มติครม.พิจารณาให้ร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันโรคหัวใจราชวิถี (องค์การมหาชน)

18 Sep 2002

กรุงเทพฯ--18 ก.ย.--สำนักโฆษกฯ

คณะรัฐมนตรีพิจารณาร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันโรคหัวใจราชวิถี (องค์การมหาชน) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ แล้วมีมติตามมติคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 4 ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี (นายปองพล อดิเรกสาร) เป็นประธานกรรมการฯ ดังนี้

1. อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันโรคหัวใจราชวิถี (องค์การมหาชน) พ.ศ. …. ที่ได้แก้ไขปรับปรุงตามมติที่ประชุมส่วนราชการที่เกี่ยวข้องแล้ว ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้

2. ให้กระทรวงสาธารณสุขและสำนักงาน ก.พ. รับประเด็นอภิปรายไปพิจารณา

ประเด็นอภิปรายของคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีเห็นว่า ในปัจจุบันยังมีหน่วยงานหรือโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขที่ดำเนินการรักษาโรคหัวใจอีกหลายแห่ง เช่น โรงพยาบาลโรคทรวงอก โรงพยาบาลเด็ก หรือโรงพยาบาลในต่างจังหวัด เป็นต้น ดังนั้น หากจะกำหนดให้ส่วนงานที่ดำเนินการรักษาโรคหัวใจในหน่วยงานหรือโรงพยาบาลดังกล่าว ออกจากระบบราชการมาสังกัดสถาบันโรคหัวใจราชวิถี เพื่อจะทำให้การบริหารจัดการหรือการให้บริการในเรื่องนี้ ได้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและเป็นประโยชน์แก่ประชาชนโดยส่วนรวม จะเป็นการเหมาะสมเพียงใดหรือไม่ ควรให้กระทรวงสาธารณสุขและสำนักงาน ก.พ. รับเรื่องนี้ไปพิจารณาโดยเร็ว

ร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว มีสาระสำคัญ ดังนี้

1. ให้จัดตั้งองค์การมหาชนขึ้นเรียกว่า "สถาบันโรคหัวใจราชวิถี (องค์การมหาชน) มีชื่อย่อว่า ส.ห.ร.ให้สถาบันมีสำนักงานแห่งใหญ่ในกรุงเทพมหานครหรือจังหวัดใกล้เคียง โดยให้มีวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด

2. ทุนและทรัพย์สินของสถาบัน ประกอบด้วยเงินหรือทรัพย์สินที่ได้รับโอนมาตามมาตรา 42 เงินหรือทรัพย์สินที่รัฐบาลจ่ายให้เป็นทุนประเดิม หรือเงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรให้ตามความเหมาะสมเป็นรายปี และรายได้อื่น ๆ

3. รายได้ของสถาบันไม่เป็นรายได้ที่ต้องนำส่งกระทรวงการคลัง แต่ต้องนำฝากกระทรวงการคลัง หากจะนำฝากธนาคารพาณิชย์ต้องได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง และอสังหาริมทรัพย์ซึ่งสถาบันได้มาจากการให้หรือซื้อด้วยเงินรายได้ของสถาบัน ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของสถาบัน

4. ให้มีคณะกรรมการ เรียกว่า "คณะกรรมการบริหารสถาบันโรคหัวใจราชวิถี" ประกอบด้วยกรรมการโดยตำแหน่ง จำนวน 5 คน กรรมการผู้แทนองค์กรวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับงานด้านโรคหัวใจ จำนวน 1 คน ผู้แทนองค์กรเอกชนที่สนับสนุนงานด้านโรคหัวใจ จำนวน 1 คน และผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 3 คน ผู้อำนวยการสถาบันเป็นกรรมการและเลขานุการ สำหรับการจัดสรรหากรรมการผู้แทนองค์กรวิชาชีพ องค์กรเอกชน และผู้ทรงคุณวุฒิให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด และให้รัฐมนตรีเป็นผู้แต่งตั้ง

5. ให้ประธานกรรมการ กรรมการที่ปรึกษา และอนุกรรมการได้รับเบี้ยประชุมหรือประโยชน์ตอบแทนอื่นตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

6. ให้สถาบันมีผู้อำนวยการเป็นผู้บริหาร ซึ่งคณะกรรมการเป็นผู้มีอำนาจสรรหา แต่งตั้ง และถอดถอน

7. ผู้ปฏิบัติงานในสถาบันมี 4 ประเภท คือ เจ้าหน้าที่ ลูกจ้าง ที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญ และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มาปฏิบัติงานเป็นการชั่วคราว

8. การบัญชี การตรวจสอบ และการประเมินผลงานของสถาบันให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

9. ให้รัฐมนตรีมีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลการดำเนินกิจการของสถาบันให้เป็นไปตามกฎหมาย และให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งสถาบัน นโยบายของรัฐบาล และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวกับสถาบัน

10. เมื่อพระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ ให้รัฐมนตรีเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติให้มีการโอนทรัพย์สินบางส่วนของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ตามที่รัฐมนตรีเห็นสมควรไปเป็นของสถาบัน และในวันที่คณะรัฐมนตรีให้มีการโอนทรัพย์สินบางส่วนของโรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ไปเป็นของสถาบัน ให้งานศัลยกรรมหัวใจ ทรวงอก และหลอดเลือด กลุ่มงานศัลยกรรม โรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขเป็นอันยุบเลิก--จบ-- -สส-