กรุงเทพฯ--9 ก.ย.--สธ.
น.พ.สมยศ ดีรัศมี รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันจำนวนคนพิการในประเทศไทยซึ่งมีความจำเป็นต้องใช้กายอุปกรณ์นั้น มีจำนวนประมาณร้อยละ 0.5 ของประชากรทั้งหมดดังนั้น นักกายอุปกรณ์ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทด้านการดูแลคนพิการจึงมีความสำคัญ และเนื่องจากในอดีตที่ผ่านมาเกิดปัญหาการขาดแคลนอาจารย์ระดับปริญญาด้านกายอุปกรณ์ เพื่อการสอนและฝึกงาน โดยเฉพาะตามมาตรฐานที่มหาวิทยาลัยกำหนด ดังนั้น ศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ กรมการแพทย์ จึงได้ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล จัดตั้งหลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขากายอุปกรณ์ขึ้น โดยได้รับการผลักดันจากสมาคมนักกายอุปกรณ์นานาชาติ หรือ ISPO และการสนับสนุนจาก Nippon Foundation ประเทศญี่ปุ่น ปัจจุบันได้เปิดรับนักศึกษาในเดือนมิถุนายนของปีการศึกษา 2545 มีนักศึกษารุ่นแรก 12 คน รวมทั้งมีการคัดเลือกนักศึกษาเพื่อรับทุนไปเรียนต่างประเทศ เพื่อให้สามารถเป็นอาจารย์สอนรุ่นต่อไป โดยหลักสูตรดังกล่าว นอกจากจะถือเป็นการพัฒนาระบบบริการผู้พิการในประเทศไทยให้มีมาตรฐานสูงขึ้นแล้ว ยังสามารถช่วยพัฒนาด้านการผลิตกายอุปกรณ์ช่วยเหลือผู้พิการให้ดีขึ้นด้วย ทั้งนี้ หลักสูตรดังกล่าวนับเป็นหลักสูตรระดับปริญญาตรีหลักสูตรแรกในทวีปเอเชีย และคาดว่าจะสามารถใช้เป็นโรงเรียนระดับนานาชาติให้แก่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อไปในอนาคต--จบ--
-สส-
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit