พระนักสู้แห่งเมืองฝางรับรางวัลลูกโลกสีเขียว

20 Dec 2002

กรุงเทพฯ--20 ธ.ค.--ปตท .

ที่อาคารสำนักงานใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ฯพณฯ อานันท์ ปันยารชุน เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลลูกโลกสีเขียวครั้งที่ 4 ประจำปี พ.ศ. 2545 และพิธีเปิดงานสัมมนาในหัวข้อ ?กลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทยกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ? โดยเปิดโอกาสให้ชนเผ่าต่างๆที่อยู่กับผืนป่าได้สนทนาข้ามวัฒนธรรมร่วมกัน และที่สำคัญ เวทีสนทนานี้ยังได้มีโอกาสสะท้อนความคิดผ่านไปถึงระดับนโยบาย ด้วยการมาร่วมแสดงวิสัยทัศน์ของประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ประธานที่ปรึกษาฝ่ายวิชาการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม และสมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร

นายอุดม วิเศษสาธร ผู้อำนวยการโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในฐานะประธานคณะทำงานลูกโลกสีเขียว กล่าวว่าโครงการลูกโลกสีเขียวเป็นโครงการต่อเนื่อง และขยายผลมาจากโครงการปลูกป่าถาวร เฉลิมพระเกียรติฯ 1 ล้านไร่

โครงการลูกโลกสีเขียวจัดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมายุครบ 72 พรรษา โดยมีเป้าหมายสนับสนุนยกย่อง และให้กำลังใจแก่ผู้ที่มีผลงานสร้างสรรค์ในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนเป็นเวทีส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ แสวงหาแนวคิดและแนวทางในการร่วมมือกันดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในสังคมโดยปีนี้ได้จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ การอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรป่า ที่ครอบคลุมมิติของการอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติและการคงอยู่ของระบบนิเวศอย่างยั่งยืน แบ่งผลงานออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ ประเภทงานเขียน ประเภทบุคคล ประเภทชุมชน และประเภทกลุ่มเยาวชน โดยในประเภทกลุ่มเยาวชนนั้นได้จัดประกวดในหัวข้อ การดำเนินกิจกรรมด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การจัดการปัญหามลพิษ ด้านน้ำ อากาศและขยะ รวมไปจนถึงกิจกรรมการสร้างจิตสำนึก ที่ครอบคลุมมิติของการอยู่ร่วมกับธรรมชาติและการคงอยู่ของระบบนิเวศอย่างยั่งยืนในการนี้ ได้เพิ่มการประกวด ความเรียงเยาวชน ขึ้น เพื่อเป็นการขยายเวทีแห่งการเรียนรู้ไปสู่เยาวชนทุกระดับ

สำหรับผลงานที่ส่งเข้าประกวดจากทั่วประเทศในปีนี้ มีจำนวนทั้งสิ้น 423 ผลงาน ซึ่งมีผลงานที่ได้รับการพิจารณาคัดเลือก และตัดสินจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 24 ผลงาน โดยแบ่งเป็น

ประเภทงานเขียน มีผู้ได้รับรางวัลชมเชยทั้ง 3 รางวัล ได้แก่ รวมบทกวีนิพนธ์ คนรักป่า โดย กุดจี่ นายพรชัย แสนยะมูล บทความเรื่อง บ้านป่าสวนผสม ระบบวนเกษตรทางเลือกตามแนวทฤษฎีใหม่ ไร้สารพิษ เพื่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม โดย นายสุทธิคมน์ สุกสีเหลือง และสารคดีเรื่อง เลียบดอยยาว เล่าชีวิตคนเมี่ยน และป่าภูสัน โดย นายวีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง ส่วนผลงานดีเด่นไม่มีผู้ได้รับรางวัล

ประเภทบุคคล มีผู้ได้รับรางวัล 7 ผลงาน รางวัลบุคคลดีเด่น ได้แก่ พระอธิการเอนก จนฺทปญโญ-พระนักสู้แห่งเมืองฝาง จังหวัดเชียงใหม่ รางวัลบุคคลชมเชยมี 6 รางวัล ได้แก่ นางอำไพ ศรีลาเลิศ-ผู้หญิงแกร่งแห่งบ้านชาด จังหวัดอุบลราชธานี นายศิลา ปัดโรคา-ต้นกล้าหัวใจแกร่งแห่งบ้านอ่าวกรูด จังหวัดระยอง นายนรินทร์ โพธิ์แดง-นักสู้ผู้ปกป้องทรัพยากรธรรมชาติด้วยชีวิต จังหวัดระยอง นายละเมียด ครุฑเงิน-เกษตรกรผู้เชื่อมโยงนวัตกรรมสู่การอนุรักษ์ จังหวัดปทุมธานี นายสุทธิพันธ์ ชูคันหอม-พ่อพิมพ์ผู้สร้างป่า สร้างชีวิต จังหวัดอุดรธานี และ นายดาบตำรวจวิชัย สุริยุทธ-คนปลูกต้นไม้แห่งบ้านปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ

ประเภทชุมชน มีชุมชนที่ได้รับรางวัล 3 ผลงาน รางวัลชุมชนดีเด่น ได้แก่ ชุมชนบ้านทาป่าเปา (ป่าห้วยทรายขาว) จังหวัดลำพูน รางวัลชมเชย 2 รางวัล ได้แก่ ชุมชนบ้านย่าหมี จังหวัดพังงา และชุมชนบ้านนาอีสาน จังหวัดฉะเชิงเทรา

ประเภทกลุ่มเยาวชน มีกลุ่มเยาวชนที่ได้รับรางวัล 3 ผลงาน รางวัลดีเด่น ได้แก่ กลุ่มเยาวชนคนรักษ์โนนใหญ่ โรงเรียนบ้านอีเซ จังหวัดศรีสะเกษ รางวัลชมเชย 2 รางวัล ได้แก่ ชมรมพิทักษ์พันธุ์นกกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม และกลุ่มเยาวชนบ้านโป่งคำ จังหวัดน่าน

ความเรียงเยาวชน มีผลงานที่ได้รับรางวัล 8 ผลงาน รางวัลดีเด่น ได้แก่ บ้านสวนของยาย โดย ด.ช. เรวัตร ทองเชิด รางวัลชมเชย 6 รางวัล ได้แก่ ป่าชุมชนที่ผมรู้จัก โดย ด.ช. กล้าณรงค์ ดีรอด เด็กฮักถิ่น โดย น.ส. จุฬารัตน์ ข่วงทิพย์ BIG MASS เจ้าป่า..แห่งแหลมตะลุมพุก โดย ด.ญ.ฐณัฐฐา คงแก้ว ค่ายป่าหาความรู้ โดย นายอาทิตย์ อังครา สิ่งแวดล้อมในโลกของผม โดย ด.ช.กฤษฎิ์ อุ่นพงค์ ประสบการณ์ของฉันเกี่ยวกับสมาคมอนุรักษ์นกและการตั้งชมรมครั้งแรก โดย น.ส. ภควดี วรรณพฤกษ์ และรางวัลชมเชยพิเศษ 1 รางวัล ได้แก่ ลูกโลกสีเขียว โดย ด.ญ.ณัฎฐวรรณ เปียมาลย์

หลังพิธีมอบรางวัลลูกโลกสีเขียว นายอานันท์ ปันยารชุน ประธานในพิธี ได้กล่าวแสดงความยินดีกับผู้ที่ได้รับรางวัลทุกคน และกล่าวเปิดเวทีการสนทนาข้ามวัฒนธรรม เรื่องกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทยกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ โดยถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของเวทีเสวนาด้านสิ่งแวดล้อม ที่ได้เชื่อมโยงเรื่องวัฒนธรรมเข้ากับทรัพยากรธรรมชาติ โดยเปิดโอกาสให้ชนเผ่าต่างๆ ที่อยู่กับผืนป่า อาทิ ซาไก มลาบรี กะเหรี่ยงโป มอแกน ชาวกวย ชาวลุ่มน้ำและคนชายฝั่ง ได้มีโอกาสสนทนาข้ามวัฒนธรรมร่วมกัน พร้อมร่วมวิพากษ์ผลกระทบจากแนวทางการพัฒนาวัฒนธรรมกับทรัพยากรธรรมชาติอย่างแยกขาดจากกัน ทั้งนี้ งานสนทนาข้ามวัฒนธรรม จัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-19 ศกนี้ ณ อาคารสำนักงานใหญ่ ปตท. นอกจากนี้ ยังมีการแสดงวิถีชีวิตของชนพื้นถิ่น อาทิ ระบำตองเหลืองตบยุง รำตงของกะเหรี่ยงโป การเป่าลูกดอกของชาวซาไก เป็นต้น--จบ--

-สส-