สศก.รายงานสถานการณ์น้ำนมดิบ

09 Dec 2002

กรุงเทพฯ--9 ธ.ค.--สศก.

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.)รายงานว่าในปีนี้คาดว่าจะมีผลผลิตน้ำนมดิบสูงกว่าความต้องการบริโภคภายในประเทศแต่เป็นจำนวนไม่มากคาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม วอนภาครัฐที่เกี่ยวข้องร่วมช่วยกันแก้ปัญหา

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) รายงานว่าในปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนโคนมทั้งหมด 404,494 ตัว เป็นแม่โค 221,690 ตัว ซึ่งผลิตน้ำนมดิบได้เฉลี่ยวันละประมาณ 1,800 ตัน ขณะที่ความต้องการน้ำนมดิบเพื่อผลิตนมพร้อมดื่มทั้งสิ้นเฉลี่ยวันละ 1,810 ตัน เกินกว่าปริมาณน้ำนมดิบที่ผลิตได้เพียงเล็กน้อย อย่างไรก็ดี ปี 2546 คาดว่าจะผลิตน้ำนมดิบได้วันละ 1,940 ตัน ขณะที่ความต้องการน้ำนมดิบเพื่อผลิต

นมพร้อมดื่มจะมีเพียงประมาณวันละ 1,873 ตัน จึงคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม แม้ว่า ขณะนี้ผลผลิตน้ำนมดิบยังไม่เกินกว่าความต้องการ แต่มักจะเกิดปัญหาน้ำนมดิบล้นตลาดในช่วงปิดเทอม เนื่องจากผู้ประกอบการผลิตนมพาสเจอร์ไรส์ที่มีแหล่งจำหน่ายเฉพาะนมโรงเรียนจะงดการผลิตในช่วงปิดเทอมทำให้มีน้ำนมส่วนเกิน ประกอบกับในภาคการศึกษา 2/2545 อบต.บางแห่งมีปัญหาด้านการเงิน เพราะได้รับการโอนเงินงบประมาณมาจากส่วนกลางล่าช้า ไม่สามารถซื้อนมให้เด็กดื่มได้ ส่งผลให้มีนมค้างสต๊อกดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาข้างต้นควรดำเนินมาตรการดังนี้

1. ตรวจสอบคุณภาพนมโรงเรียนและนมในตลาดพาณิชย์ โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาควรดำเนินการอย่างเคร่งครัดและจริงจัง โดยตรวจสอบผลิตภัณฑ์นมโรงเรียนที่ต้องเป็นน้ำนมดิบทั้ง 100% และตรวจสอบผลิตภัณฑ์นมพร้อมดื่มในตลาดพาณิชย์ให้ตรงกับฉลากของบรรจุภัณฑ์

2. สำนักงบประมาณควรเร่งรัดการโอนเงินไปยัง อบต. และจัดระบบการโอนเงินให้มีความรวดเร็วทันต่อความต้องการใช้ในภาคการศึกษาต่าง ๆ

3. การจัดสรรสิทธิการจำหน่ายนมโรงเรียนของผู้ประกอบการแปรรูปนมโครงการ อาหารเสริม (นม) ควรกำหนดปริมาณการจำหน่ายตามปริมาณการรับซื้อน้ำนมดิบของผู้ประกอบการแปรรูป เพื่อป้องกันการปลอมปนของผู้ผลิตและการตัดราคาของผู้จำหน่าย

4. กรมปศุสัตว์ควรเร่งจัดทำฐานข้อมูลโคนม เพื่อการวางแผนเชิงรุกทั้งระยะสั้นและระยะยาวที่เหมาะสม

5. สำหรับท่าทีการเจรจาข้อตกลงองค์การการค้าโลกควรเน้นให้ประเทศผู้ผลิตนมผงลดการอุดหนุนภายในและการอุดหนุนการส่งออก เพื่อให้ราคานำเข้าใกล้เคียงกับราคาผลผลิตภายในประเทศ และให้ผู้ประกอบการหันมาใช้น้ำนมดิบในประเทศมากขึ้น

6. รณรงค์ให้มีบริโภคผลิตภัณฑ์นมที่ผลิตจากน้ำนมดิบภายในประเทศและ ส่งเสริมการผลิตที่เป็นการรองรับน้ำนมดิบส่วนเกินในอนาคต เช่น การผลิตนมเปรี้ยว นมข้น ไอศครีม นมผง เป็นต้น--จบ--

-ศน-