กรุงเทพฯ--27 ก.ย.--สพช.
นายพิทักษ์ อินทรวิทยนันท์ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมหนุน สพช. แก้ปัญหาน้ำมันหล่อลื่นใช้แล้ว ขจัดปัญหาสิ่งแวดล้อมและน้ำมันหล่อลื่นคุณภาพต่ำ ให้ สพช. เตรียมแผนรับซื้อน้ำมันหล่อลื่นใช้แล้ว นำมาใช้เป็นพลังงานทดแทนปีละ 300 ล้านลิตร ลดการนำเข้าน้ำมัน 1,500 ล้านบาทต่อปี โดยใช้เงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานปีละ 300 ล้านบาท
นายพิทักษ์ อินทรวิทยนันท์ รองนายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เปิดเผยว่า ได้ให้ สพช. ศึกษาถึงแนวทางในการแก้ปัญหาน้ำมันหล่อลื่นใช้แล้ว และน้ำมันพืชใช้แล้ว เพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและน้ำมันหล่อลื่นคุณภาพต่ำ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุอย่างเป็นระบบ และนำมาใช้ประโยชน์เป็นพลังงานได้อีกด้วย โดยพร้อมที่จะสนับสนุนให้ สพช. ดำเนินโครงการจัดเก็บน้ำมันหล่อลื่นใช้แล้วและน้ำมันพืชใช้แล้ว ซึ่งสามารถลดการนำเข้าน้ำมันได้ปีละกว่า 300 ล้านลิตร หรือประมาณ 1,500 ล้านบาท
รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ในปีหนึ่งๆ มีน้ำมันหล่อลื่นที่ใช้แล้วประมาณ 300 ล้านลิตร ที่เกิดจากการใช้รถยนต์ รถจักรยานยนต์ เครื่องจักรอุตสาหกรรม เรือประมง และเรือขนส่งสินค้า ซึ่งที่ผ่านมาขาดระบบการจัดเก็บและจัดการอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการอย่างเป็นระบบ ก่อให้เกิดปัญหาทิ้งน้ำมันหล่อลื่นทำลายสิ่งแวดล้อม และสะสมอยู่ในดิน แหล่งน้ำ รวมถึงทะเล ทั้งนี้เพราะมีเรือประมงในน่านน้ำไทยประมาณ 10,000 ลำ และเรือสินค้าระหว่างประเทศที่มารับส่งสินค้าในประเทศไทย ล้วนปล่อยน้ำมันหล่อลื่นที่ใช้แล้วทิ้งลงสู่อ่าวไทยทั้งสิ้น นอกจากนี้ยังมีปัญหาน้ำมันหล่อลื่นคุณภาพต่ำสำหรับรถจักรยานยนต์ ที่วางขายอยู่ในต่างจังหวัดอย่างแพร่หลาย ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาโดยตรงต่อผู้ใช้ โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรในชนบทนับล้านๆ คน ที่นำไปใช้กับเครื่องจักรกลการเกษตรและรถจักรยานยนต์
"ได้ให้ สพช. ศึกษาหาแนวทางในการจัดเก็บน้ำมันหล่อลื่นใช้แล้วอย่างถูกต้องเป็นระบบ และถูกต้องตามหลักวิชาการ โดยใช้กลไกตลาดและการอุดหนุนจากกองทุนเพื่อการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานในระยะแรก เพื่อให้สามารถจัดการปัญหาเป็นไปอย่างรวดเร็ว" รองนายกรัฐมนตรีกล่าว
นายพิทักษ์ยังกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ได้มีนโยบายให้ สพช. ศึกษาในการจัดการน้ำมันพืชใช้แล้ว ซึ่งหากนำไปใช้ซ้ำก็จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ จากกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารที่ใช้น้ำมันทอด กลุ่มร้านอาหารและภัตตาคารขนาดใหญ่ รวมทั้งร้าน Fast Food ต่าง ๆ ซึ่งมีปริมาณการใช้น้ำมันพืชรวมประมาณปีละ 365 ล้านลิตร โดยในปัจจุบันน้ำมันพืชใช้แล้วมีราคาประมาณลิตรละ 10-12 บาท มีการนำน้ำมันพืชใช้แล้วไปบริโภคซ้ำอย่างกว้างขวางในตลาดมืด ทั้งในระดับอุตสาหกรรมอาหารขนาดใหญ่ เช่นอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ และอุตสาหกรรมอาหารขนาดเล็ก เช่น ร้านขายอาหารจำพวกทอด เป็นต้น
"ขณะนี้ สพช. ได้สนับสนุนการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการนำน้ำมันพืชใช้แล้วมาผลิตเป็นเอสเทอร์และผลิตเป็นไบโอดีเซลเพื่อใช้ทดแทนน้ำมันดีเซล ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับกระบวนการผลิตเอสเทอร์จากน้ำมันพืชใช้แล้ว และการทดสอบถึงองค์ประกอบและคุณสมบัติของเอสเทอร์ที่ได้ รวมถึงการศึกษาถึงคุณสมบัติของน้ำมันพืชใช้แล้วว่าชนิดใดมีความเหมาะสมที่จะสามารถนำมาผลิตเป็นเอสเทอร์ได้ พร้อมทั้งการดำเนินการทดสอบการนำเอสเทอร์ที่ผลิตได้ไปใช้กับเครื่องยนต์ดีเซล ซึ่งคาดว่าประมาณปลายปี 2545 นี้ การดำเนินงานของทั้ง 2 โครงการจะเริ่มดำเนินการได้" รองนายกรัฐมนตรีกล่าวด้านนายเมตตา บันเทิงสุข รองเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ กล่าวว่าปัญหาน้ำมันหล่อลื่นคุณภาพต่ำจะยังไม่หมดไป หากระบบการจัดการน้ำมันหล่อลื่นใช้แล้วอย่างถูกต้องและเป็นระบบยังไม่เกิดขึ้น ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีระบบจัดเก็บเหมือนในต่างประเทศที่ใช้หลักการ "ผู้ใช้เป็นผู้จ่าย" ซึ่งจากผลการศึกษาพบว่าวิธีที่ดีที่สุดในการใช้ประโยชน์จากน้ำมันหล่อลื่นใช้แล้ว ได้แก่การนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในอุตสาหกรรมผลิตปูนซีเมนต์ เนื่องจากสามารถกำจัดสารเคมีที่เป็นส่วนผสมในน้ำมันหล่อลื่นที่เป็นมลพิษได้หมดจด
"สพช. จะใช้กลยุทธ์เป็น 2 ขั้นตอน คือ ในขั้นตอนที่ 1 จะใช้แนวทางการอุดหนุนจากรัฐ เพื่อ ส่งเสริมให้เกิดธุรกิจจัดเก็บน้ำมันหล่อลื่นที่ได้มาตรฐานรับรองจากรัฐ โดยจะขอรับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานประมาณปีละประมาณ 300 ล้านบาท เพื่อนำไปอุดหนุน การรับซื้อน้ำมันหล่อลื่นใช้แล้วออกมาจากระบบ โดยผู้จัดเก็บที่ได้รับการแต่งตั้ง ซึ่งจะสามารถป้องกันการนำไปทำน้ำมันหล่อลื่นคุณภาพต่ำมาขาย แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม และสามารถนำมาใช้เป็นพลังงานทดแทนได้ด้วย และในขั้นตอนที่ 2 เมื่อสามารถส่งเสริมให้มีผู้จัดเก็บน้ำมันหล่อลื่นได้อย่างเป็นระบบและเป็นไปตามกลไกตลาดแล้ว ก็จะผลักดันให้รัฐจัดระบบตลาดน้ำมันหล่อลื่น รวมทั้งอาจมีการแก้ไขกฎระเบียบ โดยใช้หลักผู้ก่อให้เกิดมลพิษเป็นผู้จ่าย (Polluter Pays Principle) ด้วยการเพิ่มค่าการตลาดให้ผู้ขายน้ำมันหล่อลื่นต้นทาง ซึ่งผู้ใช้จะต้องเป็นผู้รับภาระค่าการตลาดที่เพิ่มขึ้น และผู้ขายน้ำมันหล่อลื่นจะต้องส่งผ่านค่าการตลาดไปให้ผู้จัดเก็บน้ำมันหล่อลื่นใช้แล้ว เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดการน้ำมันหล่อลื่นใช้แล้วที่ถูกวิธี ซึ่งสุดท้ายแล้วการจัดการน้ำมันหล่อลื่นใช้แล้วจะถูกจัดการโดยเชิงพาณิชย์" รองเลขาธิการ สพช. กล่าว--จบ-- -ศน-
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit