กรุงเทพฯ--28 ส.ค.--ฟิทซ์--กรุงเทพฯ
ฟิทช์ เรทติ้งส์ ลอนดอน/ฟิทช์ บริษัทจัดอันดับเครดิตข้ามชาติ ได้ประกาศคงอันดับเครดิตระดับสากลระยะยาวของธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารทหารไทย และธนาคารเอเชีย
นอกจากนี้ ฟิทช์ยังได้เพิ่มอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ ธนาคารดีบีเอสไทยทนุ เพิ่มเป็น 'C/D' จาก 'D' และธนาคารนครหลวงไทย เพิ่มเป็น 'D/E' จาก 'E' ขณะเดียวกัน ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) ได้เพิ่มอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นของธนาคารกสิกรไทย เพิ่มเป็น 'F1+(tha)'จาก 'F1(tha)'เพื่อแสดงถึงความแข็งแรงของความคล่องตัวทางการเงินของธนาคาร และคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของธนาคารกสิกรไทย และธนาคารเอเชีย
ธนาคารดีบีเอสไทยทนุ ได้รับประโยชน์จากการที่ใช้วิธีที่เข้มงวดและรวบรัดมากขึ้น ทั้งในการเพิ่มทุน การกำจัดหนี้เสีย และการปรับโครงสร้างการดำเนินงาน การจำหน่ายหนี้เสียส่วนที่เหลือและมาตรการในการลดค่าใช้จ่ายของธนาคารที่ทำในปี 2543 นั้นได้ส่งผลให้ฐานะทางการเงินของธนาคารแข็งแกร่งขึ้นรวมทั้งยังส่งผลให้ผลประกอบดีขึ้น
การเพิ่มระดับความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคารเอเชียจาก 'D/E' เป็น 'D' ในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา สะท้อนถึงความสำเร็จในการเพิ่มทุนของธนาคาร ซึ่งทำให้ฐานะการเงินของธนาคารนั้นแข่งแกร่งขึ้นอย่างมีสาระสำคัญ และทำให้มีเงินทุนเพียงพอที่จะรองรับการเติบโตในอนาคต
อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินที่ให้โดยฟิทช์ เป็นการวิเคราะห์ถึงสถานะทางการเงินของธนาคารเป็นหลัก โดยไม่ได้นำปัจจัยช่วยเหลือจากรัฐบาลเข้ามาเกี่ยวข้องในการวิเคราะห์ อันดับที่ฟิทช์ให้กับธนาคารไทยนั้นยังคงอยู่ในช่วงระดับที่ต่ำเมื่อเทียบกับอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของฟิทช์ที่มีอยู่ตั้งแต่ระดับ 'A' จนถึงระดับ 'E' c,แม้ว่าฟิทช์จะตระหนักถึงความคืบหน้าทางการปฏิรูปที่ดีขึ้นที่ธนาคารไทยได้ทำในช่วงสี่ปีที่ผ่านมาแต่จำนวนหนี้เสียที่ยังอยู่เมื่อรวมกับหนี้ที่ได้รับการปรับโครงสร้างหนี้แล้วนั้นยังคงอยู่ในประมาณครึ่งหนึ่งของบัญชีงบดุลของธนาคาร ซึ่งก็หมายถึงว่าการที่จะทำให้คุณภาพของสินทรัพย์นั้นกลับมาแข็งแกร่งเหมือนเดิมนั้นต้องใช้เวลาอีกหลายปี อย่างไรก็ตาม ฟิทช์คาดว่าธนาคารดีบีเอสไทยทนุ ธนาคารเอเชีย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารกรุงเทพ ซึ่งเป็นกลุ่มธนาคารเอกชนห้าแห่งที่มีความแข็งแกร่งทางการเงินสูงเมื่อเทียบกับธนาคารอื่นๆในประเทศ จะเป็นกลุ่มธนาคารที่จะแสดงผลประกอบการที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงสองถึงสามปีข้างหน้า แต่ผลประกอบการที่คาดว่าจะดีขึ้นนั้น ยังคงขึ้นอยู่กับการฟื้นฟูของเศรษฐกิจและภาคอุตสาหกรรม และความคืบหน้าในการปรับปรุงโครงสร้างของระบบธนาคาร
อันดับเครดิตระดับสากลระยะยาวของธนาคารที่ใหญ่ที่สุดสี่แห่ง คือธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ ตั้งอยู่บนความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคารและความสำคัญของธนาคารต่อระบบเศรษฐกิจของไทย รวมถึงความเป็นไปได้ที่ธนาคารจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ตราบใดที่ความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคารเหล่านี้ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และระดับความเป็นไปได้ที่ธนาคารจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลรวมถึงอันดับเครดิตของประเทศไทยไม่มีการเปลี่ยนแปลง อันดับเครดิตของธนาคารเหล่านี้ก็มีแนวโน้มว่าจะคงอยู่ในระดับเดิม ในส่วนอันดับเครดิตของธนาคารทหารไทยและธนาคารกรุงศรีอยุธยา ที่ต่ำกว่าอันดับเครดิตของธนาคารที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น มีผลมาจากฐานะทางการเงินที่อ่อนแอกว่ารวมถึงขนาดของธนาคารที่เล็กกว่า ซึ่งส่งผลให้ธนาคารมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ และระดับความเป็นไปได้ที่จะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลที่ต่ำกว่าธนาคารขนาดใหญ่ทั้งสี่แห่ง
เช่นเดียวกับการปรับเปลี่ยนที่ดีขึ้นของธนาคารกรุงไทยในปี 2543 สภาพการณ์ของธนาคารนครหลวงไทยได้ปรับตัวดีขึ้นอย่างมากในช่วงปีที่ผ่านมาหลังจากที่ธนาคารทั้งสองได้ทำการโอนหนี้เสียเกือบทั้งหมดที่มีไปยังบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่สนับสนุนโดยรัฐบาลแล้ว อย่างไรก็ตามธนาคารทั้งสองแห่งยังคงต้องผ่านขั้นตอนในการพัฒนาปรับโครงสร้างการบริหารองค์กรเพื่อที่จะบรรลุความสำเร็จในการดำเนินงานทางธุรกิจต่อไป การเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์ของธนาคารกรุงไทยในช่วงปีที่ผ่านมาที่เน้นการให้สินเชื่อเพื่อการเติบโตอย่างก้าวกระโดดนั้น ก่อให้เกิดความกังวลในด้านคุณภาพของสินทรัพย์ที่อาจมีปัญหาในอนาคต รวมถึงผลกระทบต่อผลกำไรของธนาคารเอกชนอื่นๆ
หลังจากการควบรวมกิจการของธนาคารศรีนครและธนาคารนครหลวงไทย อันดับเครดิตของธนาคารศรีนครได้ถูกยกเลิกไป การควบรวมกิจการของธนาคารนครหลวงไทยและธนาคารศรีนครนั้นเป็นก้าวที่พัฒนาไปในทางที่ดี รัฐบาลไทยมีแผนที่จะลดสัดส่วนการถือหุ้นในธนาคารกรุงไทยและธนาคารนครหลวงไทยภายในปี2546 ตราบใดที่รัฐบาลยังคงมีสัดส่วนการถือครองหุ้นในธนาคารสูงอยู่ ผลประกอบการของธนาคารก็น่าจะยังคงได้รับผลกระทบอยู่
ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้แสดงเจตน์จำนงว่าอาจมีการเปลี่ยนแปลงระบบรับประกันเงินฝากในขณะนี้ไปเป็นรับประกันแบบจำกัดวงเงินในปีหน้า และอาจจะยกเลิกการรับประกันการชำระหนี้ต่อเจ้าหนี้โดยกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินที่ได้ทำในปี 2540 การยกเลิกการประกันนี้เป็นหนึ่งในแนวทางการพัฒนาไปในทางที่ดี ที่จะช่วยฟื้นฟูให้ระบบการทำงานของธนาคารให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น การประกันเงินฝากโดยกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินนั้นเป็นเพียงมาตรการชั่วคราวที่ช่วยยับยั้งปัญหาการถอนเงินฝาก แต่มาตรการนี้ไม่ได้ให้ความคุ้มครองแก่เจ้าหนี้ทั้งหมดของธนาคาร ดังจะเห็นได้จากการที่เจ้าหนี้แบบด้อยสิทธิได้รับความเสียหายจากการที่ธนาคารกรุงเทพพาณิชยการถูกปิดลง
ในความคิดเห็นของฟิทช์ ยกเว้นธนาคารบางแห่งที่มีความสำคัญอย่างมากต่อระบบการเงินและเศรษฐกิจ
การสนับสนุนของรัฐบาลในอนาคต แม้กระทั่งต่อเจ้าหนี้ไม่ด้อยสิทธิก็ยังมีความไม่แน่นอน เนื่องจากระดับหนี้สาธารณะที่สูงขึ้นอย่างมากหลังจากวิกฤตเศรษฐกิจ การยกเลิกการประกันโดยกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินนั้นไม่น่าจะมีผลกระทบต่ออันดับเครดิตของธนาคารที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ ณ ปัจจุบัน แต่อาจมีผลกระทบต่ออันดับเครดิตของธนาคารที่มีสถานะทางการเงินที่อ่อนแอกว่า
ในขณะที่จำนวนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้โดยเฉลี่ยของธนาคารไทยได้ลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 20% ของจำนวนหนี้ทั้งหมด
มีหนี้จำนวนมากที่ได้รับการปรับโครงสร้างหนี้แล้วได้รับการจัดชั้นใหม่ให้เป็นหนี้ปกติ โดยวิธีการในการปรับโครงสร้างหนี้นั้นทำโดยการยืดเวลาการชำระหนี้ออกไป หนี้เหล่านี้มีความเสี่ยงสูงต่อการกลับมาเป็นหนี้เสียใหม่ได้ ถ้าสภาวะเศรษฐกิจมีการถดถอยหรืออัตราดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้น หนี้เสียที่เกิดขึ้นใหม่และการกลับมาของหนี้เสียที่ได้รับการปรับโครงสร้างหนี้แล้วอาจส่งผลให้ผลประกอบการของธนาคารปรับตัวดีขึ้นช้ากว่าที่ควร
ธนาคารที่มีความแข็งแกร่งกว่า ซึ่งรวมถึงธนาคารดีบีเอสไทยทนุ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงเทพและธนาคารเอเชีย ได้เพิ่มสัดส่วนเงินสำรองอย่างมากในช่วงสี่ปีที่ผ่านมา จนสัดส่วนมาอยู่ที่ระดับประมาณ 50% ของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ทั้งหมด ระดับเงินสำรองนี้น่าจะเพียงพอแต่ความเสี่ยงนั้นก็ยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะเมื่อธนาคารมีสัดส่วนของทุนสามัญในระดับที่ต่ำ และมีสัดส่วนหนี้ที่ปรับโครงสร้างอยู่ในระดับสูง ซึ่งทำให้สัดส่วนเงินสำรองต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้รวมกับหนี้ที่ได้รับการปรับโครงสร้างหนี้แล้วอยู่ในระดับต่ำ ระดับเงินสำรองที่ต่ำของธนาคารที่อ่อนแอบางแห่ง ซึ่งอยู่ที่ประมาณครึ่งหนึ่งของธนาคารอื่นๆในประเทศไทยนั้นส่งผลให้ธนาคารที่อ่อนแอนั้นมีความเสี่ยงที่ผลประกอบการจะอยู่ในระดับที่อ่อนแอเป็นเวลานานขึ้น
เนื่องจากการเติบโตของสินเชื่อยังคงอยู่ในระดับต่ำ สิ่งที่ทำให้ผลประกอบการของธนาคารดีขึ้นมาได้นั้นมาจากการลดลงอย่างมากของต้นทุนทางการเงินและการลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารเอเชีย และธนาคารดีบีเอสไทยทนุ เป็นกลุ่มธนาคารที่ผลประกอบการส่งสัญญาณการฟื้นตัว บนพื้นฐานของการเติบโตของสินเชื่อเพื่อลูกค้ารายย่อย อย่างไรก็ตาม ระดับการปล่อยสินเชื่อให้กับภาคธุรกิจยังคงค่อนข้างต่ำ และอาจเป็นปัจจัยลบที่ทำให้การฟื้นตัวของรายได้ แม้กระทั่งธนาคารที่มีความแข็งแรงกว่า เป็นไปอย่างไม่เร็วเท่าที่ควร
ธนาคารที่ได้รับผลจากการประกาศอันดับเครดิตครั้งนี้
ธนาคารกรุงเทพ อันดับเครดิตระดับสากลระยะยาว 'BB+' แนวโน้มมีเสถียรภาพ อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินระดับ'D/E'
ธนาคารกรุงไทย อันดับเครดิตระดับสากลระยะยาว 'BB+' แนวโน้มมีเสถียรภาพ อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินระดับ 'D/E'
ธนาคารกสิกรไทย อันดับเครดิตระดับสากลระยะยาว 'BB+' แนวโน้มมีเสถียรภาพ อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินระดับ 'D'
อันดับเครดิตภายในประเทศ ระยะยาว 'AA-(tha)' ระยะสั้นเพิ่มเป็น 'F1+(tha)' จาก 'F1(tha)'
ธนาคารไทยพาณิชย์ อันดับเครดิตระดับสากลระยะยาว 'BB+' แนวโน้มมีเสถียรภาพ อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินระดับ 'D/E'
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา อันดับเครดิตระดับสากลระยะยาว 'B+' แนวโน้มเป็นลบ อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน 'E'
ธนาคารทหารไทย อันดับเครดิตระดับสากลระยะยาว 'BB-' แนวโน้มมีเสถียรภาพ อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน 'D/E'
ธนาคารเอเชีย อันดับเครดิตระดับสากลระยะยาว 'BBB-' แนวโน้มมีเสถียรภาพ อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน 'D'
อันดับเครดิตภายในประเทศ ระยะยาว 'AA+(tha)' หุ้นกู้ด้อยสิทธิ 'AA(tha)' ระยะสั้น 'F1+(tha)'
ธนาคารดีบีเอสไทยทนุ อันดับความแข่งแกร่งทางการเงินเพิ่มเป็น 'C/D' จาก 'D'
ธนาคารนครหลวงไทย อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินเพิ่มเป็น 'D/E' จาก 'E'
ธนาคารศรีนคร ยกเลิกอันดับเครดิตสนับสนุนระดับ '4' และยกเลิกอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินระดับ 'E'
ติดต่อ
ดุษฎี ศรีชีวะชาติ; Vincent Milton, กรุงเทพฯ
+662 655 4762/4759
David Marshall, ฮ่องกง
+852 2973 6293
หมายเหตุ : อันดับความเข้มแข็งทางการเงินของฟิทช์
อันดับความเข้มแข็งทางการเงินของฟิทช์วิเคราะห์ถึงสถานะทางการเงินของธนาคารเมื่อไม่มีปัจจัยช่วยเหลือภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้อง อันดับเครดิตนี้ไม่ใช่อันดับเครดิตของหนี้ แต่เป็นอันดับความแข่งแกร่งของสถานะการเงินของธนาคาร
หมายเหตุ : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ใช้วัดความน่าเชื่อถือของบริษัทในประเทศที่อันดับเครดิตของรัฐบาลในประเทศนั้นอยู่ในระดับต่ำกว่า 'AAA' ในระดับการจัดอันดับเครดิตแบบสากล (International Ratings) อันดับเครดิตภายในประเทศจึงไม่สามารถเปรียบเทียบกับอันดับเครดิตแบบสากล เนื่องจากอันดับเครดิตของบริษัทที่ดีที่สุดของประเทศได้จัดไว้ที่ระดับ "AAA" และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับบริษัทที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศจะมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับประเทศนั้นๆ เช่น "AAA(tha)" ในกรณีของประเทศไทย
การเปิดเภยข้อมูล : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ใช้วัดความน่าเชื่อถือของบริษัทในประเทศที่อันดับเครดิตของรัฐบาลในประเทศนั้นอยู่ในระดับต่ำกว่า 'AAA' ในระดับการจัดอันดับเครดิตแบบสากล (International Ratings) อันดับเครดิตภายในประเทศจึงไม่สามารถเปรียบเทียบกับอันดับเครดิตแบบสากล เนื่องจากอันดับเครดิตของบริษัทที่ดีที่สุดของประเทศได้จัดไว้ที่ระดับ "AAA" และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับบริษัทที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศจะมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับประเทศนั้นๆ เช่น "AAA(tha)" ในกรณีของประเทศไทย--จบ--
-ศน-
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit