กรุงเทพฯ--17 มิ.ย.--บสท.
ประเด็นหนึ่งที่อาจสร้างความสับสนให้กับทุกคนในขณะนี้ คงจะหนีไม่พ้นเรื่องการ ดำเนินงานของบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.) กับ องค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ชัดเจนยิ่งขึ้น คงต้องพิจารณา วัตถุประสงค์ในการจัดตั้งและแนวทางการดำเนินการของแต่ละองค์กรเปรียบเทียบกัน สำหรับ วัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง บสท. นั้น เพื่อทำหน้าที่แก้ไขปัญหาการค้างชำระหนี้ของลูกหนี้สถาบัน การเงินของรัฐและเอกชน ซึ่งตามพระราชกำหนด บสท. พ.ศ. 2544 กำหนดให้รับโอนเฉพาะ สินทรัพย์ด้อยคุณภาพจากธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุนและบริษัทบริหารสินทรัพย์ทั้งของรัฐและ เอกชน ที่มีสภาพเป็นสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2543 โดยสถาบันผู้โอนจะต้องมีความรับผิดชอบร่วมกับ บสท. ในผลกำไรหรือขาดทุนจากการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ดังกล่าวด้วย ซึ่ง บสท. จะบริหารจัดการหนี้ที่เป็นสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ โดยพยายามให้ลูกหนี้ที่ ยังพอมีศักยภาพสามารถชำระหนี้ที่ค้างชำระได้ และแปลงสภาพเป็นสินทรัพย์ที่มีคุณภาพสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ในขณะเดียวกันต้องไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่สถาบันเจ้าหนี้ผู้โอนและไม่เป็นภาระกับผู้เสียภาษี
ในการบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของ บสท. จะมีหลายวิธี ทั้งการปรับ โครงสร้างหนี้ การปรับโครงสร้างกิจการ การฟื้นฟูกิจการภายใต้กฎหมายล้มละลาย ซึ่งในการ แก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ บสท. จะเลือกใช้วิธีการในการปรับโครงสร้างการชำระหนี้ให้ เหมาะสมกับลูกหนี้แต่ละราย
ทั้งนี้ หาก บสท. ไม่สามารถใช้วิธีการดังกล่าวบริหารจัดการกับสินทรัพย์ด้อยคุณภาพนั้นได้ บสท. จะใช้วิธีการบังคับจำนองหรือบังคับจำนำกับทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน เพื่อให้ บสท. มีกรรมสิทธิ์เหนือทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันนั้นก่อนที่จะทำการพัฒนาทรัพย์สินเหล่านั้นให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น โดยอาจใช้แนวทางเปิดให้มีการร่วมลงทุนกับ บสท. เป็นลำดับแรก ซึ่งอาจมีทั้งการร่วม ลงทุนจดทะเบียนจัดตั้งเป็นนิติบุคคลทั่วไป หรือการจดทะเบียนจัดตั้งเป็นนิติบุคคลเฉพาะกิจเพื่อบริหารและจัดการทรัพย์สิน (Special Purpose Vehicles : SPV) ประเภทอสังหาริมทรัพย์ หรือ รูปแบบอื่นๆที่เหมาะสมด้วย
ส่วนการดำเนินงานของ ปรส. จะต่างกับ บสท. ตรงที่ ปรส. ไม่ได้รับโอนสินทรัพย์จากสถาบันการเงิน แต่จะทำหน้าที่หลักในการชำระบัญชีของสถาบันการเงิน 56 แห่งที่ถูกปิดกิจการ ซึ่งเมื่อพิจารณาจากวัตถุประสงค์ในการประกาศใช้พระราชกำหนด การปฎิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2540 จะเห็นว่า ปรส. เป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินการแก้ไขฟื้นฟูฐานะของสถาบันการเงินที่ถูกระงับการดำเนินกิจการ โดยให้สถาบันการเงินเหล่านั้น จัดทำแผนเพื่อแก้ไขฟื้นฟูฐานะในการดำเนินกิจการให้มั่นคงต่อไป และสำหรับสถาบันการเงินที่ไม่อาจดำเนินการต่อไปได้ ปรส. จะเข้าไปควบคุมเพื่อชำระบัญชีต่อไป ซึ่งในการชำระบัญชีจำเป็นต้องมีการขายทรัพย์สินของสถาบันการเงินนั้นๆ เพื่อนำเงินมาชำระหนี้ที่สถาบันนั้นมีอยู่
อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเป็น กระบวนการทำงานของ บสท. หรือ ปรส. ต่างก็มีวัตถุประสงค์เดียวกันคือ ช่วยแก้ไขปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) ที่มีอยู่เป็นจำนวนมากให้ลดลง และทำให้สถาบันการเงินมีการปล่อยสินเชื่อเข้าระบบ เพื่อสร้างเสถียรภาพให้แก่เศรษฐกิจและระบบสถาบันการเงินโดยรวม--จบ--
-อน-
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit