กรุงเทพฯ--13 ก.ย.--คอร์ปอเรท พับลิค รีเลชั่น คอนซัลแตนท์
สมาคมดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม จัดกิจกรรม "เดินประสานใจ ห่วงใยสมองเสื่อม" ร่วมวันอัลไซเมอร์โลก กระตุ้นคนไทยใส่ใจโรคสมองเสื่อม เผยงบค่าดูแลรักษาสูงกว่าโรคหัวใจ
พ.ญ. สิรินทร ฉันศิริกาญจน นายกสมาคมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม-แห่งประเทศไทย กล่าวว่า โรคอัลไซเมอร์เป็นปัญหาสำคัญอย่างยิ่ง ในทุกประเทศต่างก็ตระหนักว่าเมื่อเกิดภาวะสมองเสื่อม บุคคลนั้นจะค่อยๆ สูญเสียความสามารถทั้งความคิดความจำและบุคลิกภาพ จนในที่สุดไม่สามารถดูแลตัวเองได้ ทำให้เกิดภาระแก่ครอบครัวและสังคม เฉพาะค่ายาที่จะช่วยชลอให้ความสามารถของสมองไม่เสื่อมไปเร็วนัก จะเป็นเงินประมาณ 5,000 บาท ต่อเดือน ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงค่าจ้างคนที่มาช่วยดูแล และลูกหลานอาจจะต้องลาออกจากงานเพื่อมาเป็นผู้ดูแลหลัก เมื่อโรคดำเนินไปมากขึ้น ผู้ป่วยจะช่วยตัวเองได้ลดลง ค่าใช้จ่ายอื่นๆ อาจจะเพิ่มมากขึ้นได้ ได้เคยพูดคุยกับญาติผู้ป่วยรายหนึ่ง ค่าใช้จ่ายประมาณ 20,000-30,000 บาท ต่อเดือน ซึ่งถ้ามีผู้ป่วยมากขึ้นเรื่อยๆ จะเป็นภาระแก่ครอบครัวและประเทศชาติแน่นอน
ผลการสำรวจในต่างประเทศพบว่าโรคอัลไซเมอร์เป็นปัญหาสำคัญของผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุจะมีภาวะสมองเสื่อมประมาณ 1% ในอายุ 60 ปี และจะเพิ่มเป็น 2 เท่า เมื่ออายุเพิ่มทุก 5 ปี นั้นคือ 2% ในอายุ 65 ปี 4% ในอายุ 70 ปี 8% ในอายุ 75 ปี 16% ในอายุ 80 ปี 32% ในอายุ 85 ปี นั่นคือ 1 ใน 3 คน ของผู้ที่มีอายุ 85 ปีมีภาวะสมองเสื่อม ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงมาก แต่สำหรับในประเทศไทยนั้นยังไม่มีสถิติแน่นอน แต่จากการสำรวจในชุมชนต่างๆ พบว่ามีอยู่ประมาณ 2-10 % และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มอย่างรวดเร็วจากประมาณ 160,000 คนในปัจจุบัน เป็น 500,000 คน ในอีก 30 ปีข้างหน้า
เพื่อกระตุ้นสังคมให้เข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญ พร้อมจะช่วยเหลือผู้ป่วยและผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม สมาคมฯ จึงร่วมกับสมาคมอัลไซเมอร์โลก จัดกิจกรรมรณรงค์ขึ้นในวันที่ 21 กันยายน โดยจัดให้มีการประชุมวิชาการประจำปี สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ในวันที่ 20 กันยายน 2545 สำหรับญาติผู้ป่วยและผู้สนใจทั่วไปในวันที่ 21 กันยายน 2545 และขอเชิญประชาชนทั่วไปร่วมเดินรณรงค์ "เดินประสานใจ ห่วงใยสมองเสื่อม" จากลานพระบรมรูปทรงม้า ถึงโรงพยาบาลสงฆ์ เวลา 06.30 น. ในวันที่ 21 กันยายน 2545
อนึ่งสมาคมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม-แห่งประเทศไทย จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2543 โดยรวบรวมผู้มีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมที่ประสบกับปัญหาทั้งกายและใจของผู้ป่วยรวมถึงผู้ดูแลให้บริการสายด่วนรับปรึกษาปัญหาเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม จัดอบรมเกี่ยวกับโรคสมองเสื่อมให้กับบุคลากรและประชาชนทั่วไป จัดประชุมวิชาการประจำปีและเยี่ยมบ้านให้คำปรึกษาแก่ครอบครัวของผู้ที่ประสบปัญหา
"กิจกรรมนี้ทางสมาคมเชื่อว่าจะสร้างความเข้าใจ และกระตุ้นให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของโรคและเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมเผื่อในอนาคต เรา-ท่านที่จะเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อไป" พ.ญ.สิรินทร กล่าว--จบ--
-พส/ศน-
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit