วช.จัดอบรมเพาะเลี้ยงหอยหวาน สัตว์น้ำเศรษฐกิจตัวใหม่ของไทย

19 Jun 2002

กรุงเทพฯ--19 มิ.ย.--วช.

สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเพาะเลี้ยงหอยหวานเชิงพาณิชย์ รุ่นที่ 2 ในระหว่างวันที่ 24 มิถุนายน - 3 กรกฎาคม 2545 ณ สถานีวิจัยวิทยาศาสตร์ทางทะเลและศูนย์ฝึกนิสิตเกาะสีชัง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อำเภอเกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี

ปัจจุบันแนวโน้มพฤติกรรมการบริโภคของประชากรโลกได้มีการเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต โดยหันมาบริโภคอาหารทะเลเพิ่มขึ้นเนื่องจากการรับรู้ถึงคุณค่าทางโภชนาการ เป็นที่นิยมในกลุ่มผู้บริโภคที่ใส่ใจเรื่องของสุขภาพ ประเทศไทยจึงควรพัฒนาศักยภาพของสัตว์น้ำเศรษฐกิจชนิดใหม่ๆออกสู่ท้องตลาด "หอยหวาน"เป็นหอยทะเลฝาเดียวชนิดใหม่อีกชนิดหนึ่ง ที่กำลังเป็นที่นิยมบริโภคอย่างแพร่หลายและเป็นที่ต้องการของตลาดสูงทั้งตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ อันได้แก่ประเทศจีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง ฯลฯ แต่ปัจจุบันพบว่าปริมาณหอยหวานจากแหล่งทำการประมงต่างๆได้ลดต่ำลงอย่างน่าวิตกและพบปัญหาการขาดแคลนพ่อแม่พันธุ์ ในขณะที่ยังคงมีความต้องการของตลาด ทำให้ราคาจำหน่ายหอยหวานเพิ่มสูงขึ้น

เพื่อพัฒนาศักยภาพการเพาะเลี้ยงหอยหวานในเชิงพาณิชย์ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จึงได้ ให้ทุนอุดหนุนการวิจัยแก่คณะนักวิจัยจากสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำการวิจัยและพัฒนาเพื่อการผลิตหอยทะเลเศรษฐกิจชนิดใหม่ ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี และเห็นว่าน่าจะมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีดังกล่าวแก่ผู้ประกอบการ ดังนั้น จึงได้จัดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อถ่ายทอดความรู้ทางวิชาการด้านเทคนิคการผลิตหอยหวานระยะวัยรุ่นในโรงเพาะฟัก และการเลี้ยงหอยหวานระยะวัยรุ่นจนถึงขนาดตลาดต้องการด้วยวิธีการเลี้ยงแบบต่างๆ

แลกเปลี่ยนความรู้และความคิดเห็นระหว่างผู้เข้ารับการฝึกอบรม ผู้ประกอบการในเชิงพาณิชย์และผู้ซื้อ

นอกจากนี้ ยังเป็นการริเริ่มในการรวมกลุ่มเกษตรกรในรูปแบบของ" ชมรมผู้ประกอบการเลี้ยงหอยหวานแห่งประเทศไทย" การฝึกอบรมประกอบด้วยภาคการบรรยายและภาคปฏิบัติในโรงเพาะฟักโดยการปฏิบัติงานจริงของผู้เข้ารับการฝึกอบรมทุกคน

การศึกษาดูงานฟาร์มเพาะเลี้ยงหอยหวานในจังหวัดชลบุรี การสัมมนาหาลู่ทางการเพาะเลี้ยงและการจัดตั้งชมรมฯ โดยคาดว่าผลที่ได้จากการฝึกอบรมจะสามารถช่วยพัฒนาอาชีพใหม่หรืออาชีพเสริมแก่เกษตรกร ชาวประมงและประชาชนทั่วไป

ยกระดับรายได้แก่ชาวประมงพื้นบ้านขนาดเล็กและสามารถเพิ่มผลผลิตและมูลค่าหอยหวานจากการเพาะเลี้ยง เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดทั้งภายในและต่างประเทศต่อไป--จบ--

-อน-