรูป โดยไม่ทราบชนิดของปลาที่ชัดเจน และขอให้สังเกตเนื้อปลาปักเป้าจะไม่มีหนังปลาติดอยู่เหมือนปลาทั่วไป ลักษณะของเนื้อปลาจะคล้ายเนื้อไก่ส่วนอก หากพบเห็นขอให้หลีกเลี่ยง และแจ้งกลับมาที่ อย. หรือสำนักงาน สาธารณสุขจังหวัด เพื่อจะได้เอาผิดกับผู้ฝ่าฝืนกฎหมายทันที--จบ--
-สส-
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit