จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจับมือ ทีซีเอส จัด "Security Day" ยิ่งใหญ่ ในวาระฉลองครบรอบ 90 ปี คณะวิศวกรรมศาสตร์ พร้อมฉลอง 25 ปี สถาบันวิทยบริการ

25 Dec 2002

กรุงเทพฯ--25 ธ.ค.--กลุ่มบริษัทซีดีจี

สถาบันวิทยบริการฉลองครบรอบ 25 ปี ยิ่งใหญ่ ร่วมกับภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จับมือ บริษัท เดอะคอมมูนิเคชัน โซลูชั่น จัดงาน Security Day ยิ่งใหญ่ รับปี 2003 พร้อมโชว์ระบบความปลอดภัยของข้อมูลและเครือข่ายคอมพิวเตอร์สำหรับองค์กร

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กมเลศน์ สันติเวชชกุล ผู้อำนวยการ สถาบันวิทยบริการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยถึงวัตถุประสงค์การจัดงาน "Security Day" ว่า การจัดงาน สัมมนาวิชาการเกี่ยวกับ การรักษาความมั่นคงปลอดภัยในระบบสารสนเทศ (Security Day) ในครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรก ที่ทางสถาบันวิทยบริการและบริษัท เดอะคอมมูนิเคชั่น โซลูชั่น จำกัด ได้ร่วมมือกันจัดขึ้นมา เนื่องจากการแพร่กระจายของเครือข่ายคอมพิวเตอร์และการใช้งานอย่างแพร่หลายในวงการธุรกิจและราชการ ดังนั้นสิ่งที่ตามมาคือกิจกรรมทางมิจฉาชีพในเชิงเครือข่ายและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งแม้จะทำกันมานานแล้วแต่ ระบบการสื่อสารระหว่างองค์กรที่มีประสิทธิภาพทำให้ผลกระทบต่อการบุกรุกเหล่านี้รุนแรงและขยายวงกว้างอย่างรวดเร็ว ประเทศไทยเราจึงต้องตระหนักในประเด็นนี้ควบคู่ไปกับการใช้งานระบบคอมพิวเตอร์และเครือข่ายด้วย ไม่เช่นนั้นประโยชน์อันพึงได้รับจากการใช้ระบบสารสนเทศอาจไม่คุ้มกับความเสียหายจากการขาดระบบสนับสนุนทางด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัย

ดร.กมเลศน์ กล่าวว่า ในเบื้องต้นนี้ มุ่งเป้าไปที่องค์กรทางธุรกิจเป็นหลักก่อน เพราะผลกระทบด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยนั้นหากมีผลต่อการค้าจะทำให้ความนิยมในการใช้งานพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่กำลังเป็นอยู่นั้นเกิดการชะงัก ไม่มั่นใจได้ เนื้อหาสาระในการจัดงานครั้งนี้แบ่งเป็นสามส่วนด้วยกันคือ ด้านองค์กร ด้านกายภาพ และด้านวิชาการ ด้านองค์กรนั้นเราให้แนวคิดในการที่องค์กรจะทำความเข้าใจกับประเด็นต่าง ๆ และการเตรียมการป้องกันในด้านการรักษาความปลอดภัยคอมพิวเตอร์และเครือข่าย ส่วนด้านกายภาพนั้นเนื่องจากว่าการใช้รหัสผ่านอย่างในปัจจุบันจะเป็นจุดอ่อนต่อการโจมตี ปัจจุบันจึงใช้ระบบทางกายภาพต่าง ๆ เข้ามาเสริม ทั้งการใช้ลายนิ้วมือ การใช้กล้องตรวจจับ การใช้ smart card เหล่านี้เป็นต้น ส่วนในประเด็นด้านวิชาการนั้น ได้มีการถ่ายทอดเชิงวิชาการ ให้กับผู้เข้าร่วมการสัมมนาให้ทราบถึงประเด็นต่าง ๆ ที่เป็นรากฐานของการใช้ระบบสารสนเทศให้มั่นคงปลอดภัย เช่นประเด็นเรื่องกฎหมาย ประเด็นเรื่องหลักฐานเอกสารในการเอาผิด ประเด็นเรื่องโครงสร้างพื้นฐานทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์และเรื่องการเข้ารหัสขั้นสูงเหล่านี้เป็นต้น

"องค์กรมีความจำเป็นในการรักษาความลับและการดำเนินการทางธุรกิจในลักษณะกายภาพฉันใด องค์กรก็ต้องตระหนักถึงความลับในเชิงอิเล็กทรอนิกส์ฉันนั้น การที่ระบบสื่อสารและเครือข่ายรวดเร็วทั่วถึงมากขึ้นแม้จะเอื้ออำนวยการพาณิชย์ในเชิงอิเล็กทรอนิกส์ แต่ก็เป็นช่องทางของพวกมิจฉาชีพได้ด้วย" ดร.กมเลศน์ กล่าวและว่า

