สกว. แนะตั้งหน่วยนโยบาย/ยุทธศาสตร์การวิจัยเพื่องานวิจัยไทยสอดคล้องเชื่อมโยงทั้งระบบ

26 Sep 2002

กรุงเทพฯ--26 ก.ย.--สกว.

ชี้ระบบวิจัยไทยไม่สนองตอบต่อการพัฒนาประเทศ เหตุโครงสร้างงานวิจัยไทยเป็นแบบต่างคนต่างทำ ขาดความเชื่อมโยง แนะปรับโครงสร้างวิจัยไทยใหม่ ตั้ง”หน่วยนโยบายและยุทธศาสตร์การวิจัย” ทำหน้าที่กำกับนโยบายวิจัยของแต่ละกระทรวงเพื่อให้งานวิจัยไทยสอดคล้องกันทั้งในระดับรากหญ้าและระดับประเทศ พร้อมปรับงบวิจัยเป็นเงินอุดหนุนเพื่อให้เกิดความคล่องตัวและทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก

(สามารถดาวน์โหลดเนื้อหาข่าวนี้ได้ที่ http://pr.trf.or.th)

ดร. สีลาภรณ์ บัวสาย ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) หนึ่งในคณะทำงานโครงการพัฒนาระบบวิจัยของประเทศ กล่าวตอนหนึ่งในการประชุมเรื่อง “การปรับระบบงบประมาณและการเงินเพื่อการวิจัยของประเทศ” ซึ่งสนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ(มสช.) และทบวงมหาวิทยาลัย เมื่อเร็วๆนี้ว่า หลักการในการจัดโครงสร้างระบบการสนับสนุนการวิจัยของไทยในอนาคตควรเป็นระบบที่ตอบสนองต่อแนวทางการพัฒนาประเทศ และทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งมีกลไกที่เชื่อมโยงกันในหลายสาขา ตรวจสอบได้ และเป็นระบบที่มีการเรียนรู้และปรับตัวได้เร็ว

ทั้งนี้โครงสร้างและระบบการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาของไทยในปัจจุบัน ขาด ”หน่วยคิด” ที่จะทำหน้าที่เป็นสมองในการกำหนดยุทธศาสตร์การวิจัยทั้งในระดับกระทรวง และในระดับชาติที่เชื่อมโยงภาพรวมของทุกกระทรวง ทำให้การกำหนดนโยบายการวิจัยขาดความเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน ทำให้ผู้ใช้ผลประโยชน์จากงานวิจัยไม่ได้รับประโยชน์ตรงตามความต้องการ

“ทั้งนี้หากจะมีการปรับฐานการวิจัยใหม่จะต้องให้ผู้ใช้ผลงานวิจัยกำหนดยุทธศาสตร์โจทย์วิจัยร่วมกันเพื่อให้งานวิจัยที่จะเกิดขึ้นในอนาคจตอบโจทย์การพัฒนาประเทศได้ ซึ่งจากการศึกษางานวิจัยของต่างประเทศพบว่าในต่างประเทศจะมีหน่วยนโยบายวิจัยที่ดูภาพรวมนโยบายในแต่ละสาขา โดยกระทรวงต่างๆ จะทำหน้าที่ในการจัดสรรงบประมาณของกระทรวงเพื่อการวิจัยตามนโยบายของสาขาของตน ไปยังแหล่งทุนต่างๆ และแหล่งทุนเหล่านี้จะทำหน้าที่สนับสนุนมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัยต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนให้ทำวิจัย ซึ่งวิธีการนี้จะสามารถประเมินความคุ้มค่าของการวิจัยในภาพรวมได้

ดร. สีลาภรณ์ กล่าวว่า สำหรับข้อเสนอโครงสร้างใหม่สำหรับการสนับสนุนการวิจัย จะแบ่งเป็น 4 ระดับ คือ ระดับแรก เป็นหน่วยงานที่ดูแลนโยบายวิจัยและยุทธศาสตร์การวิจัยของประเทศ โดยหน่วยนี้จะสร้างความเชื่อมโยงระหว่างความต้องการกับผลงานวิจัย ระดับที่สองคือ กระทรวงต่างๆ ซึ่งจะจัดสรรงบประมาณเพื่อการวิจัยในสาขาของตนให้กับแหล่งทุนต่างๆ ที่มีอยู่ ระดับที่สาม หน่วยบริหารจัดการทุนวิจัยต่างๆ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ สกว. สวทช. สวรส. ที่ทำหน้าที่จัดสรรเงินวิจัยไปให้หน่วยงานในระดับสุดท้ายคือมหาวิทยาลัย และสถาบันวิจัยต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อทำวิจัย

ส่วนข้อเสนอแนวทางในการจัดระบบการจัดสรรงบวิจัย คือ 1.เปลี่ยนงบวิจัยทั้งหมดเป็นเงินหมวดอุดหนุน เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการทำวิจัย 2. หนุนให้เกิดหน่วยนโยบายวิจัยในระดับกระทรวงเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์วิจัยที่ตอบสนองงานของกระทรวง 3.จัดความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานระดับต่างๆ เป็นแบบพันธะสัญญาเพื่อให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และ4. ต้องพัฒนาระบบตรวจสอบและประเมินผลซึ่งนอกจากจะประเมินการบริหารจัดการทุนวิจัยแล้ว ยังต้องมีการประเมินนโยบายวิจัยและผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศด้วย

ดร. สีลาภรณ์ กล่าวต่อว่า สำหรับแนวทางการจัดโครงสร้างกลไกของระบบวิจัยนั้นหากจะเร่งดำเนินการปรับโครงสร้างในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้หรือในปีงบประมาณถัดไป อาจต้องสร้างกลไกการประเมินผลนโยบายวิจัย เพื่อประเมินประสิทธิผลของการใช้เงินวิจัยในแต่ละสาขา รวมทั้งแผนระยะสั้นในการจัดตั้งหน่วยนโยบายและยุทธศาสตร์การวิจัย พร้อมไปกับการปรับลดงบประมาณวิจัยที่ให้ตรงไปยังกระทรวงต่างๆ โดยนำงบประมาณส่วนนี้ไปให้ หน่วยบริหารจัดการทุนวิจัยต่างๆ เป็นผู้บริหารโดยทำสัญญาจ้างทำวิจัยกับหน่วยทำวิจัยต่างๆ ทั้งในภาครัฐ เอกชน และสถาบันวิชาการ อย่างไรก็ตามข้อเสนอต่อแนวทางการปรับระบบงบประมาณและการเงินเพื่อการวิจัยภายใต้การปฏิรูประบบราชการไทยนี้เป็นเพียงข้อเสนอเบื้องต้นเท่านั้น ยังต้องมีการระดมความคิดเห็นจากหลายๆฝ่ายเพื่อหาบทสรุปที่ลงตัวและเหมาะสมสำหรับประเทศไทยต่อไป--จบ-- -ศน-

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit