บีเอสเอเผย บุกจับองค์กรใช้ซอฟต์แวร์เถื่อนรายใหญ่ที่สุด

10 Sep 2002

กรุงเทพฯ--10 ก.ย.--พีซี แอนด์ แอสโซซิเอทส์ คอนซัลติ้ง

บีเอสเอเตรียมเดินหน้ากวาดล้างการละเมิดลิขสิทธิ์ในประเทศไทย

กลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ (บีเอสเอ) แถลงข่าวการบุกเข้าตรวจค้นบริษัทแห่งหนึ่งซึ่งต้องสงสัยว่ามีการใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์และซอฟต์แวร์ที่ไม่มีใบอนุญาตให้ใช้สิทธิ (license) ในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งนับเป็นการบุกตรวจค้นการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดยเจ้าหน้าที่กองบังคับการสืบสวนสอบสวนคดีเศรษฐกิจ (สศก.) ซึ่งประสานงานอย่างใกล้ชิดกับไมโครซอฟท์ ได้บุกเข้าตรวจค้นบริษัทดังกล่าวเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม และได้ทำการตรวจสอบเครื่องคอมพิวเตอร์ 361 เครื่อง ซึ่งรวมถึงเครื่องเซิร์ฟเวอร์ 8 เครื่อง ที่ต้องสงสัยว่ามีการติดตั้งซอฟต์แวร์ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ของไมโครซอฟท์ บริษัทดังกล่าวเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าประเภทอุปกรณ์คอมพิวเตอร์หลายประเภท รวมทั้งให้บริการประกอบเครื่องคอมพิวเตอร์ด้วย

ก่อนหน้านี้ ตำรวจได้เข้าตรวจค้นบริษัทค้าปลีกอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์และประกอบคอมพิวเตอร์อีกรายหนึ่งในกรุงเทพฯ และได้ตรวจสอบเครื่องคอมพิวเตอร์ 58 เครื่อง เพื่อค้นหาซอฟต์แวร์ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ โดยในการบุกตรวจค้นทั้งสองกรณี พบว่าบริษัททั้งสองได้ใช้โปรแกรมซอฟต์แวร์ Microsoft Windows 98 และ Microsoft Office 97 ที่ผิดกฎหมายในการประกอบธุรกิจ นอกจากนั้น ยังพบแผ่นซีดีรอมกว่า 70 แผ่น ที่บันทึกโปรแกรม Microsoft Windows XP, Office XP, Windows NT Server 4.0 และ SQL Server ภายในสำนักงานของบริษัททั้งสอง

หลังจากที่กระบวนการสอบสวนของตำรวจเสร็จสิ้น คาดว่าบริษัททั้งสองจะถูกตั้งข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งหากศาลตัดสินว่ามีความผิดจริงตามข้อกล่าวหา ก็จะต้องระวางโทษปรับ และ/หรือจำคุก

มร. โจนาธาน เซลวาสกาเรม ประธานกลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ประจำประเทศไทย กล่าวว่า "บริษัททั้งสองที่ถูกจับกุมในครั้งนี้ดำเนินธุรกิจด้านการประกอบคอมพิวเตอร์และจัดจำหน่ายอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ไอที เรารู้สึกผิดหวังเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับทราบว่าบริษัททั้งสองนอกจากจะติดตั้งซอฟต์แวร์ที่ละเมิดลิขสิทธิ์หรือซอฟท์แวร์เถื่อนบนคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในสำนักงานแล้ว ตำรวจยังตรวจพบซีดีรอมที่บันทึกโปรแกรมเถื่อนจำนวนมากภายในสำนักงานเช่นเดียวกัน อันที่จริงแล้ว ผู้จำหน่ายอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ ผู้ประกอบพีซี ผู้ติดตั้งระบบ และตัวแทนจำหน่ายคอมพิวเตอร์ ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าองค์กรของตนเองไม่ได้ใช้ซอฟต์แวร์ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ในการประกอบธุรกิจ และไม่ได้ติดตั้งซอฟต์แวร์ที่ไม่มีลิขสิทธิ์ลงบนเครื่องคอมพิวเตอร์ที่จำหน่ายให้แก่ลูกค้า เพราะการกระทำเช่นนั้นนอกจากจะทำให้สูญเสียความไว้วางใจจากลูกค้าแล้ว ยังเป็นการทำลายผลงานอันดีเยี่ยมของรัฐบาลในการส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ภายในประเทศด้วยการปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์อย่างจริงจัง

จากการสำรวจอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ทั่วโลกรายปีครั้งที่ 7 ของบีเอสเอ ซึ่งเผยแพร่เมื่อเดือนมิถุนายน 2545 พบว่าประเทศไทยมีอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ 77 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2544 คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 173.9 ล้านบาท (41 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ซึ่งนับว่าสูงมากเมื่อเทียบกับอัตราเฉลี่ยทั่วโลกซึ่งอยู่ที่ 40 เปอร์เซ็นต์

มร. เซลวาสกาเรม กล่าวเสริมว่า "ผมขอแนะนำองค์กรธุรกิจต่างๆ ที่ยังไม่ได้ตรวจสอบระบบคอมพิวเตอร์ภายในองค์กร ให้รีบดำเนินการอย่างเร่งด่วน และเปลี่ยนไปใช้ซอฟต์แวร์ถูกกฎหมายในทันที และอย่านิ่งนอนใจเพราะอาจถูกเข้าตรวจค้นไม่วันใดก็วันหนึ่ง บริษัทต่างๆ ควรตระหนักอยู่เสมอว่าซอฟต์แวร์เป็นเครื่องมือที่ก่อให้เกิดประสิทธิผลในการผลิต และประโยชน์ที่ได้รับจากการใช้ซอฟต์แวร์ที่มีลิขสิทธิ์ก็มีอยู่มากมาย เช่น บริการหลังการขาย และค่าอัพเกรดที่ถูกกว่า นอกจากนี้ค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่จ่ายเป็นค่าซอฟต์แวร์ก็จะถูกนำไปใช้ในการพัฒนาปรับปรุงซอฟต์แวร์ให้ดีขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในทางกลับกันซอฟต์แวร์เถื่อนไม่มีบริการหลังการขายและการรับประกัน ซึ่งเป็นปัจจัยที่จำเป็นสำหรับการดูแลรักษาระบบโครงสร้างด้านไอทีให้มีประสิทธิภาพอยู่เสมอ ยิ่งกว่านั้น การใช้ซอฟต์แวร์เถื่อนจะทำให้ธุรกิจและเครือข่ายอาจได้รับความเสียหาย เนื่องจากความล้มเหลวของระบบ หรือการโจมตีของไวรัสคอมพิวเตอร์"

มร. เซลวาสกาเรม กล่าวขอบคุณรัฐบาลไทยและ สศก. ที่ให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องในการปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในประเทศไทย ซึ่งนับเป็นอุปสรรคสำคัญประการหนึ่งที่ขัดขวางการพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ภายในประเทศ

ข้อมูลเกี่ยวกับบีเอสเอ

กลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ (บีเอสเอ) เป็นตัวแทนของนักพัฒนาซอฟต์แวร์ชั้นนำของโลกในการปกป้องและสนับสนุนอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ทั่วโลก บีเอสเอได้จัดกิจกรรมเพื่อให้การอบรมแก่ผู้ใช้คอมพิวเตอร์ถึงปัญหาที่เป็นผลกระทบต่ออุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ส่งเสริมโอกาสทางการค้าผ่านทางนโยบายของภาครัฐและดำเนินการทางกฎหมายเพื่อคุ้มครองลิขสิทธิ์ของสมาชิกของบีเอสเอ สมาชิกของบีเอสเอเป็นผู้นำด้านการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศทั้งในระดับประเทศและทั่วโลก ได้แก่ แอ็คแทร็ก21 (AccTrak21), อะโดบี, แอปเปิล, ออโต้เดสก์, เบนท์เลย์ ซิสเต็มส์, ซีเอ็นซี ซอฟต์แวร์ อิงค์, คอเรล คอร์ปอเรชั่น, อินไพรส์, โลตัส ดีเวลลอปเมนท์, แม็คโครมีเดีย, ไมโครซอฟท์, เน็ตเวิร์ค แอสโซเอทส์, โนเวลล์,

ไซแมนเท็ค และวิสซิโอเป็นต้น ส่วนที่ปรึกษาทางด้านนโยบายของบีเอสเอประกอบด้วยบริษัทต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้นรวมถึง คอมแพค, ไอบีเอ็ม, อินเทล, อินทูวิท และไซเบสด้วย

นอกจากนี้ บีเอสเอยังมีสมาชิกและได้สร้างความสัมพันธ์อันดีกับสมาคมซอฟต์แวร์และบริษัทซอฟต์แวร์ต่างๆ ที่อยู่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคด้วย สำหรับในประเทศไทยบีเอสเอได้ร่วมมือกับสมาคมธุรกิจคอมพิวเตอร์ไทย และสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ หมายเลขโทรศัพท์บีเอสเอฮอตไลน์ 0 2971 4140

ติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

คุณปราณี เฉลิมธนศักดิ์

บริษัทพีซี แอนด์ แอสโซซิเอทส์ คอนซัลติ้ง จำกัด

โทรศัพท์: 0 2971 3711 โทรสาร: 0 2521 9030

อีเมล์: [email protected]

เยี่ยมชม Website BSA ได้ที่ www.bsa.org-- จบ--

-ศน-