ในสมัยเมื่อสิบห้าปีที่ผ่านมา บรรดานักเจาะระบบหรือ hacker ไม่สนใจประเทศไทยนักเพราะในประเทศไทยมีเพียงสายสื่อสารที่ช้ามาก ๆ เปรียบเสมือนเป็นทางเกวียนหรือทางด่าน ไปมาไม่สะดวกไม่เหมาะต่อการเข้าปล้นสะดมภ์ แต่ปัจจุบันนี้ สภาพการณ์เปลี่ยนแปลงไป ถนนหนทางสะดวกมากขึ้น การโจมตีจึงมีโอกาสสูงขึ้นและรุนแรงขึ้นด้วย

ดร.กมเลศน์ ยังกล่าวด้วยว่า การจัดงานครั้งนี้มีความมุ่งหวังและเชื่อว่าจะทำให้ทั้งภาครัฐและเอกชนต่างตระหนักในประเด็นปัญหาและความสำคัญของเรื่องนี้ ที่สำคัญคือจะได้เตรียมกำลังคนและงบประมาณสำหรับด้านการรักษาความปลอดภัยคอมพิวเตอร์และเครือข่ายมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ด้วย

ในปัจจุบันสถาบันการศึกษา จะต้องประสานสัมพันธ์กับภาครัฐและเอกชน เพื่อร่วมกันถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าสู่สังคม ซึ่งเชื่อว่าการจัดงานครั้งนี้จะประสบความสำเร็จและเป็นกำลังใจให้กับการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมตามปณิธานของมหาวิทยาลัยต่อไป

ดร.ยรรยง เต็งอำนวย รองผู้อำนวยการ สถาบันวิทยบริการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวเสริมว่าภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มีหน่วยปฏิบัติการ Information System Engineering Laboratory หรือ ISEL ซึ่งส่วนหนึ่งได้ดำเนินกิจกรรมศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับด้านการรักษาความปลอดภัยคอมพิวเตอร์และเครือข่าย เหล่านี้ประกอบกันกับความสามารถในการบริหารจัดการและการให้บริการของสถาบันวิทยบริการ (หอสมุดกลาง) ของจุฬาฯ ที่มีส่วนผลักดันเทคโนโลยีด้านห้องสมุด ด้านเครือข่ายและด้านอินเตอร์เน็ต ของ จุฬาฯ และของประเทศมาตลอดสิบห้าปีที่ผ่านมา ทั้งสามแรงแข็งขันนี้จึงประกอบกันเป็น synergy ระหว่างหน่วยงานวิจัย ศึกษา และให้บริการภาคการศึกษา และหน่วยงานภาคเอกชนที่เป็นหนึ่งในผู้นำด้านเทคโนโลยีสารสนเทศทำให้เกิดงานนี้ขึ้นได้

งานนี้ถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการฉลองครบรอบ 90 ปีของคณะวิศวกรรมศาสตร์ และครบรอบ 25ปีของสถาบันวิทยบริการไปด้วยในตัว

ทางด้านนายวิทยา สุวัฒนาธรรมกุล ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เดอะ คอมมูนิเคชั่น โซลูชั่น จำกัด กล่าวว่า เนื่องด้วยการรักษาความปลอดภัยของทั้งด้านระบบสารสนเทศและความมั่นคงเป็นหัวข้อที่เข้มข้นและมีพลังขึ้น จากสถานการณ์ต่างๆ และ การทำธุรกรรมหรือกิจกรรมการติดต่อต่างๆที่ใช้ Information and Communication Technology (ICT)เป็นเครื่องมือสำคัญ ทั้งนี้บริษัท เดอะ คอมมูนิเคชั่น โซลูชั่น จำกัด (TCS) ในฐานะผู้นำทางด้านการให้บริการระบบเครือข่ายสารสนเทศ และ กลุ่มบริษัทซีดีจี ผู้ให้บริการด้านไอซีทีแบบครบวงจร และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องการรักษาความปลอดภัยของทั้งด้านระบบสารสนเทศและความมั่นคง (Physical Security) และ ภาระ หน้าที่สำคัญประการ หนึ่ง ที่ทั้งสององค์กรพึงปฏิบัติคือ การให้ความรู้ ความเข้าใจ ให้ข้อมูลข่าวสาร แก่ลูกค้า องค์กร และสังคม เพื่อให้ได้รับทราบข้อมูล และสามารถป้องกัน หรือ แก้ไข อันตรายและความสูญเสีย ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ทุกวินาทีในขณะนี้ และทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง

นายวิทยากล่าวว่า ภายในงาน "Security Day" ครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมงานจะได้พบกับการสัมมนาทางวิชาการและการแสดงนิทรรศการ ที่แบ่งเป็น 3 ห้อง โดยแบ่งห้องตามหัวข้อที่สำคัญ ซึ่งได้แก่ ระบบความมั่นคง สำหรับองค์กร (Enterprise Security) เทคโนโลยีด้านความมั่นคง (Security Technology) นโยบายและโครงสร้างพื้นฐานด้านความมั่นคง (Policy and Infrastructure in Security)

การแสดงนิทรรศการ จะมีการสาธิตโดย จำลองสถานการณ์ที่เกิดภัยคุกคามขึ้นจริง และวิธีป้องกัน หรือ แก้ไขสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อให้ผู้ชมงานได้นำไปประยุกต์ใช้ กับองค์กรได้ทันที

"ทีซีเอสเชื่อว่า การจัดงานครั้งนี้จะมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งรวมไปถึงบริษัทฯห้างฯร้านและองค์กรต่างๆ ที่คำนึงถึงเรื่องการปกป้องและการรักษาความปลอดภัย ทั้งด้าน IT และ Physical Security ซึ่งก็คาดหวังที่จะให้มีผู้มาเข้าร่วมงานจำนวนมากและสามารถสื่อถ่ายทอดให้ผู้เข้าร่วมงานจะได้ตระหนักว่าเรื่อง "ความปลอดภัย" นั้นไม่ใช่เรื่องที่ควรจะทำ แต่เป็นเรื่องที่ " จำเป็น " ที่จะต้องหาทางป้องกันก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ที่ร้ายแรงยากเกินกว่าที่จะรักษาได้เกิดขึ้นในองค์กรหรือแม้กระทั้งประเทศของเรา โดยได้เลือกประยุกต์ใช้หรือผลิตระบบที่เหมาะสมและคุ้มค่ามากที่สุด" ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เดอะ คอมมูนิเคชั่น โซลูชั่น จำกัด กล่าวและว่า

ปัจจุบันสภาพการแพร่กระจายของเครือข่ายคอมพิวเตอร์และระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้เข้ามามีบทบาทอย่างมากในแทบทุกๆองค์กร และด้วยกระแสของการแข่งขันบนพื้นฐานของ Globalization ซึ่งมีผลอย่างมาก ได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงรูปแบบและวิธีการดำเนิน ชีวิตและธุรกิจ ที่มุ่งเน้น ความรวดเร็ว ความสะดวกสบาย โดยการเชื่อมโยงข้อมูลอย่างแพร่หลายเป็นหลัก ทั้งนี้เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่เกิดช่องทางของ การเกิดภัยอันตรายหรือการคุกคามต่างๆเกิดขึ้นได้และเพิ่มทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ถ้าหากองค์กรต่างๆยังไม่ตระหนักหรือปรับตัวให้ทันต่อความเคลื่อนไหว ความเสียหายอย่างมหาศาลต่อองค์กรอาจจะเกิดขึ้นได้ ดังนั้นความสำคัญของระบบรักษาความปลอดภัยในการบริหารจัดการองค์กรทั้งทางภาครัฐและเอกชน จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อให้องค์กรสามารถใช้ระบบสารสนเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดและขณะเดียวกันก็สามารถรับมือกับภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นกับระบบข้อมูลได้ทุกเวลา

อย่างไรก็ตามการรักษาความปลอดภัยทางสารสนเทศยังครอบคลุมถึงความเชื่อถือได้ของข้อมูลหรือความถูกต้องของข้อมูล ความคงอยู่ของข้อมูลและการควบคุมความลับของข้อมูล การรักษาความปลอดภัยของระบบสารสนเทศจะต้องมีขั้นตอนการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ มีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญโดยตรงและการปฏิบัติงานตามระบบอย่างต่อเนื่องจึงจะบรรลุวัตถุประสงค์ที่ต้องการได้

ผู้ที่สนใจเข้าร่วมงาน สามารถติดต่อได้ที่ สถาบันวิทยบริการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่หมายเลขโทรศัพท์ 0-2218-2900-3 หรือ www.car.chula.ac.th

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ

คุณสุชาดา ลอยหา คุณสุรินทร์ทิพย์ เดชประยูรทรัพย์

ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กลุ่มบริษัทซีดีจี

โทร 0-2678-0200 ต่อ 2997-9

e-mail : [email protected] จบ--

-ศน-