กรุงเทพฯ--22 พ.ค.--วช.
คนกรุงจิตสำนึกต่ำต่อสาธารณสมบัติ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม. มหิดล
เผยผลวิจัยจิดสำนึกคนกรุงมีน้อย ไม่ใส่ใจสาธารณ-สมบัติ ไม่หวงแหนรู้คุณค่า
ชี้เหตุชีวิตแข่งขันเหมือนเครื่องจักร
รีบเร่งไม่มีเวลาสนใจ แนะทางแก้
ใช้การอบรมเลี้ยงดูจากครอบครัวและการศึกษาช่วยสร้างจิตสำนึกที่ดีได้ “จิตสำนึก”
เป็นเรื่องของจิตใจที่จะมีความตระหนักในสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือปรากฏการณ์ใดปรากฏการณ์หนึ่งอันเป็นผลมาจากความรู้หรือความรับผิดชอบต่อสิ่งนั้น ๆ
กรุงเทพมหานครมีสาธารณสมบัติที่มีประโยชน์และมีคุณค่าสำหรับชาวไทยอยู่จำนวนมาก แต่กระนั้นก็ดี ทรัพย์สมบัติที่เป็นของสาธารณะมักจะไม่ได้รับการเหลียวแลเอาใจใส่เท่าที่ควรจากกผู้คนในเมืองหลวง สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ตระหนักถึงคุณค่าสาธารณสมบัติของประเทศจึงให้ทุนสนับสนุนการวิจัยแก่ ดร. ชาย โพธิสิตา และคณะจากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ทำการวิจัยเรื่อง“การศึกษาจิตสำนึกของคนไทยต่อสาธารณสมบัติ : กรณีศึกษากรุงเทพมหานคร” โดยใช้การสำรวจความคิดเห็นคนกรุงเทพฯ จากกลุ่มบุคคลต่างๆ ได้แก่ ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ ลูกจ้างในสำนักงาน ผู้ประกอบอาชีพอิสระขนาดเล็ก ผู้ขายแรงงาน และกลุ่มนักเรียน นักศึกษา
ผลการศึกษาจิตสำนึกของคนไทยต่อสาธารณสมบัติ ปรากฏว่า กลุ่มตัวอย่างข้างต้นมีความคิดเห็นสอดคล้องกันว่าสาธารณสมบัติคือ ของที่เป็นของส่วนรวมไม่มีผู้ใดผู้หนึ่งเป็นเจ้าของ
แต่คนในสังคมมีส่วนเป็นเจ้าของมีสิทธิใช้ประโยชน์และมีหน้าที่ดูแลรักษาแต่เมื่อพูดถึงความเข้าใจจิตสำนึกต่อสาธารณสมบัติจะแบ่งคำตอบได้2 ระดับ จิตสำนึกแบบมีส่วนร่วมและจิตสำนึกแบบไม่มีส่วนร่วม กล่าวคือจิตสำนึกแบบมีส่วนร่วมที่จะสละเวลาเข้ามาดูแลบำรุงรักษาสาธารณสมบัติด้วยวิธีต่าง ๆ เท่าที่จะสามารถทำได้
ในขณะที่จิตสำนึกแบบไม่มีส่วนร่วมจะไม่ทำอะไรมากไปกว่าการใช้สาธารณสมบัติโดยไม่ก่อให้เกิดความเสียหายหรือไม่กระทำให้สาธารณสมบัติได้รับความเสียหายไม่ว่าด้วยเหตุจูงใจใด ๆ ก็ตาม
ในขณะที่หากมีการเปรียบเทียบจิตสำนึกของผู้คนในชนบทก็จะพบว่ามีจิตสำนึกที่ดีกว่าซึ่งอาจเป็นว่าวิถีชีวิตคนกรุงเทพฯ ที่ต้องดิ้นรนแข่งขัน ไม่ค่อยมีเวลาให้แก่ผู้อื่นหรือสิ่งอื่นมากนักตัวใครตัวมัน
รวมถึงการได้มาซึ่งสาธารณสมบัติอย่างเพียงพอและไม่ลำบากทำให้ไม่ค่อยเห็นความสำคัญ ไม่เห็นคุณค่า ไม่ค่อยถนอม ไม่ค่อยหวงแหน ซึ่งต่างจากชนบทที่กว่าจะได้สาธารณูปโภคสักชิ้นหนึ่งต้องใช้เวลารอคอยและไม่ได้มีมากมายจึงทำให้คนในชนบทเห็นความสำคัญและร่วมกันดูแลรักษารู้จักมีส่วนร่วมในสาธรณสมบัติหรือสาธารณูปโภคนั้นๆ
อย่างไรก็ดีการที่จะหามาตรการนำไปสู่การมีจิตสำนึกที่ดีต่อสาธารณสมบัติสามารถกระทำได้โดยใช้มาตรการทางการศึกษาทั้งในระบบและนอกระบบ (การอบรมเลี้ยงดูจากครอบครัว , สถาบันการศึกษา การรณรงค์ทางสื่อต่าง ๆ) ใช้มาตรการทางกฏหมายและมาตรการทางนโยบายและการบริหารจัดการของรัฐซึ่งต้องทำไปพร้อม ๆ กันเป็นองค์รวมเพื่อจะให้มีประสิทธิภาพอีกทั้งความมีวินัย วัฒนธรรม ค่านิยมและระบบความสัมพันธ์ทางสังคมก็จะช่วยสร้างจิตสำนึกที่ดีดูแลรักษาสิ่งซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของชาติได้--จบ--
-อน-
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit